มือมีดที่บุกแทงคนในรถไฟใต้ดินที่แน่นขนัด หรือคนร้ายที่ไล่แทงผู้อื่นอย่างดุเดือดกลางถนน ฝันร้ายเหล่านี้ปรากฏขึ้นในจิตใจของชาวเกาหลีใต้จำนวนมาก หลังเกิดเหตุแทงประชาชนหลายคนอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ ภายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ชายคนหนึ่งใช้มีดไล่แทงประชาชนที่สัญจรไปมาในเมืองหลวง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน โดยในภายหลัง ผู้ก่อเหตุบอกกับตำรวจว่า เขาใช้ชีวิตอย่างทนทุกข์ และอยากทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เหมือนกัน
หลังจากนั้นในวันที่ 3 ส.ค. ชายคนหนึ่งในเมืองซองนัม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล ขับรถพุ่งชนคนเดินถนน บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ก่อนลงจากรถแล้ววิ่งเข้าไปในห้างสรรพสินค้า และก่อเหตุไล่แทงประชาชน 9 คน หนึ่งในนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาซึ่งหลักฐานเผยให้เห็นว่า เหตุอุกอาจครั้งนี้อาจเป็นการเลียนแบบชายคนก่อนหน้า
KOREA NOW
ในเกาหลีใต้ “มุดจีมา” ซึ่งมีความหมายว่า “อย่าถาม” สื่อถึงการกระทำความรุนแรงที่ไม่สามารถอธิบายได้ต่อคนแปลกหน้า โดยผู้ก่อเหตุไม่มีความเชื่อมโยงส่วนตัวกับเหยื่อ หรือแรงจูงใจที่ชัดเจน
ชาวเกาหลีใต้เรียกอาชญากรรมเหล่านี้ว่า มุดจีมา (Mudjima) มานานหลายปี กระทั่งในปี 2565 ตำรวจเกาหลีใต้กำหนดให้อาชญากรรมดังกล่าวอยู่ในหมวดหมู่ “อาชญากรรมที่มีแรงจูงใจผิดปกติ” อย่างเป็นทางการ และจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับปัญหานี้
แม้ข้อมูลโดยรวมบ่งชี้ว่า เกาหลีใต้ไม่มีอาชญากรรมรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เหตุการแทงคนในช่วงไม่นานมานี้ ทำให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มประชาชนว่า มุดจีมาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม และสังคมเกาหลีใต้มีความอันตรายมากขึ้น จนถึงขั้นที่นักวิจารณ์บางคนเปรียบเทียบเกาหลีใต้กับสหรัฐ ซึ่งเกิดเหตุกราดยิงหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ฮโยจง ซง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกาหลี ในกรุงโซล ยืนยันว่า “การฆาตกรรมและอาชญากรรมรุนแรงอื่น ๆ ในเกาหลีใต้ อยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมันลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”
ด้านผู้สันทัดกรณีหลายคนชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การก่อเหตุ นั่นคือ แรงกดดันทางสังคมที่แฝงอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ ตั้งแต่โอกาสในการทำงานและที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต และการขาดบริการช่วยเหลือ
KOREA NOW
กระนั้น สิ่งที่กระตุ้นความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องในหมู่ประชาชน หลังเกิดเหตุแทงคน คือ คลื่นของภัยคุกคามที่โผล่ขึ้นมาในสื่อสังคมออนไลน์ ป่าวประกาศว่าจะเลียนแบบการโจมตีที่เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ตำรวจเกาหลีใต้จึงยกระดับการเฝ้าระวัง ทว่าหากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกในระยะนี้ ความตึงเครียดของสาธารณชนบางส่วนจะเริ่มหายไป อย่างไรก็ตาม ความกลัวยังคงอยู่ในจิตใจของประชาชน ดังที่ชาวเกาหลีใต้หันมาพกพาอาวุธป้องกันตัวมากขึ้น เช่น สเปรย์พริกไทย และระแวดระวังคนรอบข้าง เมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ
บทความโดย : เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ส.ค. 66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2632544/