ความขัดแย้ง คอซอวอ-เซอร์เบีย ส่อแววบานปลาย หลังมีคนกลุ่มหนึ่งควงปืนและบุกยึดโบสถ์ ซึ่งมีชาวเซอร์เบีย ชนชาติคู่ขัดแย้งของคอซอวออาศัยอยู่
นอกจากความขัดแย้งสงครามยูเครน ตอนนี้อีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นจุดเสี่ยง และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งอีกจุดหนึ่งในยุโรป คือ คอซอวอ พื้นที่ในคาบสมุทรบอลข่าน หลังจากคอซอวอและเซอร์เบียต่างโจมตีกันไปมาอยู่เป็นระยะ ล่าสุดความขัดแย้งส่อแววบานปลาย จากเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น โดยความวุ่นวายเริ่มต้นจากการที่มีตำรวจคอซอวอนายหนึ่ง ถูกยิงที่บริเวณหมู่บ้านบานช์สกา เมืองโยเชวิก ทางตอนเหนือของคอซอวอ ไม่ไกลนักจากชายแดนเซอร์เบีย และเป็นพื้นที่ที่มีชาวเซอร์เบียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
หลังจากนั้น มือปืนชาวเซิร์บกว่า 30 คน ได้เข้าบุกยึดโบสถ์ออร์โธดอกซ์ของหมู่บ้านบานช์สกา และยิงปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจคอซอวอ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การต่อสู้ระหว่างตำรวจคอซอวอ และกลุ่มมือปืนเกิดขึ้นอย่างดุเดือดตลอดทั้งวัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกโจมตีด้วยอาวุธหนักนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นระเบิด หรือเครื่องยิงจรวดชนิดประทับบ่า ขณะที่กลุ่มนักบวชและผู้แสวงบุญต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์ดังกล่าวนานหลายชั่วโมง
หลังการปะทะสิ้นสุดลง ทางการคอซอวอรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พร้อมกับแพร่ภาพนิ่งของกลุ่มผู้ก่อเหตุออกมาด้วย ขณะเดียวกัน ทางการคอซอวอระบุว่า ผลจากการต่อสู้อย่างดุเดือดตลอดทั้งวัน ทำให้มือปืน 3 รายเสียชีวิต และบางส่วนถูกทางการจับกุมตัวไว้ได้
ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา อัลบิน เคอร์ติ นายกรัฐมนตรีคอซอวอ ได้ออกมารายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าผลการสืบสวนหลังจากนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่กระจ่างขึ้นว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้
ในวันเดียวกัน นายกฯ เคอร์ติของคอซอวอ พร้อมกับประชาชนบางส่วนในกรุงพริสทีนา ทำพิธีจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่อาฟริม บุนยาคู นายตำรวจชาวคอซอวอที่ถูกยิงเสียชีวิตด้วย
แม้จะยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่า ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ส่งมือปืนบุกยึดโบสถ์ในคอซอวอ แต่สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า นายกฯ คอซอวอ ได้กล่าวโทษรัฐบาลเซอร์เบียว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้ โดย นายกฯ คอซอวอ ได้ใช้คำเรียกกลุ่มผู้ก่อเหตุว่า “Serbia-sponsored criminals” หรือ อาชญากรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซอร์เบีย
ด้านอเล็กซานดาร์ วูชิช ประธานาธิบดีเซอร์เบีย ก็ได้ออกมาแถลงข่าวเช่นเดียวกัน โดยยืนยันเหตุการณ์การบุกยึดโบสถ์ที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีเซอร์เบียระบุว่า กลุ่มมือปืน 30 คนถูกปิดล้อมและโจมตีอย่างโหดร้าย โดยมือปืน 2 ใน 3 คนที่เสียชีวิต ถูกยิงด้วยปืนสไนเปอร์จากระยะไกล ซึ่งทางการคอซอวอไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่ต้องทำเช่นนั้น
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเซอร์เบียยังได้กล่าวประณามการกระทำของตำรวจคอซอวอ ที่ปฏิเสธมอบความช่วยเหลือให้กับมือปืนชาวเซิร์บที่ได้รับบาดเจ็บ ทางการเซอร์เบียยืนยันว่ามีหลักฐานเรื่องนี้ และกำลังแปลเอกสารเพื่อเตรียมเผยแพร่หลังจากนี้
ก่อนที่ประธานาธิบดีเซอร์เบียจะกล่าววิจารณ์นายกฯ เคอร์ตีของคอซอวอย่างตรงไปตรงมา ว่าละทิ้งประชาชน และไม่มีใครต้องการสงครามเท่านายกฯ คอซอวอรายนี้อีกแล้ว
หลายฝ่ายกังวลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในคอซอวอครั้งนี้ อาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น และอาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่อีกแห่งคาบสมุทรบอลข่าน จนบั่นทอนเสถียรภาพในยุโรป คอซอวอตั้งอยู่ตรงไหน และทำไมจึงกลายเป็นอีกจุดหนึ่งที่หลายฝ่ายในยุโรปต้องเฝ้าระวัง
คอซอวอเป็นประเทศที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นที่ทางตอนเหนือติดกับชายแดนเซอร์เบีย ที่นี่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเซิร์บ คาดกันว่ามีราว 50,000 คนคนเหล่านี้ไม่ยอมรับเอกราชของคอซอวอ เนื่องจากมองว่าพื้นที่นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย อย่างไรก็ตามในมุมของคอซอวอ ชาวเซิร์บกลุ่มนี้เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยของประเทศ
ความขัดแย้งระหว่างคอซอวอและเซอร์เบียที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ ถือเป็นผลผลิตที่ตกค้างมาจากสงครามเย็น
ในช่วงที่โซเวียตยังเรืองอำนาจ ภูมิภาคบอลข่านเป็นที่ตั้งของประเทศขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากการรวมหลายชาติพันธุ์ไว้ด้วยกันในนาม ยูโกสลาเวีย รัฐชาติที่มีขนาดเทียบเท่ากับสหราชอาณาจักรถูกปกครองโดยจอมพลโยซิป บรอซ ติโต ผู้ยึดมั่นในหลักการสังคมนิยม วัฒนธรรมและความเชื่อที่ต่างกันของผู้คนถูกกดเอาไว้ ดังนั้นสังคมรวมเป็นหนึ่งด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง
ความแตกต่างด้านเชื้อชาติและความเชื่อจึงไม่เป็นปัญหามากนัก หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 กลุ่มชาติพันธุ์ในยูโกสลาเวีย เริ่มแยกตัวก่อตั้งประเทศใหม่ แต่หนทางสู่เอกราชของกลุ่มต่าง ๆ ในยูโกสลาเวียไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสลอบอตัน มิโลเซวิช ผู้นำยูโกสลาเวียที่ขึ้นมารับอำนาจต่อจากนายพลติโตในช่วงสิ้นทศวรรษ 1980 ไม่พอใจการแยกตัวของชาติพันธุ์ต่างๆ ในยูโกสลาเวีย
ความไม่พอใจดังกล่าวนำไปสู่สงครามใหญ่ในคาบสมุทรบอลข่านในช่วงปี 1991-1999 จนมีผู้เสียชีวิตหลักแสนคน ก่อนที่ชาติบอลข่านจะแยกตัวเป็นประเทศต่างๆ
คอซอวอก็ถือเป็นหนึ่งในชาติบอลข่านที่ต้องการประกาศเอกราช แต่ก็นำไปสู่สงครามเช่นเดียวกันในปี 1998-1999 จนมีผู้เสียชีวิตไปจำนวนมาก สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจนชาติตะวันตกหวั่นเกรงว่า จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอัลเบเนียในคอซอวอ และตัดสินใจส่งกองกำลังของนาโตกว่า 50,000 นายไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพที่คอซอวอในปี 1999 สงครามในคอซอวอจบลงแตกต่างจากชาติบอลข่านอื่น ๆ เนื่องจากคอซอวอยังคงเป็นเขตการปกครองพิเศษของ เซอร์เบียภายใต้การดูแลของทหารนาโตกว่า 50,000 นาย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี 2008 คอซอวอตัดสินใจประกาศเอกราชแบบฝ่ายเดียวจากเซอร์เบีย และในปีนั้นมีประเทศต่าง ๆ ในโลกรับรองการประกาศเอกราชของคอซอวอถึง 53 ประเทศ จนถึงตอนนี้ มีประเทศที่รับรองเอกราชของ คอซอวอแล้ว 113 ประเทศ ยกเว้นเซอร์เบีย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของคอซอวอ
นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ทั้งสองชาติมีความขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะ ๆ และหลายชาติในยุโรปพยายามไกล่เกลี่ย หาทางออกให้ทั้งสองชาติบรรลุสันติภาพได้โดยเร็ว
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปและองค์การนาโตได้ยื่นข้อเสนอ ให้คอซอวอบังคับใช้แผนสันติภาพกับเซอร์เบีย เพื่อให้สามารถเข้าเป็นสมาชิกอียูและนาโตได้โดยเร็ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา หรือเพียง 8 วันก่อนเกิดเหตุยึดโบสถ์ทางตอนเหนือของคอซอวอ โจเซฟ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป ได้ออกมาเตือนทั้งคอซอวอและเซอร์เบียว่า หากทั้งสองชาติไม่ปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติและเจรจาร่วมกันเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง ทั้งสองชาติจะไม่มีโอกาสได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและต้องตามหลังชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ค่อย ๆ กลายเป็นสมาชิกอียู
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในคอซอวอ อาจกลายเป็นสงครามใหญ่จุดที่สองในยุโรป และดึงชาติอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยคอซอวอมีพันธมิตร คือ ชาติตะวันตก ขณะที่เซอร์เบียมีพันธมิตร คือ รัสเซีย ลักษณะความขัดแย้งนี้แทบไม่แตกต่างจากสงครามในยูเครน มีตัวแสดงเช่นเดิม เพียงแค่เปลี่ยนภูมิประเทศ
ดังนั้น การออกมาเตือนให้เซอร์เบียและคอซอวอ ให้กลับเข้าสู่หนทางการเจรจาจึงไม่ใช่แค่การปรับความสัมพันธ์ แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้รัสเซียใช้ความขัดแย้งของทั้งสองชาตินี้ สร้างสงครามที่สองต่อจากสงครามในยูเครน เพื่อบั่นทอนกำลังและเสถียรภาพของยุโรป
—————————————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 27 ก.ย. 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/206563