เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สะพานเคียร์ช เชื่อมระหว่างรัสเซียแผ่นดินใหญ่กับคาบสมุทรไครเมีย โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทางการรัสเซียได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว
มีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สะพานเคียร์ช ซึ่งเชื่อมระหว่างรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียผนวกไปในปี 2014 โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดดังกล่าว 2 ราย
โดยเซอร์เก อัคโซนอฟ ผู้ว่าการแคว้นไครเมียที่แต่งตั้งโดยรัสเซียได้ระบุข้อความผ่านเทเลแกรมช่วงเช้ามืดตามเวลาท้องถิ่นว่า เกิดเหตุฉุกเฉินบริเวณเสาที่ 145 ของสะพานเคียร์ชจากทางฝั่งแคว้นครัสโนดาร์ในรัสเซีย และขอให้ประชาชนที่ใช้รถเลือกใช้เส้นทางอื่นในการสัญจรระหว่างแคว้นครัสโนดาร์และคาบสมุทรไครเมียแทน
ขณะที่กระทรวงคมนาคมรัสเซียระบุว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นที่ถนนบนสะพานฝั่งที่ใกล้กับคาบสมุทรไครเมีย แต่ไม่พบว่าเกิดความเสียหายที่เสา ส่วนสำนักข่าว RBC ของยูเครนรายงานว่า ได้ยินเสียงระเบิดบริเวณสะพานเคียร์ชเช่นกัน
ในด้านความสูญเสียที่เกิดขึ้น ล่าสุดมีรายงานว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากเหตุระเบิดดังกล่าว 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย ซึ่งเป็นเด็ก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าแรงระเบิดเกิดจากอะไร หรืออะไรคือสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบโดยฝ่ายรัสเซีย แต่ในข้อความของผู้ว่าการแคว้นไครเมียและกระทรวงคมนาคมรัสเซียไม่ได้ระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นการโจมตี
ทั้งนี้สะพานเคียร์ชถูกโจมตีจนเสียหายหนัก 8 ตุลาคม 2022 แรงสั่นสะเทือนได้ส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง รวมถึงถนน และระบบรถรางของสะพาน จนต้องมีการปิดการใช้งานอยู่หลายเดือน
ในคราวนั้นประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียออกมากล่าวหาว่ายูเครนคือผู้ที่ยิงขีปนาวุธโจมตีสะพานแห่งนี้และตอบโต้กลับด้วยการโจมตีกรุงเคียฟของยูเครนอย่างหนักในวันถัดมา การโจมตีสะพานแห่งนี้ถือว่าเป็นการลูบคมผู้นำรัสเซีย เพราะไม่เพียงแค่เป็นสะพานที่มีความสำคัญต่อการขนส่งกำลังบำรุงสำหรับการทำสงครามของรัสเซีย แต่ยังคือสัญญลักษณ์ของการผนวกดินแดน
ทั้งนี้สะพานเคียร์ชมีความยาว 18.1 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้นโดยรัสเซียเมื่อปี 2018 หรือ 4 ปีหลังจากรัสเซียผนวกแคว้นไครเมียได้ โดยจุดประสงค์หลักของการสร้างสะพานคือเพื่อเชื่อมช่องแคบไครเมียเข้ากับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย โดยบนสะพานมีทั้งทางสัญจรของรถยนต์ และทางรถไฟ
15 พฤษภาคม 2018 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้เดินทางมาทำพิธีเปิด และขับรถบรรทุกข้ามสะพานนี้เป็นปฐมฤกษ์ด้วยตัวเอง นับแต่นั้นเป็นต้นมา สะพานเคียร์ชแห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นเส้นทางหลักของชาวรัสเซีย ที่เดินทางจากแผ่นดินใหญ่ไปแคว้นไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกผนวกเข้ามาใหม่
การเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น และทำให้ชาวรัสเซียจำนวนมากหลั่งไหลมาที่ไครเมีย ทั้งมาอยู่อาศัยถาวร และมาท่องเที่ยวพักผ่อน นี่คือกลยุทธ์ของประธานาธิบดีปูตินที่ต้องการผนวกรวมไครเมียให้กลมกลืนมากที่สุดทางกายภาพ สะพานนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการผนวกดินแดนที่ประธานาธิบดีปูตินภาคภูมิใจอย่างมาก
หลังจากรัสเซียเปิดสงครามรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สะพานแห่งนี้ก็ถูกใช้ในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ และกำลังพลจากแผ่นดินใหญ่รัสเซียไปยังสนามรบทางตอนใต้ของยูเครน เช่น เคอร์ซอน ซาโปริซเซีย
เมื่อสะพานเสียหายจนต้องปิดการใช้ชั่วคราว รัสเซียจึงอาจต้องใช้วิธีขนส่งกำลังและยุทธโธปกรณ์ทางบกแทน โดยใช้เส้นทางที่เริ่มจากชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย ผ่านภูมิภาคดอนบาส ก่อนเข้าสู่มาริอูปอล และเข้าเคอร์ซอน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวกว่าและเสี่ยงอันตรายจากการถูกฝ่ายยูเครนซุ่มโจมตี
อย่างไรก็ตามเหตุระเบิดสะพานเคียร์ชครั้งล่าสุดเกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการโต้กลับของยูเครนที่เริ่มมีสัญญาณรุกคืบมากขึ้น อีกทั้งเหตุยังเกิดในระหว่างช่วงเวลาที่ข้อตกลวว่าด้ยการขนส่วธัญพืชผ่านทะเลดำหรือ Black Sea Grain Initiative กำลังจะหมดอายุลงในอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เรือขนส่งธัญพืชลำสุดท้ายได้แล่นจากท่าเรือโอเดสซาออกไปยังทะเลดำ มุ่งหน้าไปยังเนเธอร์แลนด์แล้ว
ล่าสุดดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียได้ออกมาแถลงว่ารัสเซียตัดสินใจยุติข้อตกลงดังกล่าวแล้ว หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่สะพานเคียร์ช อย่างไรก็ตาม เพสคอฟระบุว่าเหตุระเบิดที่สะพานเคียร์ชไม่มีความเกี่ยวข้องกับการยุติข้อตกลงของรัสเซีย แต่เป็นเพราะยังไม่บรรลุเงื่อนไขที่รัสเซียต้องการ
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจา ยังคงรอการตอบรับจากรัสเซียว่าจะต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวไปอีกหรือไม่ โดยอันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ออกจดหมายและข้อเสนอไปถึงประธานาธิบดีปูตินตั้งแต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว โดยเสนอว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางประการเพื่อแลกกับการเปิดเส้นทางขนส่งบริเวณทะเลดำ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้ออกมาขู่ว่าจะไม่ต่ออายุข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากยังไม่พอใจเงื่อนไขที่บรรจุไว้ในการเจรจาเพื่อแลกกับการเปิดเส้นทางเดินเรือในทะเลดำ
หลังจากนั้นในวันเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีข่มขู่ของประธานาธิบดีปูตินว่า การไม่ต่ออายุข้อตกลงส่งออกจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่สูงขึ้นและความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังกล่าวว่า อย่างน้อยการต่ออายุข้อตกลงออกไปจะยังคงรักษาระดับราคาธัญพืชไว้ได้ และไม่ช่วยให้ธัญพืชไม่ขาดตลาด
ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำเป็นข้อตกลงที่บรรลุร่วมกันระหว่างองค์การสหประชาชาติ ยูเครน รัสเซีย และตุรกี ไม่ให้สถานการณ์จากสงครามกระทบต่อการเส้นทางส่งออกธัญพืชจากยูเครนไปยังประเทศต่างๆ และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบไปยังราคาธัญพืชในตลาดโลก หลังจากที่มีการใช้ข้อตกลงดังกล่าว ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติชี้ว่า ว่ายูเครนสามารถส่งออกธัญพืชได้ราว 32.8 ล้านเมตริกตัน
อย่างไรก็ดี เหตุระเบิดสะพานเคียร์ชนำมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง สำหรับสถานการณ์สงครามในยูเครน มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับระเบิดลูกปราย หลังจากสหรัฐฯ ประกาศส่งระเบิดลูกปรายให้แก่ยูเครน ซึ่งรวมอยู่ในแผนส่งความช่วยเหลือทางการทหารเมื่อช่วงต้นเดือน
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินออกมาให้สัมภาษณ์ต่อรายการโทรทัศน์ของรัสเซียว่า รัสเซียมีระเบิดลูกปรายสำรองเพียงพอในคลังอาวุธ ผู้นำรัสเซียยังเสริมว่า หากยูเครนตัดสินใจใช้ระเบิดลูกปรายในสนามรบ รัสเซียก็จะใช้ระเบิดลูกปรายเป็นมาตรการตอบโต้เช่นกัน ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการทหารของยูเครนและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า ระเบิดลูกปรายถึงมือยูเครนแล้ว
ล่าสุดหน่วยงานด้านความมั่นคงยูเครนได้ออกมายอมรับผ่านสำนักข่าว AFP แล้วว่า เหตุระเบิดสะพานเคียร์ชนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการพิเศษ โดยใช้เรือไร้คนขับในการโจมตี
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 17 ก.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/201258