ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีการติดต่อสื่อสารผ่าน “สายด่วนเหตุฉุกเฉิน” เป็นครั้งแรก ระหว่างสองมหาอำนาจของโลก นั่นคือ สหรัฐ และรัสเซีย
ข้อความแรกซึ่งลงวันที่ 30 ส.ค. 2506 เป็นการสื่อสารระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลมอสโก เป็นการทดสอบตัวอักษรทุกตัวบนแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ ด้วยข้อความว่า “THE QUICK BROWN FOX JUMPED OVER THE LAZY DOG’S BACK 1234567890”
ทว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สายด่วนที่มีชื่อเสียงนี้ ดำเนินการเพื่อจัดการความตึงเครียด หรือส่งคำเตือน ระหว่างรัฐบาลวอชิงตัน และรัฐบาลมอสโก ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายอยู่ในระดับ “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ภายหลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565
แนวคิดสายด่วนดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา เมื่อปี 2505 โดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ผู้นำสหรัฐ และนายนิกิตา ครุชชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต เห็นพ้องต้องกันว่า โลกเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์มากเกินไป
นายฮาวเวิร์ด แพตทริก นักภาษาศาสตร์ผู้ช่วยดำเนินการสายด่วนครั้งแรก กล่าวว่า เพนตากอน ซึ่งมีหน้าที่จัดการการสื่อสารของสหรัฐ มักจะส่งข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ผลคะแนนเบสบอล ขณะที่ทำเนียบเครมลิน เลือกส่งบทคัดย่อจากวรรณกรรมคลาสสิกของรัสเซีย
การใช้งานสายด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2510 ช่วง “สงครามหกวัน” ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีอเล็กเซ โคซีกิน ว่าปฏิบัติการของสหรัฐไม่ได้มุ่งเป้ากองกำลังของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งโคซีกิน ตอบกลับด้วยการเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งในทันที และขอให้จอห์นสันช่วยกดดันอิสราเอล
นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียแล้ว สายด่วนนี้ยังถูกใช้เพื่อออกคำเตือนไปยังอีกฝ่ายด้วย ดังเช่นในปี 2522 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ใช้สายด่วนติดต่อหานายเลโอนิด เบรจเนฟ เพื่อประณามการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต แต่หลังจากนั้นไม่นาน สหรัฐก็เริ่มให้ทุนสนับสนุนแก่กองโจรอิสลาม
ปีต่อมา คาร์เตอร์ส่งข้อความเตือนสหภาพโซเวียตอีกครั้ง เกี่ยวกับ “ผลกระทบร้ายแรงที่ตามมา” หากพวกเขาบุกโปแลนด์เพื่อจัดการกับนักปฏิรูปในขบวนการสภาพแรงงานโซลิดาริตี ( reformist Solidarity trade union movement ) จนท้ายที่สุด รัฐบาลมอสโกก็ไม่แทรกแซง
แม้สายด่วนถูกแทนที่ด้วยลิงก์อีเมล ภายในปี 2551 แต่มันยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของการส่งข้อความที่เป็นทางการ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา หันมาใช้สายด่วนเมื่อปี 2559 เพื่อประท้วงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่กล่าวหาว่า เขาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ
ทั้งนี้ทั้งนั้น สหรัฐลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสายด่วนเหตุฉุกเฉิน ได้ถูกใช้เพื่อส่งข้อความสำคัญ เช่น คำเตือนเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยมีนายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) เป็นคนกลางสำคัญ.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 ก.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2683738/