รัฐมนตรีดีอี เผยผลดำเนินงาน “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” พร้อมวางนโยบายทำงานเชิงรุกให้คนไทย สร้างวัฒนธรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนแชร์ต่อในโลกออนไลน์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ดำเนินการต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และรวมถึงปัญหา Call Center ที่ทันต่อเหตุการณ์ จะเร่งรัดให้ใช้เทคโนโลยีป้องกันปราบปรามหลอกลวงออนไลน์ และ Central Fraud Registry พร้อมประสานงาน 300 หน่วยงาน ทำหน้าที่การตรวจสอบและเผยแพร่ข่าวที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
สำหรับระยะต่อไปของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะต้องเร่งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. การตั้ง Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงิน และภัยออนไลน์ ที่ทําให้ประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจํานวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ปัจจุบันมีการแอบอ้างโลโก้หน่วยงานรัฐ ปลอมแปลงเว็บไซต์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (SMS /Call Center) เป็นต้น
2. การนำเอาเทคโนโลยี Data Analytics และ AI มาใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เป็นกลาง และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ในการตรวจสอบและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ในประเด็นต่างๆ ให้มีความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ และสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้แชร์ข่าวปลอม เป็นลักษณะ AFNC AI เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ Link ข่าวผ่านเว็บไซต์ AFNC ได้ ว่า ตรง/ไม่ตรง ตามฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ใน 4 ปี
ระบบสามารถแสดงผลการตรวจสอบได้เลย ว่าที่ส่งมานั้น ตรงกับฐานข้อมูลเราอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ เช่น จาก Link ที่ส่งมาตรงกับฐานข้อมูลข่าวปลอม 70% โดยแสดงผลแบบ Highlight ว่า Wording ส่วนไหนบ้างที่ตรง ส่วนไหนที่ไม่ตรง และจะเรียกว่าเป็น AFNC Search AI ที่สามารถให้ข้อมูลได้เลยเมื่อ Search หาข่าวที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลออกมาเป็นข้อมูลได้เลย
3. การสร้าง Cyber Vaccine สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงสูง ได้แก่ กลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ เร่งสร้างความตระหนักรู้ รู้เท่าทัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ หากมีกิจกรรมให้ความรู้อย่างเหมาะสม ก็สามารถเป็นผู้ที่ช่วยในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จต่าง ๆ แก่คนรอบตัว คนในชุมชนตนเอง และช่วยสร้างวัฒนธรรมการรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณก่อนจะเผยแพร่หรือส่งต่อในอินเทอร์เน็ต มุ่งเร่งเครื่องสร้างภูมิคุ้มกันให้ไม่หลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวลวง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ได้
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีการพูดคุยขอความร่วมมือร่วมกับกระทรวงกลาโหมในการจัดการกวาดล้าง เสาสัญญาณเถื่อนตามแนวตระเวนชายแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการดำเนินการเชิงรุกของกระทรวง เพราะเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย
รวมถึงได้มุ่งเน้นกิจกรรมให้เด็กและเยาวชน (อายุระหว่าง 13-18 ปี) ให้มีส่วนร่วม โดยจัดกิจกรรมประกวดการผลิตคลิปวิดีโอสั้น TikTok ภายใต้หัวข้อ “รู้ทัน Fake News” และเพื่อเสริมสร้างการรับรู้เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอมในโรงเรียน
สำหรับปัจจุบัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีจำนวนผู้ติดตามช่องทางสื่อสาร ของศูนย์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) ดังนี้
1) Website: www.antifakenewscenter.com จำนวน 16,275,981 ผู้รับชม
2) Line Official Account: @antifakenewscenter จำนวน 2,779,953 ผู้ติดตาม
3) Facebook: Anti-Fake News Center Thailand จำนวน 108,274 ผู้ติดตาม
4) Twitter: @AFNCThailand จำนวน 16,682 ผู้ติดตาม
5) Instagram: afnc_thailand จำนวน 709 ผู้ติดตาม และ
6) TikTok: @antifakenewscenter จำนวน 556 ผู้ติดตาม
จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนมากกว่า 1,085,707,543 ข้อความ โดยมีข่าวที่ข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบ 49,725 ต้นโพสต์ และทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ทำการเผยแพร่ข่าว 6,390 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากสื่อหลัก นำข้อมูลไปนำเสนอผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ของกลุ่มผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ที่ติดตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า แต่ละแพลตฟอร์มจะมีกลุ่มช่วงอายุของผู้ติดตามต่างกันเล็กน้อย เช่น LINE ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 45-54 ปี แต่ TikTok และ X.com จะมีกลุ่มผู้ติดตามที่มีอายุน้อย แต่ในภาพรวมผู้ติดตามศูนย์ฯ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน จึงเป็นความท้าทายของศูนย์ฯ ที่จะต้องปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้าถึง กลุ่มวัยรุ่น และผู้สูงวัยให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน จากสถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน พบว่า คนอายุ 35-44 ปี ให้ความสนใจติดตามข่าวสารจากศูนย์ฯ มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ เมื่อเทียบกับการติดตามของแพลตฟอร์มของศูนย์ฯ ที่มีการติดตามสูงสุดในช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้จะมีการติดตามข่าวสารในช่องทางออนไลน์ หรือ ใช้สื่อโซเชียลในการติดต่อสื่อสาร และจะพยายามทำความเข้าใจการคัดกรองข่าวสารก่อนจะแชร์ต่อ
อีกด้านของข้อมูล พบว่าคนที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกลุ่มอายุดังกล่าวจะใช้สื่อในการติดต่อค้นหาเพื่อนเก่าๆ ครอบครัว หรือ กลุ่มลูกหลาน โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ ไลน์ ในการติดต่อสื่อสาร และส่งต่อข้อมูลให้กัน โดยข้อความที่ส่งต่ออาจจะยังไม่ถูกคัดกรองว่าเชื่อถือได้หรือไม่ได้ รวมถึงอาจจะยังขาดทักษะ digital literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้พวกเขาติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 23 ก.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/news/2744658/