นายพลออง ซาน หรืออู อองซาน เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1915 ที่เมืองนัตเม่าก์ บิดาคืออูเผ่า เป็นทนายความ มารดาชื่อด่อซู ผู้เป็นปู่คือ โบมีงยอง เป็นนักต่อสู้ที่รักชาติและเคยต่อต้านเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษ นายพลออง ซาน จึงได้สืบทอดมรดกทางจิตใจคือความรักชาติและเป็นนักต่อสู้มาจากคุณปู่
นายพลออง ซานเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์กับคนทุกคนอย่างเสมอภาค และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของเขา คือ การเคารพในความถูกต้อง ไม่กล่าวเท็จและยึดมั่นในคุณธรรม เป็นคนที่ไม่หลงใหลในลาภยศหรือเงินทอง นายพลเป็นคนที่พูดจาเด็ดขาด การทำงานก็ตรงไปตรงมา และได้เป็นผู้นำการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของพม่า โดยได้เป็นผู้นำของ “สมาคมชาวเราพม่า” หรือ “พรรคตะขิ่น” (thakin) โดยมีจุดประสงค์คือ การต่อต้านเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษและความต้องการเอกราชทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ
เมื่อพม่าถูกอังกฤษยึดเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์ ใน ค.ศ. 1855 อังกฤษได้ปกครองพม่าโดยตรง และได้ยกเลิกระบบการปกครองเดิมของพม่า สถาบันที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจเดิมคือสถาบันกษัตริย์ที่รุ่งเรืองมาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพม่า และยังเป็นสถาบันรักษาศิลปวัฒนธรรมและศาสนาสิ้นสุดลง
การปกครองระยะเริ่มแรกคือระหว่างปี 1886-1925 อังกฤษได้ให้พม่าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ยกเลิกการปกครองในหมู่บ้านแบบเก่า จากเดิมที่เคยผูกขาดโดยชนชั้นสูงในหมู่บ้าน ด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าหมู่บ้านแบบหมุนเวียนกัน นำระบบเทศบาลเข้ามาใช้ตามเมืองใหญ่ๆ ทางตอนล่างของพม่า เพื่อยกระดับการเก็บให้สูงขึ้น นับว่าเป็นการทำลายระบบทางสังคมแบบเก่าของพม่า เกิดการขัดแย้งระหว่างประชาชนและผู้ปกครองที่มาจากต่างหมู่บ้าน
ขบวนการชาตินิยมในพม่าในช่วงระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่พม่าเริ่มคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ อีกส่วนมาจากการที่พม่าเกลียดชังอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่แล้ว และอีกส่วนมาจากการศึกษาพุทธศาสนา จึงทำให้ผู้นำชาวพม่ามารวมตัวกันก่อตั้งเป็นสมาคม เป็นพรรค และขบวนการ เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษ เรียกว่าขบวนการชาตินิยม เป็นปรากฏการณ์ของขบวนการชาตินิยมในอุษาคเนย์ที่ต่อต้านอำนาจของเจ้าอาณานิคม เพื่อปลดปล่อยตนเองให้เป็นเอกราชในที่สุด
หนึ่งในสมาคมที่ต่อต้านอำนาจของอังกฤษก็คือ “สมาคมชาวเราพม่า” ซึ่งเป็นพรรคของนักศึกษา ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยร่างกุ้งซึ่งมีสมาชิกรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น มีนายพลออง ซาน เป็นผู้นำ
อุดมการณ์ของกลุ่มนี้คือต่อต้านอังกฤษ และการที่นักศึกษาเรียกตัวเองว่า “ตะขิ่น” (หรือทะขิ่น) ก็เพื่อสร้างความเท่าเทียมกับคนอังกฤษ เพราะคำว่าทะขิ่น มีความหมายว่าเจ้านาย เป็นคำที่คนพม่าเรียกคนอังกฤษ ดังนั้นการที่นักศึกษานำคำนี้มาใช้ จึงดูเหมือนว่านักศึกษากำลังเล่นเกมทางการเมืองเพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษ
สมาคมชาวเราพม่ามีจุดประสงค์คล้ายกับ GCBA คือต่อสู้เพื่อเอกราช ปฏิเสธที่จะร่วมมือกับฝรั่งในระยะเวลาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นทั้ง GCBA และสมาคมชาวเราพม่า ก็กลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการชาตินิยม การสร้างผู้นำแบบใหม่ต้องมีอุดมการณ์ที่แน่นอนเพื่อเอกราชและประชาธิปไตย ซึ่งขบวนการชาตินิยมของพม่าก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้กับชาติของตน
ในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นยึดพม่าได้ อังกฤษได้ถอยไปอยู่ที่อินเดีย มีการจัดตั้งกองทัพแห่งชาติเพื่อทำการขับไล่อังกฤษ โดยมีญี่ปุ่นให้การสนับสนุน ญี่ปุ่นอ้างว่าจะให้เอกราชแก่พม่า กลุ่มตะขิ่นนำโดยนายพลออง ซาน หาเชื่อน้ำคำของญี่ปุ่นไม่ แยกตัวออกมาจัดตั้ง “องค์กรต่อต้านญี่ปุ่น” (Anti Fescist People’s Freedom League-AFPFL) โดยร่วมมือกับอังกฤษ
เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษเข้ามาปกครองพม่าดังเดิม อังกฤษยอมเจรจากับนายพลออง ซาน ยอมให้ชาวพม่าเข้ามาปกครองทั่วไป พม่าเตรียมร่างรัฐธรรมนูญในปี 1947 และมีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งคือพรรค AFPFL
อย่างไรก็ตามนายพลออง ซาน ถูกลอบสังหารในวันที่ 19 กรกฎาคม ปี 1947 ขณะอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น โดยการลอบสังหารครั้งนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งภายในของพม่าเอง ผู้เป็นหัวหน้าการลอบสังหารคือ อูซอ นักการเมืองฝ่ายขวาที่ฝักใฝ่ฝ่ายญี่ปุ่น แต่อังกฤษสืบความลับได้ก็เลยจับอูซอเนรเทศไปอยู่ในแอฟริกา ครั้งสงครามสงบลงอูซอก็ได้รับการปลดปล่อยกลับมาพม่า กลุ่มนักการเมืองฝ่ายขวาหวังว่าอูซอจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก แต่ก็ผิดหวังเพราะกลุ่มอูซอยังมีความขัดแย้งกับกลุ่มของนายพลออง ซาน จนกระทั่งมีการลอบสังหารนายพลออง ซาน ในที่สุด
—————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : silpa-mag.com / วันที่เผยแพร่ 19 ก.ค.66
Link : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_71558