รอยเตอร์ – ตำรวจอังกฤษกำลังสอบอดีตเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหราชอาณาจักร กรณีบุกรุกบ้านพักทูตในกรุงลอนดอน ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะย้ายออกนับตั้งแต่ถูกขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในปี 2564 ทนายความเปิดเผยกับรอยเตอร์
จ่อ ซา มิน ถูกกันไม่ให้เข้าไปในสถานทูตพม่า ไม่กี่เดือนหลังพม่าเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 และต่อมาเขาถูกแทนที่ด้วยตัวแทนของรัฐบาลทหาร หลังจากที่เขาเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่า
นับตั้งแต่การประท้วงที่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากรัฐบาลอังกฤษในขณะนั้น จ่อ ซา มิน ยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน บ้านพักที่ล้อมด้วยลวดหนามและกล้องวงจรปิด ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะคืนให้สถานทูต ที่เขากล่าวว่าขณะนี้ถูกควบคุมโดยผู้แทนของรัฐบาลผิดกฎหมาย
เมื่อปีที่ผ่านมา อังกฤษเรียกร้องให้จ่อ ซา มิน ย้ายออกจากบ้านพักหลังดังกล่าวโดยอ้างแรงกดดันจากรัฐบาลทหาร ตามการรายงานของรอยเตอร์
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จ่อ ซา มิน ถูกตำรวจสอบปากคำเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าเขาบุกรุกสถานที่ทางการทูต เนล สวิฟต์ ทนายความของจ่อ ซา มิน กล่าว ซึ่งความผิดดังกล่าวมีโทษโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
“บ้านพักเอกอัครราชทูตยังคงเป็นทรัพย์สินของพม่า และลูกความของผมยังคงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบกุญแจบ้านพักให้ตัวแทนของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หากพวกเขาต้องการให้เขาทำเช่นนั้น” สวิฟต์ กล่าว
จ่อ ซา มิน ถูกตำรวจสอบปากคำเมื่อวันที่ 15 ส.ค. แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ ตามที่สวิฟต์กล่าว และว่าอัยการสูงสุดของอังกฤษจะต้องพิจารณาว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งข้อหาเขาหรือไม่
หากเขาถูกตั้งข้อหา คดีนี้เสี่ยงที่จะกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษชุดก่อนหน้าเคยสนับสนุนจ่อ ซา มิน และคว่ำบาตรรัฐบาลทหาร นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารและการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างนองเลือดที่ก่อให้เกิดขบวนการต่อต้านที่ต่อสู้กับกองทัพในหลายแนวรบ
คริส กันน์ จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน Myanmar Accountability Project กล่าวว่า ‘นึกไม่ถึงว่าทางการอังกฤษที่ประณามการรัฐประหารและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับนายพล จะยอมให้มีการเคลื่อนไหวเช่นนี้จากรัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมาย’
อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศตะวันตกที่เรียกร้องให้พม่าฟื้นฟูประชาธิปไตย และคว่ำบาตรสมาชิกของกองทัพพม่า รวมทั้งผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขาบางส่วน
นักการเมืองพม่าที่ถูกขับไล่และที่หลบหนีการจับกุมหลังเกิดการรัฐประหาร พร้อมด้วยพันธมิตรที่สนับสนุนประชาธิปไตย ได้ก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลคู่ขนาน แต่ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ รวมถึงอังกฤษ ไม่ยอมรับ NUG หรือรัฐบาลทหารอย่างเป็นทางการ
แต่ในเดือน ก.ค.2564 รัฐบาลทหารของพม่าได้แต่งตั้งหัวหน้าชั่วคราวคนใหม่ของสถานทูตประจำกรุงลอนดอน ความเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต.
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 20 ส.ค. 66 ปรับปรุง 21 ส.ค. 66
Link : https://mgronline.com/indochina/detail/9660000074988