กำลังจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ในวันที่ 21 ส.ค นี้ สำหรับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services)
หลังได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 ซึ่งทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ภายใต้ การกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้
การที่รัฐต้องตรากฎหมายนี้ออกมาก เพื่อหวังให้เป็นกลไกในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้มีความโปร่งใส และมีแนวทางในการคุ้มครองเยียวยาแก่ผู้ใช้บริการ ได้อย่างเป็นธรรม!?!
หลังจากที่ผ่าน ๆ มา คนไทยที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พอเกิดความเสียหาย ก็ไม่รู้ต้องดำเนินการอย่างไร ต้องแจ้งไปที่ไหน หรือติดต่อผู้ให้บริการได้อย่างไร เพื่อขอความช่วยเหลือ!!
ภาพ pixabay.com
เช่นหลังจากในปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่องการใช้งานแพลตฟอร์ม และถูกฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ กว่า 6 หมื่นเรื่อง!! แล้วใครบ้างล่ะ? ที่เข้าข่ายต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของก.ม. นี้?
หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะของไทยหรือต่างประเทศ หากต้องการให้บริการกับคนไทยหรือประกอบธุรกิจในไทย ก็ต้องจดแจ้งกับทาง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ก่อนที่จะเริ่มประกอบธุรกิจ!!
ทั้งนี้หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการ และผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ และมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หลังจากที่ผ่านมามีกรณีไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการเหล่านี้ได้
โดยเมื่อ ก.ม.บังคับใช้แล้ว ผู้ประกอบการที่ไม่เคยให้บริการมาก่อน อยากเข้ามาประกอบธุรกิจต้องมาจดแจ้ง กับเอ็ตด้าก่อน ส่วนผู้ที่ให้บริการอยู่ก่อนที่กฎหมายบังคับใช้จะมีเวลา 90 วันที่ต้องมาจดแจ้ง ภายใน วันที่ 18 พ.ย.66 ไม่เช่นนั้น จะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ!!
ส่วนเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ เป็นเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน ที่มีการลงทะเบียนยูสเซอร์ และมีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน หากเป็นนิติบุคคลต้องมีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และหากเป็นบุคคคล ทั่วไปต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ในเบื้องต้นนั้นทางเอ็ตด้า ได้ประเมินว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายต้องมาจดประมาณ 1,000 ราย อาทิ ผู้ให้บริการโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส ผู้ให้บริการเว็บไซต์ซื้อขาย บ้าน รถยนต์ ฯลฯ
ภาพ pixabay.com
อย่างไรก็ตามในประเด็นที่ว่า หากเป็นผู้ประกอบการที่เคยแจ้งจดทะเบียนกับทางกระทรวงพาณิชย์แล้วนั้น ยังต้องมาแจ้งอีกหรือไม่??
ทาง “ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการเอ็ตด้า บอกว่า สำหรับเจ้าของหรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เคยจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว ก็ต้องมาจดแจ้งเพิ่มกับทางเอ็ตด้าด้วย เนื่องจาก ก.ม.นี้เป็นการกำกับดูแลด้านการทำธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ที่ขายของตามแพลตฟอร์ม และโซเซียบมีเดียต่าง ๆ และพวกยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ก็ไม่ต้องตกใจ! เพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องมาจดแจ้ง เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องดำเนินการ เช่น เฟซบุ๊ก ลาซาด้า ต้องเป็นคนมาจดแจ้ง ไม่ใช้คนที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม!!
ด้าน“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว. ดีอีเอส บอกว่า ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจ บริการแพลตฟอร์ม ดิจิทัล อี-มาร์เก็ตเพลส ได้แก่ Lazada, AirAsia , Super App, Noc Noc,Shopee ,เทพSHOP และ สมาคมเว็บไซต์ไทยประชุมทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของ ก.ม.
โดยผู้ประะกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ายินดีให้ความร่วมมือและที่ผ่านมาทำงาน ร่วมกับกระทรวงดีอีเอสมาอย่างต่อเนื่อง และต่างมีช่องทางร้องเรียนให้ผู้ใช้งานอยู่แล้ว
เอ็ตด้า อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างคู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไก self-regulate ของผู้ประกอบธุรกิจ เน้นสำหรับบริการ Social Media และ e-Commerce ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์ และการดำเนินคดีที่ระบุตัวผู้กระทำความผิด และอยู่ในระหว่างการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมมากขึ้น
ภาพ pixabay.com
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปิดข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมาย จึงเปิดระบบเพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่าเป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดําเนินการแจ้งให้เอ็ตด้า ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment
และเตรียมขยายผล การจัดกิจกรรม Pre-Consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คําปรึกษา แก่ผู้ให้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจด แจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย ผ่านทางระบบ e-Meeting ที่จะเปิดให้บริการให้คําปรึกษาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 ก.ค. 66 นี้
ทั้งหมด คือการเตรียมความพร้อมก่อน ก.ม.จะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ!!!
บทความโดย จิราวัฒน์ จารุพันธ์
—————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2515528/