รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยจะต้องเจอกับประเด็นเรื่องพม่าที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมา
จึงจำเป็นจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้แม่นว่าเราจะทำหน้าที่ประสานระหว่างอาเซียนกับผู้นำกองทัพพม่าและฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าอย่างไรจึงจะสามารถช่วยให้เกิดสันติภาพและความสงบสุขให้กับเพื่อนบ้านทางตะวันตกแห่งนี้ได้
คำประกาศของกองทัพพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อนที่จะผ่อนผันโทษของอองซาน ซูจีลงจาก 19 ข้อหาเหลือ 14 ข้อหา
และลดโทษจากจำคุก 33 ปีเหลือ 27 ปีนั้นเป็นท่าทีที่จริงจังของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายที่จะริเริ่มกระบวนการเจรจากับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” ในพม่าจริงหรือไม่
อาเซียนจะประชุมสุดยอดในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
เชื่อกันว่าจะมีการ “ทบทวน” เนื้อหาของฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนว่าด้วยวิกฤตพม่าเพื่อให้สอดคล้องกับ “ความเป็นจริงบนภาคพื้นดิน”
อาจจะหมายความว่าอาเซียนพร้อมจะลดความเข้มข้นของมาตรการที่จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับระดับนำของพม่าจนกว่าจะมีความคืบหน้าในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อนี้
หรืออาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่หนักขึ้นหรือไม่
อาเซียนเองก็มีท่าทีที่แตกต่างกันในกรณีนี้
อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนปีนี้มีความแน่วแน่ในการที่จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าต้องแสดงความคืบหน้าในการทำตาม 5 ข้อที่มิน อ่อง หล่ายไปร่วมประชุมและรับที่จะทำตาม
แต่ถึงวันนี้ก็ยังห่างไกลจากการนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
อินโดฯ, มาเลซีย, สิงคโปร์กับฟิลิปปินส์โอนเอียงไปในทางเข้มเข้นกับทหารพม่า
ขณะที่เวียดนาม, กัมพูชา, ลาวและไทยมีท่าทีที่ผ่อนปรนมากกว่า
โดยไทยในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวถึง 2,400 กิโลเมตรได้แสดงความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น “สะพาน” ระหว่างกองทัพพม่ากับอาเซียน
การที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศได้พบกับอองซาน ซูจีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมก่อนที่จะไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนั้นก็ถือได้ว่ามีความ “คืบหน้า” ในระดับหนึ่ง
แต่สมาชิกอาเซียนที่ยืนหยัดจะต้องให้กองทัพพม่าแสดงผลงานที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ก็จะเรียกร้องให้ทหารพม่าทำอะไรมากกว่านี้
ขณะที่ประเทศตะวันตกก็จะยังเดินหน้ากดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยอองซาน ซูจีและนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไขและทันที
โดยแจ้งว่าเพียงแค่ลดโทษซูจีอย่างเดียวอาจจะเป็นการสร้างภาพมากกว่าของจริง
ขณะที่จีนและรัสเซียยังสนับสนุนกองทัพพม่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของอาวุธและเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
และฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ยังยืนยันจะยืนเคียงข้างฝ่ายต่อต้าน
ที่สหรัฐฯมีกฎหมายชื่อ Burma Act
ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วซึ่งเปิดทางให้อเมริกาส่งความช่วยเหลือทั้งด้านมนุษยธรรมและทางด้านการทหารไปช่วยกลุ่มต่อต้านในพม่า
นั่นย่อมแปลว่าในแง่หนึ่งสภาวะ “สงครามกลางเมือง” ในพม่าอาจจะกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างมหาอำนาจตะวันตกและจีนกับรัสเซีย
ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในภาวะของความสุ่มเสี่ยงสูงขึ้นหากไม่หาทางสงบศึกในพม่าอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ (ปีหน้าจะส่งไม้ต่อไปให้ สปป. ลาว) ได้พยายามประสานกับกลุ่มต่าง ๆ ในพม่าเช่นรัฐบาลพลัดถิ่น NUG, หรือชาติพันธุ์ติดอาวุธ, และกลุ่มต่อต้านทหารในรูปแบบต่าง ๆ
แต่ทูตพิเศษของอาเซียนว่าด้วยกิจการพม่าก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” เพื่อให้มีการหยุดยิงโดยปราศจากเงื่อนไขและเริ่มกระบวนการเจรจาได้จนถึงวันนี้
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามจะรักษาช่องทางการติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่าแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ล้ำเส้น” มาตรการของอาเซียนที่ไม่ให้ไปมาหาสู่กับคนของรัฐบาลทหารพม่า
ไทยได้จัดให้มีการพูดจาอย่างไม่เป็นทางการที่เรียกว่า 1.5 track ซึ่งหมายถึงการพบปะของเจ้าหน้าที่และนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจ
นอกจากอาเซียนแล้ว ไทยก็ยังเชิญนักวิชาการและเจ้าหน้าที่จากจีน, อินเดียและบังคลาเทศซึ่งล้วนแล้วแต่มีพรมแดนติดกับพม่า
ครั้งแรกจัดที่กรุงเทพฯ, ครั้งที่สองที่นิวเดลฮี
ข่าวแจ้งว่าการพบปะอย่างไม่เป็นทางการนี้จะมีขึ้นที่ สปป. ลาวในเดือนสิงหาคมนี้
หัวข้อในการพูดคุยในเวทีไม่เป็นทางการและไม่ผูกมัดนี้มีทั้งเรื่องการค้ายาเสพติดตรงชายแดน, การค้าวุธและการค้ามนุษย์เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางออกที่อาจจะนำไปสู่การเจรจาด้านการเมืองและความมั่นคง
เมื่อมีความเคลื่อนไหวใหม่จากมิน อ่อง หล่ายต่ออองซาน ซูจีจึงน่าสนใจว่าอาเซียนจะขยับต่อไปอย่างไร
เพื่อให้ทุกฝ่ายในพม่าตระหนักว่าการที่ยังมีความขัดแย้งในระดับวิกฤตต่อไปเช่นนี้ย่อมจะเป็นผลร้ายต่อประชาชนชาวพม่าอย่างไม่หยุดยั้ง
ผู้นำทหารพม่าต้องตระหนักแล้วว่าแม้จะถูกปราบปรามอย่างหนักเพียงใด ประชาชนชาวพม่าก็ยังมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง
จิตวิญญาณนักสู้ของคนพม่านั้นเป็นที่ประจักษ์มาแล้วอย่างโชกโชน
และไม่ว่ากองทัพจะใช้วิธีการที่รุนแรงและไร้มนุษยธรรมเพียงใดก็มิอาจจะทนแรงต่อต้านในทุกรูปแบบของประชาชนได้
ดังนั้น หากมิน อ่อง หล่ายยอมเผชิญกับความจริง และนั่งลงเจรจากับอองซาน ซูจีเพื่อจะปูทางไปสู่การวางกฎเกณฑ์กติกาสำหรับคนรุ่นต่อไปของพม่าที่จะสร้างสังคมใหม่อันเป็นที่ปรารถนาของคนทุกหมู่เหล่าในประเทศ
นั่นคือความปรารถนาสูงสุดของคนพม่าและประชาคมอาเซียนอย่างแน่นอน.
บทความโดย สุทธิชัย หยุ่น | คอลัมน์ กาแฟดำ
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยโพสต์ / วันที่เผยแพร่ 8 ส.ค.66
Link : https://www.thaipost.net/columnist-people/426948/1