ย้อนกลับไป 50 ปีก่อน เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2516 เกิดเหตุคนร้ายชื่อ “แจน-เอริก โอลส์สัน” บุกปล้นธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และจับตัวประกันไว้เป็นเวลา 6 วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นของคำว่า “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” หรืออาการที่ตัวประกันเกิดความรู้สึก และความผูกพันทางอารมณ์กับคนร้าย
ตอนนั้น โอลส์สัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อเล่นว่า “ยานเน” จับพนักงานธนาคาร 4 คนเป็นตัวประกัน ขณะที่ตำรวจและสื่อ ต่างล้อมรอบจัตุรัสด้านนอกธนาคารเครดิตแบงเคน โดยมีมือปืนซุ่มยิงอยู่ในอาคารโดยรอบ และปืนทุกกระบอกชี้ตรงไปที่ธนาคาร
“หลังจากนั้น ฉันมักจะนึกถึงสถานการณ์บ้าบอที่พวกเราเผชิญในตอนนั้น มันคือความหวาดกลัว จากการอยู่ระหว่างคำขู่ฆ่าของทั้งสองฝ่าย ระหว่างตำรวจ กับโจร” นางคริสติน เอ็นมาร์ค ตัวประกันในเหตุการณ์ดังกล่าว เขียนเล่าในหนังสือของเธอที่ชื่อ “I Became the Stockholm Syndrome”
โอลส์สันใช้ตัวประกัน 2 คน เป็นโล่มนุษย์ และขู่ฆ่าพวกเขา รวมทั้งขอเงิน 3 ล้านโครนาสวีเดน (ราว 24.5 ล้านบาทในเวลานั้น) และให้พาตัวนายคลาร์ก โอลอฟส์สัน หนึ่งในโจรปล้นธนาคารที่ฉาวโฉ่ที่สุด ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในขณะนั้น มาที่ธนาคาร โดยรัฐบาลสวีเดนยอมทำตามข้อต่อรองของโอลส์สัน เพื่อบรรเทาความตึงเครียดของสถานการณ์
The psychology behind Stockholm syndrome – explained pic.twitter.com/l4V1HadYL9
— TRT World (@trtworld) August 23, 2023
เมื่อโอลอฟส์สันมาถึง โอลส์สันมีท่าทีสงบลงในทันที ซึ่งในขณะเดียวกัน เอ็นมาร์คมองว่าโอลอฟส์สันเป็น “ผู้ช่วยชีวิต” อย่างรวดเร็ว กระทั่งในเวลาต่อมา สิ่งที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกตะลึงคือ การที่เอ็นมาร์คออกมาปกป้องฝ่ายคนร้าย โดยในภายหลัง เธอบอกกับนายกรัฐมนตรีสวีเดนว่า เธอมีช่วงเวลาที่ดีระหว่างที่ตกเป็นตัวประกัน เธอไม่กลัวคนร้ายทั้งสองคน และเชื่อพวกเขาสนิทใจ แต่ในทางกลับกัน เธอรู้สึกกลัวตำรวจ กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะบุกเข้ามาในธนาคาร หรือทำอะไรที่เป็นอันตรายกับเธอ
การปล้นธนาคารจบลงเมื่อตำรวจพ่นแก๊สเข้าไปในธนาคาร ส่งผลให้โอลส์สัน กับโอลอฟส์สัน ยอมจำนน และปล่อยตัวประกันทุกคน ขณะที่นายนิลส์ เบเยรอต จิตแพทย์ และสมาชิกของทีมเจรจา ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มโจรและตัวประกัน และบัญญัติคำว่า “สตอกโฮล์ม ซินโดรม” ขึ้นมาในที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายคริสตอฟเฟอร์ ราห์ม จิตแพทย์จากสถาบันคาโรลินสกา กล่าวว่า สตอกโฮล์ม ซินโดรม ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบาย “กลไกการป้องกัน” ซึ่งช่วยให้เหยื่อรับมือกับสถานการณ์ ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ
ด้านนางเซซิเลีย อาเซ ศาสตราจารย์ด้านเพศศึกษา จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ระบุว่า คำกล่าวของเอ็นมาร์ค และผู้หญิงคนอื่นที่เป็นตัวประกัน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความในมิติทางเพศอย่างมาก เหมือนกับว่าพวกเธอตกอยู่ในภายใต้มนต์สะกด
ทั้งนี้ ราห์มกล่าวเสริมว่า คนส่วนใหญ่สามารถระบุแนวคิดข้างต้นได้ในระดับจิตวิทยา พร้อมกับชี้ว่า ความผูกพันทางอารมณ์กับคนที่มีท่าทีคุกคาม สามารถเกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ที่โหดร้าย ซึ่งการทำความเข้าใจปฏิกิริยาทางจิตใจของเหยื่อ ยังช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดของพวกเขาได้อีกด้วย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 ส.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2651398/