นายทาคาชิ โฮโซดะ อยู่ในตึกระฟ้าในกรุงโตเกียว ขณะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 แต่สถาปนิกที่ผ่านการฝึกอบรมคนนี้ไม่มีความกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากอาคารญี่ปุ่นสมัยใหม่ ได้รับการออกแบบเพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัย
100 ปี หลังจากกรุงโตเกียวถูกทำลายในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต เมื่อปี 2466 เมืองหลวงของญี่ปุ่นไม่มีความคล้ายคลึงกับเมืองที่เคยได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือน 7.9 แมกนิจูด ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนราว 105,000 คนในเวลานั้น
FRANCE 24 English
“ภัยพิบัติเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2466 ถือเป็นรุ่งอรุณของการออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น โดยในปีต่อมา ญี่ปุ่นประกาศประมวลข้อบังคับอาคารชุดแรก สำหรับการก่อสร้างอาคารที่ต้านทานแผ่นดินไหวได้” นายโยชิอากิ นากาโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว จากสถาบันวิจัยแห่งชาติเพื่อวิทยาศาสตร์โลกและการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ ( เอ็นไออีดี ) กล่าว
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของญี่ปุ่นตรวจสอบอุปกรณ์ฉุกเฉิน ที่เขตอาราคาวะ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มาตรฐานเหล่านี้ได้รับการขยายอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยบทเรียนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ประมวลข้อบังคับอาคารต้านทานแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในกฎระเบียบเข้มงวดที่สุดในโลก
แม้แผ่นดินไหว 9.0 แมกนิจูด เมื่อปี 2554 ทำให้เกิดสึนามิรุนแรง ตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น แถมตึกระฟ้าในเมืองยังสั่นไหวอย่างน่ากลัวนานหลายนาที ทว่ากรุงโตเกียวกลับได้รับความเสียหายไม่มาก และตึกเหล่านั้นก็ไม่ได้พังถล่มลงมาแต่อย่างใด
สุขาเคลื่อนที่ ภายในศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย ที่เขตอาราคาวะ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ โครงสร้างเสริมพื้นฐานในช่วงแรก ได้รับการปรับให้เข้ากับมาตรการด้านความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวที่ซับซ้อน ซึ่งพบได้ในอาคารสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงสั่นสะเทือน ของพื้นดินที่กระทำต่ออาคาร และการต้านทานการเคลื่อนตัวของอาคารระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
ภายหลังแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ เมื่อปี 2538 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย ญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างมาตรฐานการต้านทานแผ่นดินไหวสำหรับบ้านไม้หลังใหม่ และการพัฒนาอาคารอื่น ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ช่วงก่อนการยกเครื่องข้อบังคับอาคารครั้งใหญ่ ในปี 2524
ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นกำหนดให้วันที่ 1 ก.ย. ของทุกปีเป็น “วันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” ซึ่งในวันข้างต้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เด็กนักเรียน พนักงาน และข้าราชการ รวมถึงรัฐบาล จะร่วมกันฝึกจำลองสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีบางคนกล่าวว่า กรุงโตเกียวยังคงเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น อุทกภัย แม้จะมีความพยายามและมาตรการป้องกันมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากเขตตะวันออกของเมืองหลวงถูกสร้างขึ้นบนพื้นดินที่ไม่มั่นคง และเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม อีกทั้งยังมีบ้านไม้เก่าแก่ตั้งอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น
นายมาซายูกิ ทาเคมุระ นักแผ่นดินไหววิทยา ชี้ให้เห็นถึง “การกระจุกตัวมากเกินไปของตึกระฟ้า” และการก่อสร้างพื้นที่อยู่อาศัยบนเกาะเทียม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการแยกตัวออกจากกัน ในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุเพิ่มเติมว่า มีโอกาส 70% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงโตเกียว ภายใน 30 ปีข้างหน้า.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 13 ก.ย.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2707920/