บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ ในการทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง ความน่าสนใจของระบบนี้ กำลังจะถูกนำมาใช้ใน นโยบายเงินดิจิทัล 10000 ของรัฐบาล
กระแสการพูดถึง เทคโนโลยี Blockchain ในขณะนี้กำลังร้อนแรง ด้วยเรื่องของการเงินและการตรวจสอบที่แม่นยำ เป็นหนึ่งในเครื่องมือตรวจสอบประวัติที่วงการธนาคารนำมาใช้ในการตรวจประวัติของลูกค้าหรือผู้ที่ยื่นขอกู้เงิน แต่ระบบนี้มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักกันค่ะ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้คำอธิบายเกี่ยวกับระบบบล็อกเชน ว่า เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาตอบโจทย์คนยุคใหม่ในเรื่องความง่ายและรวดเร็วในการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์เพียงไม่กี่วินาที
แม้จะไม่มีธนาคารตัวกลางแต่ยังคงความปลอดภัยเหมือนเดิม และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมาก ดังนั้น การใช้ Blockchain ในไทยน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจยุคดิจิทัลได้ดี
บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศของธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) สามารถโอนโดยไม่ต้องแปลงสกุลเงินได้เลย บุคคลทั้งสองฝั่งสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แม้บุคคลทั้งสองจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ดังนั้น บล็อกเชนจึงเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้กับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ FinTech เช่น การรับ จ่าย โอน หรือวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นเพื่อตัดสินใจลงทุนบนออนไลน์ ซึ่งมีทั้งความสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว และสำคัญที่สุด คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย
บล็อกเชนเก็บข้อมูลส่วนตัวหรือไม่
เทคโนโลยี Blockchain คือ เทคโนโลยีว่าด้วยระบบการเก็บข้อมูล (Data Structure) ซึ่งไม่มีตัวกลาง แต่ข้อมูลที่ได้รับการปกป้องจะถูกแชร์และจัดเก็บเป็นสำเนาไว้ในเครื่องของทุกคนที่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันเสมือนห่วงโซ่ (Chain) โดยทุกคนจะรับทราบร่วมกัน ว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง
เมื่อมีการอัปเดตข้อมูลใด ๆ สำเนาข้อมูลในฐานเดียวกันก็จะอัปเดตตามไปด้วยทันที ทำให้การปลอมแปลงข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต้องรับทราบและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลร่วมกันได้
อีกทั้งไม่มีระบบล่ม และภัยใด ๆ ก็ไม่อาจทำลายอุปกรณ์ในระบบได้พร้อมกัน
เช่นเดียวกับการถูกแฮ็กข้อมูล ซึ่งต้องทำการแฮ็กทุกเครื่อง ในฐานข้อมูลเดียวกันและต้องทำพร้อม ๆ กัน หรืออย่างน้อยต้องแฮ็กเครื่องที่ถือสำเนาให้ได้มากกว่า 51% จึงจะแฮ็กได้สำเร็จ จึงนับว่ายอดเยี่ยมในแง่ของเครดิต
นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามารองรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ฯลฯ ให้มีความปลอดภัยด้านข้อมูลมากยิ่งขึ้นด้วย
มีบล็อกเชน แต่ไม่ใช้บิทคอยน์ได้ไหม
บล็อกเชน เปรียบเหมือนกับสื่อกลางที่เอาไว้ใช้ดำเนินธุรกรรมทุกอย่างในโลก Cryptocurrency โดยเริ่มต้นจากการสร้างชุดเก็บข้อมูลที่เรียกว่า (Block) แล้วส่งไปเรียงต่อกันเรื่อยๆ ในลักษณะคล้ายโซ่คล้องกัน เรียกว่า (Chain) ต่อมาข้อมูลจะได้รับการเข้ารหัสพร้อมระบุว่าถูกจัดเก็บเมื่อใด หรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายบล็อกเชนทุกเครื่อง
เทคโนโลยี Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ Bitcoin กลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของ Satoshi Nakamoto ผู้คิดค้นบิทคอยน์และบล็อกเชนเมื่อปี 2009 เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของระบบการเงินแบบเดิม ๆ ที่ต้องมีบุคคลที่สามเป็นคนกลางเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือเวลาทำธุรกรรม
ปี 2010 ลาสซ์โล ฮันแยชซ์ โปรแกรมเมอร์บริษัทขายสินค้าออนไลน์แห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ใช้บิตคอยน์ในการซื้อพิซซ่า Papa John’s จำนวน 2 ถาดในราคา 10,000 BTC ซึ่งในขณะนั้นมีราคาเพียงแค่ 0.04 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากคิดมูลค่าในปัจจุบันก็เท่ากับ 7,531,529,100 ดอลลาร์สหรัฐ
การซื้อในครั้งนั้นเหมือนการจุดประกายให้ธุรกิจและคนที่เล่นบิทคอยน์เริ่มใช้เหรียญในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายคริปโตฯ เริ่มเปิดให้บิทคอยน์ซื้อขายได้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐในปี 2011 จากมูลค่า 1 ดอลลาร์ กลายเป็น 32 ดอลลาร์ต่อเหรียญในปีเดียวกัน เรียกว่าเติบโตอย่างรวดเร็วใน 3 เดือน
ชื่อเหรียญคริปโตยอดนิยม
1. Bitcoin (BTC)
2. Ethereum (ETH)
3. Tether USDt (USDT)
4. BNB (BNB)
5. XRP (XRP)
6. USD Coin (USDC)
7. Cardano (ADA)
8. Dogecoin (DOGE)
9. Solana (SOL)
10. TRON (TRX)
ที่มา : Finnomena, CoinmarketCap, Krungsri
บทความโดย BEE SUTTHICHAROEN
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 25 ส.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1085284