เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 มีคดีน่าสนใจ โดยศาลในประเทศแคนาดา ตัดสินให้ Emoji เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งที่มีผลทางกฎหมายและเป็นบ่อเกิดของสัญญา
ข้อเท็จจริง
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในกรณีที่โจทก์และจำเลยพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เพื่อตกลงจะเข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตร (ต้นแฟลกซ์) ต่อมาเมื่อพูดคุยเสร็จสิ้น โจทก์ได้ส่งข้อความหาจำเลยเพื่อยืนยันการซื้อขายดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Text Message)
โดยมีข้อความว่า “โปรดยืนยันสัญญาซื้อขายต้นแฟลกซ์” จำเลยพิมพ์ตอบกลับมาโดยใช้ Thumbs-up Emoji (สัญลักษณ์ยกนิ้วหัวแม่มือ) อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ได้นำส่งต้นแฟลกซ์ตามที่ได้ตกลง
ต่อมาเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยส่งมอบต้นแฟลกซ์ดังกล่าว จำเลยได้กล่าวอ้างว่า การใช้ส่งสัญลักษณ์ Thumbs-up Emoji นั้น เป็นเพียงการบอกให้ทราบว่าได้รับข้อความแล้ว ไม่ได้หมายว่า ยอมรับ ตกลง หรือผูกพันตามข้อความในสัญญา
ทั้งนี้ จำเลยยังได้ให้เหตุผลว่า ตนเข้าใจว่าโจทก์ “จะนำส่งสัญญาฉบับเต็มมาทางแฟกซ์หรืออีเมล เพื่อตรวจสอบอีกครั้งก่อนมีการเซ็นสัญญาซื้อขาย” ดังนั้น เพียงแค่การส่งข้อความตอบโต้ผ่านระบบ Messenger จึงยังไม่ได้แปลว่าจะตกลงขายต้นแฟลกซ์ให้โจทก์ตามที่โจทก์เข้าใจ
คำถามคือ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่
จากกรณีข้างต้น โจทก์ได้ฟ้องต่อศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่ขายต้นแฟลกซ์ให้ตามที่ตกลง ศาลจึงได้ตัดสินว่า ข้อความดังกล่าวถือเป็น “สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย” โดยให้เหตุผลว่า Thumbs-up Emoji ที่จำเลยส่งให้โจทก์นั้นถือเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถยืนยันเจตนาของจำเลยในการตกลงเข้าทำสัญญา
ศาลได้กล่าวอ้างถึงนิยามของ Emoji ที่ปรากฏในดิกชันนารี ที่ได้ให้นิยามว่า Emoji คือ สัญลักษณ์หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่สื่อ หรือแสดงออกถึงเจตนาหรือความรู้สึกของผู้ส่งในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปผ่านช่องทางสื่อสารในยุคดิจิทัล
ดังนั้น “Emoji จึงถือเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ที่สามารถแสดงความสัมพันธ์เพื่อยืนยันตัวตนของผู้แสดงเจตนาได้ และกฎหมายในปัจจุบันก็ไม่ได้ห้ามการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้”
ศาลยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า แม้ Emoji จะไม่ใช่สัญลักษณ์โดยทั่วไปที่บุคคลจะใช้เพื่อแสดงเจตนาเพื่อเข้าทำสัญญา แต่ในกรณีนี้ การที่จำเลยส่ง Thumbs-up Emoji กลับไปตามข้อความที่โจทก์ส่งมา เท่ากับเป็นการแสดงเจตนายอมรับข้อความตามสัญญา
อีกทั้งการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือของทั้งสองฝ่าย และปรากฏเบอร์โทรของโจทก์/จำเลย เป็นการยืนยันตัวตนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตามหลักการลงลายมือชื่อแล้ว
เมื่อเทียบกับหลักการในกฎหมายไทย
สำหรับผู้เขียน ประเด็นในคดีนี้มีหลายข้อกฎหมายที่อาจนำมาศึกษาเทียบเคียงกับกฎหมายไทยได้ ดังนี้
1) หลักของกฎหมายสัญญา ที่กำหนดว่า สัญญาเกิดจากการแสดงเจตนา “เสนอ” และ “สนอง” ต้องตรงกันของ “บุคคล” ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เพื่อมุ่งให้เกิดนิติสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
อย่างไรก็ดี แม้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานในการทำสัญญาของเอกชน จะไม่ได้กล่าวถึงการทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้
แต่กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ระบุหลักการที่สำคัญ ในการรองรับสถานะของข้อมูลและสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ไว้ กล่าวคือ คำเสนอ-สนองที่เป็นเหตุให้เกิดสัญญาย่อมสามารถทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีผลผูกพันคู่สัญญาไม่ต่างจากการทำลงบนกระดาษ ดังนั้น การทำสัญญาทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถมีผลตามกฎหมายได้ทั้งสิ้น
2) พิจารณาเรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) กล่าวคือ ข้อความหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สามารถมีผลตามกฎหมายได้
หาก (1) ข้อความดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ โดย “เข้าถึงได้” นั้น หมายถึงข้อความดังกล่าวสามารถอ่านได้หรือตีความได้ (Readable) หรือสามารถแปลความหมายให้เข้าใจได้ (Interpretable)
(2) ข้อความดังกล่าวต้องนำกลับมาใช้ได้ คำว่า “นำกลับมาใช้” ได้ในกรณีนี้ หมายถึง สามารถเรียกดูในภายหลัง หรือสามารถดึงข้อมูลให้ปรากฏในภายหลังได้ เช่น ในกรณีของอีเมล การที่ข้อความถูกเก็บไว้ใน Mailbox และเจ้าของสามารถเปิดดูเมื่อใดก็ได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับความหมายในข้อนี้
(3) ข้อความดังกล่าวต้องมีความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง “ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง” ในที่นี้ค่อนข้างเปิดกว้างในการตีความ เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้และการพิสูจน์
โดยหากคู่ความสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเข้าองค์ประกอบข้อนี้ได้
(ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาในการตีความของศาลได้อยู่บ้างว่าเทคโนโลยีหรือกรณีแบบไหนที่จะส่งผลให้ “ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง”)
3) พิจารณาเรื่อง หลักการ e-Signature ซึ่งกฎหมายได้กำหนดว่า “e-Signature” หรือ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” คือ การสร้างชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบตัวเลข อักษร เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใด เพื่อใช้แสดงความสัมพันธ์กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของชุดข้อมูลดังกล่าว (เจ้าของลายมือชื่อ)
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ
1. เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และสามารถแสดงความเชื่อมโยงไปยังชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
2. เพื่อแสดงว่าเจ้าของลายมือชื่อยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชุดดังกล่าวนั้น ตัวอย่างเช่น ชุดตัวเลขการเข้ารหัส (Passcode) หรือ Username/password เป็นต้น
ดังนั้น หากพิจารณาจากบริบทของกฎหมายไทย Emoji ก็อาจก่อให้เกิดสัญญาได้เช่นกัน เนื่องจากอาจอยู่ในรูปแบบข้อมูลหรือสัญลักษณ์ที่ปรากฏความหมายอย่างหนึ่งอย่างใดในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document)
หรืออาจถูกใช้เพื่อแสดงเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากมีการสร้าง Emoji เพื่อใช้ในกระบวนการยืนยันตัวตน ที่สามารถแสดงความหมายได้อย่างชัดเจน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย)
ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่า การทำสัญญาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญาควรใช้ภาษาที่ชัดเจนดีกว่าการใช้ข้อมูลรูปภาพ หรือสัญลักษณ์ข้อความอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันการตีความที่คลาดเคลื่อนในอนาคต
คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0
บทความโดย สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
——————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 18 ก.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1079158