• ไนเจอร์ ประเทศในแอฟริกาตะวันตกต้องเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด หลังคณะทหารได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ และไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกที่กดดันให้ปล่อยตัว ปธน.ทันที
• อะไรคือปัจจัยที่เปิดช่องให้คณะทหารในไนเจอร์ นำมาเป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหาร ล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางส่วนในไนเจอร์ ที่ออกมาชุมนุมด้วยความดีใจ และยังส่งเสียงเชียร์ รัสเซีย รวมทั้งกลุ่มทหารรับจ้าง ‘วากเนอร์’
• โลกจับตาท่าทีกลุ่มชาติแอฟริกาตะวันตก ในนาม ECOWAS ว่าจะส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซง หลังพ้นกำหนดเส้นตาย 7 วัน เพื่อหวังยุติเหตุรัฐประหารในไนเจอร์หรือไม่
เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ที่สถานการณ์ในไนเจอร์ ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ต้องตกอยู่ในความตึงเครียด ไร้เสถียรภาพ หลังจากกลุ่มทหารที่มีอิทธิพลในกองทัพ ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลพลเรือน และควบคุมตัวประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม และครอบครัว ตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา
ที่น่าวิตก ก็คือ เหตุรัฐประหารในไนเจอร์ ซึ่งทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับกินี, บูร์กินาฟาโซ และมาลี ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ที่เกิดรัฐประหารไปก่อนหน้านั้น ยังมีทีท่าส่อเค้าบานปลาย จนถึงขั้นมีคำเตือนออกมาแล้วว่าสามารถจะสั่นคลอนเสถียรภาพภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้เลยทีเดียว
คณะทหารประกาศก่อรัฐประหาร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติไนเจอร์
ส่องปัจจัยนำไปสู่การเกิดรัฐประหารในไนเจอร์
ไนเจอร์ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และตั้งอยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ในแอฟริกาตะวันตก มีประชากรประมาณ 15 ล้านคน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
การเกิดรัฐประหารในไนเจอร์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เคยเกิดการรัฐประหารในสมัยประธานาธิบดี Mamadou Tandja ที่โดนกองทัพยึดอำนาจในปี ค.ศ. 2010
สำหรับการก่อรัฐประหารครั้งนี้ คณะทหารนำโดย พล.อ.อับดูราฮามาเน ชีอานี ผู้บัญชาการกองกำลังอารักขาประธานาธิบดี ซึ่งประกาศตั้งตัวเองเป็นผู้นำคนใหม่ของไนเจอร์ ได้อ้างเหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานธิบดีบาซูมว่า เนื่องจากความไม่มั่นคงในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับเศรฐกิจย่ำแย่ และการไร้ธรรมาภิบาลในประเทศ
พล.อ.อับดูราฮามาเน ชีอานี ประกาศตั้งตัวเองเป็น ผู้นำใหม่ของไนเจอร์ หลังคณะทหารก่อรัฐประหารเมื่อ 26 ก.ค.2023
ในขณะที่ สถานการณ์ในไนเจอร์ ถึงแม้มีกำลังทหารต่างชาติ โดยเฉพาะทหารจากฝรั่งเศส ในฐานะที่เคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของไนเจอร์มาก่อน รวมทั้งสหรัฐฯ ถูกส่งมาประจำการ ตั้งฐานทัพอยู่ในไนเจอร์ แต่ก็ดูเหมือนไม่สามารถหยุดยั้งเหตุการณ์รุนแรง-ความไม่สงบ จากการถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงให้ลดน้อยได้
ตอนนี้ มีกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอัลเควดา กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอซิส และกลุ่มโบโกฮาราม ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในไนเจอร์ จนทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปหลายพันศพและผู้คนจำนวนมากต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหาความปลอดภัย
กลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐประหาร ออกมาชุมนุมแสดงความยินดี โบกสะบัดธงชาติรัสเซีย
ผู้ประท้วงในไนเจอร์ เชียร์รัสเซีย-กลุ่มวากเนอร์
หลังเกิดรัฐประหารในไนเจอร์ แม้มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็มีเยาวชนหลายร้อยคนรวมกลุ่มกันในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์ เพื่อเฉลิมฉลองด้วยความยินดี พร้อมกับโบกสะบัดธงชาติรัสเซีย ที่ได้เข้าไปขยายอิทธิพลทั้งเศรษฐกิจ การทหารและการเมืองในทวีปแอฟริกา พร้อมทั้งยังตะโกนชื่อกลุ่มทหารรับจ้างเอกชน ‘วากเนอร์’ ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงได้ประณามฝรั่งเศส และยังบุกเข้าไปในสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงนีอาเม และจุดไฟเผาประตูด้วย
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนบางส่วนในเจอร์เชื่อมั่นในคณะก่อรัฐประหารซี่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และกลุ่มวากเนอร์ว่าจะสามารถต่อสู้ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงได้ดีกว่ารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาซูม ซึ่งถือเป็นพันธมิตรหลักในภูมิภาคนี้ของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ
กลุ่มผู้ประท้วงบุกทำลายทรัพย์สินและจุดไฟเผาประตูสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม หลังเกิดรัฐประหาร
กองทัพไนเจอร์มองทหารต่างชาติเข้ามาบ่อนทำลาย
ขณะเดียวกัน การมีกำลังทหารต่างชาติอยู่ในไนเจอร์จำนวนมากและตั้งฐานทัพอยู่ในไนเจอร์นั้น ไม่ได้รับการต้อนรับด้วยดีจากทหารในกองทัพไนเจอร์ โดยเชื่อว่าทหารต่างชาติเหล่านี้เข้ามาบ่อนทำลายกองทัพ
ในขณะที่ไนเจอร์ เป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตกในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงนั้น ฝรั่งเศสได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยูเรเนียมในไนเจอร์ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งถูกมองว่าแสวงผลประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงในไนเจอร์ด้วย
ในปี 2019 สหรัฐฯ ได้เปิดฐานโดรนแห่งหนึ่งที่ไนเจอร์ ท่ามกลางเสียงประท้วงต่อต้านของประชาชน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไนเจอร์ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงและทำให้ประเทศชาติไร้เสถียรภาพมากขึ้น
ในปี 2022 ฝรั่งเศสและชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในยุโรปได้ถอนกำลังออกจากมาลี ประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ประธานาธิบดีบาซูมกลับเปิดประตูเชื้อเชิญให้ทหารต่างชาติเหล่านี้เข้ามาประจำการในไนเจอร์ทันที
ผู้แทนชาติสมาชิกกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ร่วมประชุมฉุกเฉินที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงไนจีเรีย เมื่อ 31 ก.ค.2023 หลังเกิดรัฐประหารในไนเจอร์
จับตากลุ่ม ECOWASจะใช้กำลังทางทหารหรือไม่ หลังเลยเส้นตาย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากเหตุรัฐประหารในไนเจอร์ นอกจากประชาคมโลก ชาติตะวันตกได้ออกมาประณามและเรียกร้องให้คณะก่อรัฐประหารในไนเจอร์ปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม ขณะเดียวกันชาติตะวันตกเหล่านี้ก็มีการอพยพประชาชนออกจากไนเจอร์นั้น
เรื่องที่กำลังถูกจับตาก็คือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้นำประเทศแอฟริกาตะวันตก 15 ชาติ ในนามสมาชิกกลุ่ม ‘ประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก’ หรือ ECOWAS ซึ่งได้ไปร่วมประชุมฉุกเฉินกันที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงไนจีเรีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ขีดเส้นตายให้คณะรัฐประหารในไนเจอร์ ต้องปล่อยตัวและคืนอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีบาซูม ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นกลุ่ม ECOWAS จะใช้ทุกมาตรการที่มี เพื่อฟื้นฟูการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่ไนเจอร์ รวมทั้งการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน และการใช้กำลังทางทหาร
ท่าทีแข็งกร้าวของกลุ่ม ECOWAS ที่ประกาศจะใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซง ยุติเหตุรัฐประหารในไนเจอร์ ต้องถือเป็นครั้งแรกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่กลุ่ม ECOWAS ได้พิจารณาและตกลงกันว่าจะใช้กำลังทางทหารเข้าไปแทรกแซง และฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศที่เกิดเหตุรัฐประหารเลยทีเดียว หลังจากถูกมองว่าล้มเหลวในการหยุดยั้งเหตุรัฐประหารในกินี,บูร์กินาฟาโซ และมาลี
ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 และวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2023 เมืองใหญ่หลายเมืองของไนเจอร์ต้องตกอยู่ในความมืด ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยการไฟฟ้าไนเจอร์ชี้ว่า เนื่องมาจากถูกไนจีเรีย ชาติเพื่อนบ้านทางใต้ ‘ตัดไฟ’ ไม่ยอมจ่ายกระแสไฟฟ้ามาให้ จนทำให้มีการวิเคราะห์ว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ECOWAS ในการตอบโต้การก่อรัฐประหารในไนเจอร์หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องติดตามสถานการณ์ตึงเครียดในไนเจอร์กันต่อไปว่า กลุ่ม ECOWAS จะส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซง เพื่อหวังยุติเหตุรัฐประหารในไนเจอร์หรือไม่ และขณะเดียวกัน คณะก่อรัฐประหารในไนเจอร์ จะต้องไปพึ่งพิงรัฐบาลทหารของชาติเพื่อนบ้านในมาลี รวมถึงรัสเซีย และกลุ่มวากเนอร์ เพื่อสู้กับชาติตะวันตกและกลุ่ม ECOWAS หรือไม่
เพียงแค่คิดว่าสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้น คำเตือนที่ว่า เหตุรัฐประหารในไนเจอร์ สามารถจะสั่นคลอนภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกได้นั้น ก็พอส่อเค้ารางขึ้นแล้ว
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์
ที่มา : theconversation, BBC
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 ส.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2714448?gallery_id=5