เปิดสถิติ ในแต่ละปี โลกของเราเผชิญเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเฉียดผ่านมากน้อยแค่ไหน และเป็นภัยคุกคามหรือไม่
ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา มี “ดาวเคราะห์น้อย” หรือเศษก้อนหินที่เหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะ อยู่เป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน มีขนาดและความเร็วแตกต่างกันออกไป ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดแก่โลกก็แตกต่างตามไปด้วย
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นพาดหัวข่าวที่บรรยายถึงดาวเคราะห์น้อย ว่ามีขนาดเท่า “รถบัส” “รถบรรทุก” หรือ “ตู้ขายของอัตโนมัติ” รวมถึงระบุระดับความอันตรายว่าเป็น “ผู้ล้างเมือง” “ผู้พิฆาตดาวเคราะห์” หรือ “เทพแห่งความโกลาหล”
แน่นอนว่าภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยนั้นเป็นเรื่องจริง นักวิทยาศาสตร์และดาราศาตร์ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อคำนวณวิถีว่ามีดาวเคราะห์น้อยดวงไหนบ้างที่จะชนโลกหรือเข้าใกล้โลก และพยายามคิดหาวิธีป้องกันมัน
แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ตัวเลขความเสี่ยงภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยอยู่ที่เท่าไหร่? มีดาวเคราะห์น้อยกี่ดวงที่พุ่งชนโลก และกี่ดวงที่คาดว่าจะเฉียดผ่านเราไป?
ข้อมูลจากองค์การนาซา (NASA) ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยมีหลายขนาด ดวงที่เล็กเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 4 เมตรคาดว่ามีมากกว่า 500 ล้านดวง และที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย 25 เมตรนั้น มีประมาณ 5 ล้านดวง ซึ่งทั้งสองขนาดนี้ตรวจจับได้ยากมาก
ส่วนขนาด 140 เมตร มีประมาณ 25,000 ดวง ขนาด 1 กิโลเมตรมี 900 ดวง และใหญ่กว่า 10 กิโลเมตรนั้น เคยพบแค่ 4 ดวง จะเห้นว่ามีจำนวนน้อยกว่ามาก รวมถึงตรวจจับได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน หากตกลงมาบนโลกก็จะสร้างความเสียหายได้มากกว่าเช่นกัน
ทั้งนี้ โดยปกติโลกจะประสบกับเหตุดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กพุ่งชนบ่อยครั้ง ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ จะแตกตัวหรือสลายไปขณะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกและไม่ตกลงสู่พื้นผิวโลกด้วยซ้ำ ส่วนเหตุดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ชนโลกนั้นเกิดได้ยาก แต่ก็เคยเกิดขึ้น และมีผลกระทบรุนแรง
สำหรับการพิจารณาว่าระยะไหนคือ “ใกล้” หรือ “เฉียดโลก” นักดาราศาสตร์พิจารณาจากการเข้าใกล้ดวงจันทร์ ซึ่งห่างจากโลกประมาณ 300,000 กิโลเมตร โดยหากวัตถุใดเคลื่อนเข้าใกล้โลกมากกว่าระยะดังกล่าว ก็จะนับว่า “ใกล้”
จากข้อมูล ในปี 2022 มีดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลก 126 ครั้ง และในปีช่วงราวครึ่งปี 2023 ที่ผ่านมา มีดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้โลกไปแล้วประมาณ 50 ครั้ง
ในจำนวนเหล่านี้แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กกว่า 1 กิโลเมตรซึ่งไม่ได้สร้างปัญหาใด ๆ ให้กับโลกมากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่มาเฉียดโลกเลย
เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกครั้งต่อไปที่น่าจับตาคือในปี 2029 เมื่อดาวเคราะห์น้อย 153814 (2001 WN5) จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้โลกที่ระยะ 248,700 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประมาณ 95% ของดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดมากกว่า 1 กิโลเมตรได้ถูกค้นพบแล้ว และอีก 5% ที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการค้นหา ส่วนที่ใหญ่กว่า 10 กิโลเมตรนั้น อัตราการพบคือ 100% นั่นหมายความว่า หากจะมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ๋พุ่งมายังโลก เราจะได้รับการแจ้งเตือนอย่างทันท่วงทีแน่นอน
นอกเหนือจากขนาดแล้ว นักดาราศาสตร์ยังมีการจัดระดับภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยแบบเป็นตัวเลขเอาไว้ด้วยเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เรียกว่า “โทริโนสเกล” (Torino Scale) โดยจัดหมวดหมู่ภัยคุกคามที่คาดการณ์ไว้จนถึง 100 ปีข้างหน้า โดยมีมาตราส่วนตั้งแต่ 0 (ไม่มีอันตราย) ถึง 10 (การชนกับวัตถุขนาดใหญ่)
ที่น่าอุ่นใจก็คือ ปัจจุบัน ดาวเคราะห์น้อยที่นักดาราศาสตร์ตรวจพบส่วนใหญ่ มีภัยคุกคามในระดับ 0 และไม่มีวัตถุใดที่มีระดับภัยคุกคามสูงกว่า 4 (เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งสมควรได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์) เลย
กระนั้น เรื่องของการ “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็ยังคงมีความสำคัญ นั่นทำให้นักดาราศาสตร์และองค์การด้านอวกาศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงเดินหน้าศึกษาดาวเคราะห์น้อยทั้งหลาย รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้ในการสกัดหรือปกป้องโลกจากพวกมัน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับโลกที่เราใช้อาศัยนี้ให้ได้มากที่สุด
เรียบเรียงจาก Phys.org
ภาพจาก Getty Image
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 8 ส.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/202781