สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า ทหารอเมริกันแปรพักตร์มาเกาหลีเหนือ เพราะต้องการหนีจากการถูกปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม และการถูกเหยียดสีผิวในกองทัพสหรัฐฯ
เกาหลีเหนือยืนยันว่า สาเหตุที่ทหารสหรัฐฯ หนีเข้าไปในเกาหลีเหนือเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากเผชิญความไม่เท่าเทียมในสังคมอเมริกันและการเหยียดผิวในกองทัพ การเปิดเผยครั้งนี้ นับเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับการกักขัง พลทหาร ทราวิส คิง ซึ่งหนีเข้าไปยังเกาหลีเหนือ ขณะเข้าไปปะปนกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวเขตปลอดทหาร เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เขากลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกควบคุมตัวในเกาหลีเหนือในรอบเกือบ 5 ปี
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการของเกาหลีเหนือ กล่าวว่า คิงบอกกับเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า เขาตัดสินใจเดินทางเข้าเกาหลีเหนือเพราะเขา “เก็บงำความรู้สึกไม่ดีต่อการปฏิบัติทารุณต่อมนุษย์และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติภายในกองทัพสหรัฐฯ”
คิงยังแสดงความเต็มใจที่จะลี้ภัยในเกาหลีเหนือหรือประเทศที่สาม โดยกล่าวว่าเขา “ไม่แยแสต่อสังคมอเมริกันที่ไม่เท่าเทียมกัน”
ครอบครัวของคิงเคยให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ของสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า คิงเคยบอกกับพวกเขาว่า เขาเผชิญประสบการณ์การเหยียดเชื้อชาติในกองทัพ พวกเขายังกล่าวอีกว่าสุขภาพจิตของเขาดูเหมือนจะแย่ลงก่อนที่เขาจะหายตัวไป
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของความคิดเห็นของคิง ที่รายงานในสื่อของเกาหลีเหนือ โดยสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ กล่าวหาเกาหลีเหนือว่าใช้ผู้ถูกคุมขังต่างชาติเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการทูต ผู้ถูกคุมขังชาวต่างชาติบางคนกล่าวหลังจากได้รับการปล่อยตัวว่า การประกาศความผิดของพวกเขาขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเกาหลีเหนือนั้นอยู่ภายใต้การบังคับขู่เข็ญ
ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า นี่คือโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ 100% ชะตากรรมของเขาอยู่ในมือของเกาหลีเหนือ รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจจะพยายามต่อรอง เพื่อแลกกับเงินจากสหรัฐฯ เป็นไปได้สูงว่าการเจรจาอาจจะไม่ง่าย และเงื่อนไขต่าง ๆ จะถูกกำหนดโดยเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เกาหลีเหนืออาจพยายามผูกมัดการปล่อยตัวคิง เพื่อหวังให้สหรัฐฯ ลดกิจกรรมทางทหารกับเกาหลีใต้
เกาหลีเหนือกล่าวว่าการสอบสวนคิงจะดำเนินต่อไป และกล่าวถึงการหนีเข้าเกาหลีเหนือของคิงว่า “ผิดกฎหมาย”
เดิมที พลทหารคิง วัย 23 ปี จะต้องเดินทางไปยังเมืองฟอร์ตบลิส รัฐเท็กซัส หลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากการถูกคุมขังในเกาหลีใต้ นาน 2 เดือนในข้อหาทำร้ายร่างกาย เขาเป็นหนึ่งในกองทหารสหรัฐฯ ประมาณ 28,000 นายที่ประจำการในเกาหลีใต้เพื่อป้องปรามการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นจากเกาหลีเหนือ
จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คิงซึ่งเลือกที่จะถูกกักขังในค่ายแรงงาน แทนที่จะจ่ายค่าปรับเกือบ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกประกาศให้อยู่ในสถานะ AWOL ซึ่งเป็นการลงโทษสำหรับการละทิ้งหน้าที่โดยไม่แจ้งลา เขาอาจถูกคุมขังในเรือนจำ การริบค่าจ้างหรือการปลดประจำการอย่างไร้เกียรติ และส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่พวกเขาไม่ปฏิบัติหน้าที่ และไม่ว่าพวกเขาจะถูกจับหรือส่งกลับด้วยตัวเองหรือไม่ก็ตาม.
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 ส.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2717672