การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2496 เพื่อระงับการสู้รบระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น คือเดือนมิ.ย. 2493 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการยุติสงคราม “เป็นการถาวร” เท่ากับว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จึงยังคงมีสถานะเป็นประเทศคู่สงคราม จนถึงปัจจุบัน
ผ่านมาแล้ว 70 ปี คาบสมุทรเกาหลียังคงแบ่งแยก รัฐบาลของสองเกาหลียังคงมองอีกฝ่าย “เป็นภัยคุกคามภายนอก” ขณะเดียวกัน ความตึงเตรียดดังกล่าว สร้างแรงกระเพื่อมมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน สองประเทศมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน
สงครามเกาหลีปะทุอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2490 ท่ามกลางการแข่งขัน ระหว่างประเทศมหาอำนาจสองขั้วในเวลานั้น คือสหรัฐและสหภาพโซเวียต โดยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดตั้งแต่ปี 2488 สหรัฐและสหภาพโซเวียตต่างยึดครองคาบสมุทรเกาหลีคนละครึ่ง หลังญี่ปุ่นซึ่งเคยมีอิทธิพลเหนือพื้นที่แห่งนี้มาก่อน ตั้งแต่ปี 2453 ยอมปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง
การแบ่งแยกคาบสมุทรเกาหลีด้วยเส้นขนานที่ 38 มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จัดตั้งรัฐบาล เมื่อปี 2491 โดยรัฐบาลเปียงยางได้รับความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และรัฐบาลโซลได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐ
แผ่นป้ายรำลึกครบรอบ 70 ปี ข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี เขียนว่า “ชัยชนะในสงครามแห่งการปลดปล่อยปิตุภูมิ” ใกล้กับโรงแรมรยูกย็อง ในกรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ
ในเวลานั้น เกาหลีเหนือภายใต้การนำของนายคิม อิล-ซุง ประธานาธิบดีตลอดกาล และเกาหลีใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอี ซึง-มัน ต่างแสดงจุดยืนอันมุ่งมั่นไปในทางเดียวกัน ว่าต้องการผนวกรวมคาบสมุทรเกาหลี “ให้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน” อย่างไรก็ตาม ต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไข ว่ารัฐบาลของตัวเอง “ต้องมีอำนาจและอิทธิพลมากกว่า” อีกฝ่าย
จนกระทั่งวันที่ 25 มิ.ย. 2490 กองทัพประชาชนเกาหลี (เคพีเอ) และกองทัพสหภาพโซเวียต เคลื่อนพลข้ามเส้นขนานที่ 38 เข้ามาปฏิบัติการในเกาหลีใต้ ท่ามกลางการประเมินสถานการณ์โดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ณ เวลานั้น ว่าการสู้รบ “เป็นโอกาสดี” ของการประสานรอยร้าว และผนวกรวมชาติ อันจะเป็นการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสองเกาหลีที่เรื้อรังมานาน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทว่าทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากกว่าเดิม มีผู้เล่นจากนอกคาบสมุทรเกาหลีเข้ามามีบทบาท แน่นอนว่า คือ สหรัฐ และร่วมด้วยสหภาพโซเวียตกับจีน
ความสูญเสียจากสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั้งสองฝ่าย ถือได้ว่า มากมายจนประเมินค่ามิได้ เวลาล่วงเลยไป จนการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง เริ่มขึ้นเมื่อปี 2494 แต่ใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าคู่กรณีทุกฝ่ายจะสามารถลงนามร่วมกันได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องเชลยศึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
ทั้งนี้ เชลยศึกชาวเกาหลีเหนือและจีน ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และสามารถเลือกได้เองว่า ประสงค์จะเดินทางไปที่แห่งใด ตรงข้ามกับสถานการณ์ชองเชลยศึกในเกาหลีเหนือ ที่มีแต่ความคลุมเครือ และยังมีจำนวนไม่น้อยคงอยู่ในสถานะผู้สูญหาย ขณะที่นายอี ซึง-มัน ลั่นวาจาว่า ต้องการผนวกรวมคาบสมุทรเกาหลีให้ได้ ภายในวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำของตัวเอง
นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม ผูก “ริบบิ้นแห่งสันติภาพ” ตามแนวรั้วใกล้กับหมู่บ้านปันมุนจอม ที่เมืองปาจู เกาหลีใต้
แม้การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี สามารถเกิดขึ้นได้ในที่สุด อย่างไรก็ดี มีความพยายามจัดการประชุมที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2497 เพื่อต่อยอดและยกระดับความพยายาม นำไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี ทว่าการเจรจาครั้งนั้นไม่ได้อะไรมากนัก เนื่องจากรัฐบาลเปียงยางและรัฐบาลโซล ยังคงมีจุดยืนพื้นฐานที่แตกต่างกันอย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ทหารต่างชาติจำนวนมากยังคงปักหลักอยู่บนคาบสมุทรเกาหลี โดยทหารสหรัฐอยู่ที่เกาหลีใต้ และทหารจีนอยู่ในเกาหลีเหนือ ด้านทำเนียบขาวจับตาการเคลื่อนไหวของจีนในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในเวลานั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นประเทศเกิดใหม่ได้เพียง 4 ปีเท่านั้น และการที่รัฐบาลปักกิ่ง เป็นหนึ่งในภาคีของข้อตกลงหยุดยิงสงครามเกาหลี สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลวอชิงตัน ว่าอาจเป็นการปูทางเพื่อเพิ่มบทบาทให้แก่จีน บนเวทีการทูตและความมั่นคงระหว่างประเทศ
สงครามเกาหลีมอบบทเรียนครั้งสำคัญให้แก่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังคงขับเคลื่อนนโยบายแตกต่างกันอย่างชัดเจนทุกด้าน
อย่างไรก็ตาม หากความตึงเครียดระหว่างสองเกาหลีบานปลายเป็นการต่อสู้กันขึ้นมาอีกครั้งในยุคสมัยนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะบนคาบสมุทรเกาหลีอีกต่อไป หนทางที่เหมาะสมและสมควรจะเป็นมากที่สุด เพื่อยับยั้งไม่ให้สถานการณ์ต้องดำเนินไปถึงจุดนั้น นั่นคือการที่ทุกฝ่าย ต้องมีฉันทามติร่วมกันเพื่อการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน.
บทความโดย ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AFP
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 30 ก.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2573342/