ลิขสิทธิ์ และ กฎหมายกับ AI
AI วาดรูปที่เคยเป็นที่ฮือฮามาก ๆ ในช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้ง Dall-E2, Midjourney จนตอนนี้ ผ่านมาแค่ครึ่งปี แต่ AI วาดรูปก็กลายเป็นเรื่องปกติไปที่เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ใช้ บางคนก็เอาไปใช้เป็นรูปประกอบ บางคนเอารูปนั้นไปขาย บางที่ก็ฝึกให้ AI เรียนรู้สไตล์ภาพของศิลปิน แล้วสร้างภาพใหม่ในสไตล์นั้นขึ้นมา แต่ เอ๊ะ…แล้วแบบนี้ มันจะเรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือผิดกฎหมายไหม?
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีรายงานข่าวจากต่างประเทศว่า มีศิลปิน 3 คนรวมตัวกันยื่นฟ้อง Midjourney และ Stable Diffusion เอไอวาดรูปที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ข้อหาละเมิดสิทธิ์ของ “ศิลปินหลายล้านคน” ด้วยการเอารูปของพวกเขาไปเทรน AI แต่คดียังไม่จบนะคะ
1/ As I learned more about how the deeply exploitative AI media models practices I realized there was no legal precedent to set this right. Let’s change that.
Read more about our class action lawsuit, including how to contact the firm here: https://t.co/yvX4YZMfrG
— Karla Ortiz (@kortizart) January 15, 2023
ซึ่ง AI สร้างภาพนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ของ Generative AI ซึ่งจริงๆ แล้ว Generative AI ก็ทำอะไรได้อีกเยอะมาก เช่น สร้างเสียงคน สร้างเสียงดนตรี สร้างวีดีโอ สร้างบทความ ซึ่งการทำงานของเค้าจะแบ่งเป็นใหญ่ๆ แบบคร่าว ๆ 3 ส่วน
ส่วนที่1 ข้อมูล
การนำข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ เสียง text จำนวนมาก ยิ่งมาเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
ส่วนที่2 การเทรน หรือสอน
หลังจากเตรียมข้อมูลแล้วก็จะใช้มันเพื่อนำมาเทรน หรือสอน คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างเป็นโมเดล AI ขึ้นมา โดยโมเดล AI นี้ก็คือโค้ด เป็นผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์งานใหม่ๆออกมาจากการเรียนรู้ข้อมูลเหล่านั้น
ส่วนที่3 Output
หลังจากได้โมเดลแล้ว เราก็สามารถป้อนคำสั่งลงไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ กลายเป็น output เช่น ภาพ วิดีโอ เสียง หรือข้อความ
กฎหมาย กับ AI
พอใช้ AI สร้างผลงาน มันเลยมีประเด็นตรงที่ ใครคือเจ้าของผลงาน เรา, AI หรือ บริษัทเจ้าของ AI อีกมุมนึงก็คือ ภาพ เสียง หรืองานที่ถูกเอามาใช้สอน AI จนสร้างงานออกมาได้อย่างกับศิลปินคนนั้นๆ แล้วแบบนี้มันจะผิดลิขสิทธิ์มั้ย? แล้วยังมีสารพัดข้อสงสัยเรื่องกฎหมาย กับ AI อีก งั้นเราไปหาคำตอบกัน
ผลงานจาก AI มีลิขสิทธิ์มั้ย? แล้วเป็นของใคร?
ก่อนอื่นต้องเริ่มจาก User journey ก่อน เวลาเราเข้าไปใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เราต้องเป็น sign up และตอบรับ User agreement ก่อน ซึ่งก็คือสัญญาแบบหนึ่ง มีคุณสมบัติเหมือนสัญญากระดาษ ซึ่งมันจะบอกเลยว่าคุณควรจะใช้งานแพลตฟอร์มไหนได้บ้าง อะไรคือสิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้ รวมไปถึงความเป็นเจ้าของของผลงานก็อาจจะรวมอยู่ในนี้ด้วย อย่าง Midjourney งานที่เกิดขึ้น ให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใช้งาน หรือ User agreement ก็อาจจะระบุก็ได้ว่าลิขสิทธิ์ของแพลตฟอร์ม แล้วแค่รายละเอียดภายใน
ถ้าสมมุติว่าไม่มีการ agreement แล้วสิทธิ์ของงานนั้น ๆ จะเป็นของใครล่ะ?
กรณีนี้ค่อนข้างซับซ้อน ต้องย้อนกลับไปดูหัวใจของกฎหมาย ต้องดูมีใครเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งกรณีนี้คนที่เกี่ยวข้องคือ AI ซึ่ง AI ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่นิติบุคคล กฎหมายส่วนใหญ่ หรือประเทศส่วนใหญ่เลยมองว่า AI เป็นเครื่องมือเหมือนเป็นดินสอ หรืออะไรมาขีดเขียน คนที่ใช้เครื่องมือวาดรูปจึงเป็นเจ้าของผลงานนั้น
ผลงานจาก AI เป็นของผู้สร้างทั้งหมด 100% มั้ย?
ตอบไม่ได้ว่า 100% มั้ย เพราะเราก็ต้องกลับมาดูเรื่องการคุ้มครองของด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งเราก็ต้องถามว่างานที่เราใช้ AI สร้างขึ้นมามีการลอกเลียนแบบ หรือไปเอางานของคนอื่นมาเทรน AI โดยที่เค้าไม่อนุญาตมั้ย ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็จะไม่คุ้มครอง
แต่สำหรับคนใช้ เรื่องนี้อาจจเป็นปลายทางที่ผู้ใช้ไม่รู้ สิ่งที่เราเห็นตรงหน้า คือ โมเดลเอไอ หรือบริการ ที่เราไม่รู้ว่ามีงานของใครถูกเอามาเทรนบ้าง ซึ่งถ้างานที่เอามาเทรน AI เป็นงานที่หาได้ตามอินเทอร์เน็ต ก็อาจเป็นไปได้ว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะงานส่วนใหญ่ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเช่น รูปภาพ จะมีที่มีลิขสิทธิ์ ถ้าเราจะเอามาใช้ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน หรือไม่ เราก็ต้องไปเสิร์ชรูปที่ไม่มีลิขสิทธิ์
และถึงจะอ้างว่า โมเดลเป็นซอสโค้ด ไม่ใช่ผลงาน แต่แค่เราบันทึกเข้ามาในเครื่อง ก็ถือว่าเป็นการทำซํ้า ซึ่งผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว
ถ้ามีคนเอาเสียงของเราไปเทรน AI จะละเมิดลิขสิทธิ์มั้ย?
Vall-E คือ Generative AI ที่สามารถสร้างเสียงให้พูดอะไรก็ได้ ด้วยเสียงต้นฉบับแค่ 3 วินาที ซึ่งเสียงที่ถูกนำไปเป็นต้นฉบับอาจจะเป็นผู้มีชื่อเสียง ดารา คนดัง หรือเป็นนักพากย์ก็ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้นักพากษ์ หรือคนที่ขายเสียงตกงาน ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองลักษณะของการแสดงออกมา เสียงเกิดขึ้นจากกล่องเสียงธรรมชาติ อาจจะมีการทำเสียงขึ้นเสียงลงบ้าง แต่ว่ายังไม่เป็นลักษณะของงานสร้างสรรค์ดังนั้นก็เลยยังไม่คุ้มครองโดยลิขสิทธิ์.
สิ่งเจ้าของเสียงอาจจะพอทำได้คือ สัญญาต่าง ๆ เช่น การเอาเสียงไปใช้ ใช้เสียงอย่างไรบ้าง การเผยแพร่ทำอย่างไร ทำอย่างไรให้มันไม่กระจายออกไป
กรณีที่เสียงเราถูกเอาไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต
การเอาเสียงที่อยู่ตามอินเทอร์เน็ต ไปใช้โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของเสียงก่อน ยังคงเป็นช่องว่างของกฎหมาย เพราะว่าไม่เคยมีใครคิดว่าน้ำเสียงจะมีค่า หรือน้ำเสียงเป็นอะไรที่คนอยากดึงไปใช้ แล้วก็ใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ ได้ แต่ถ้าเกิดการนำไปใช้จนเจ้าของเสียงเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเสียหายต่อบุคคลอื่น หรือเสียหายต่อเจ้าของเสียงเอง ก็อาจจะเป็นการละเมิดกฎหมาย และสามารถฟ้องเป็นคดีละเมิดได้
เอาภาพ “ศิลปะ” จากอินเทอร์เน็ตไปสอน AI ได้มั้ย?
ภาพ หรืองานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่แม้ว่าจะอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่มันก็มีเจ้าของ ก่อนที่เราจะนำมาใช้ เราต้องขออนุญาตคนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์เสียก่อน ถึงแม้ว่าผู้ใช้งาน AI จะไม่รู้เรื่อง แต่การสร้างโมเดลมาอย่างละเมิดลิขสิทธิ์ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน โดยจะถือว่าเป็นการละเมิดโดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ใช้นำภาพไปใช้เผยแพร่ ขายเพื่อได้รับประโยชน์เชิงพาณิชย์.
เอาภาพ “คน” จากอินเทอร์เน็ตไปสอน AI ได้มั้ย?
กรณีที่1 เราใช้เราของตัวเราเองไปเทรน AI ซึ่งเราอาจกังวลว่า แอปพลิเคชันจะเอารูปของเราไปทำอะไรต่อมั้ย เรื่องนี้ต้องไปดูที่ User Agreement ว่าเราอนุญาตแอปพลิเคชันนั้น ๆ ใช้รูปของเราไปทำอะไรได้บ้าง
กรณีที่2 มีคนเอารูปของเราบน Facebook หรือ Instagram ไปใช้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยการทำซ้ำก็เท่ากับว่าเราละเมิดลิขสิทธิ์ หรือในกรณีของการเอารูปไปเทรน AI ไม่ได้ใช้ตรง ๆ ก็เข้าข่ายผิดเช่นกันถึงจะมองว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจากการเทรนเป็นโค้ด ไม่ใช่สิ่งเดิมแล้ว แต่ว่าระหว่างการเทรน ก็มีการเอาภาพไปใช้เช่น บันทึกเข้าไปในเครื่องเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการทำซ้ำ และก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว
กรณีที่3 ใช้รูปบุคคลที่มีชื่อเสียงไปเทรน AI ก็เข้าข่ายมีความผิดเหมือนกัน ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ภาพของเขาก็มีเจ้าของ และตัวบุคคลนั้นเองก็อาจ เรียกร้องสิทธิ์ในเรื่องของภาพลักษณ์ ถ้าภาพนั้นสร้างความเสียหาย
กฎหมายควบคุม AI
กฎหมายมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ อาจจะมีหลายจุดมีช่องโหว่ นั้นก็เพราะว่า AI เป็นของใหม่ ก่อนหน้านี้คนอาจจะยังไม่ได้ตื่นตัวกันเท่าไหร่ แต่พอเราเห็นว่า Generative AI ทำอะไรได้บ้าง คนก็ตื่นตัวกันมากขึ้น อย่างในยุโรปก็เริ่มมีกฎหมายออกมาควบคุม บังคับเกี่ยวกับเรื่อง AI ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการร่าง โดยมีเจตนารมณ์สำคัญก็คือ เขามองว่า AI ควรจะปลอดภัย เข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
กฎหมายควบคุม AI ในไทย
สำหรับประเทศไทย เราเคยมีแนวทางต่าง ๆ ส่วนเรื่องของตัวกฎหมาย คงต้องตามยุโรปคล้ายกรณีของ PDPA เราที่ตาม GDPR ซึ่งการออกกฎหมายควรจะต้องเอาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมาคุยกัน ไม่ใช่แค่นักกฎหมายหรือนักบริหารที่เกี่ยวข้อง
————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไอที 24 ชั่วโมง / วันที่เผยแพร่ 13 ก.ค.66
Link : https://www.it24hrs.com/2023/law-and-ai/