การปรากฏ (หรือไม่ปรากฏ) ของ “AI (Artificial Intelligence)” จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง
AI ปฏิบัติการบนฐานอัลกอริทึม (algorithm) มีความสามารถในการคาดการณ์ ตัดสินใจ และให้คำแนะนำ ทั้งในฐานะผู้ช่วยตัดสินใจและผู้ตัดสินใจเองโดยอิสระ ผ่านกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าตามรสนิยมและความต้องการ การใช้ระบบจดจำใบหน้าในกิจกรรมต่าง ๆ หรือการค้นหาเส้นทางที่สะดวกที่สุด
นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ยังได้นำ AI ไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ อาทิ การพิจารณาเกี่ยวกับสวัสดิการ การกำหนดผู้ได้รับโควตาทางการศึกษา การจัดลำดับการรับบริการทางสาธารณสุข การวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อหลักการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ อย่างสิทธิมนุษยชน (human rights) หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination) และความยุติธรรม (justice)
เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าเชิงบวกและสามารถพาไปใกล้โลกที่มีความเสมอภาคมากขึ้นได้ (เช่น ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่มคนยิ่งขึ้น)
การใช้ AI ก็มีมิติที่น่าห่วงกังวล โดยเฉพาะในเรื่อง “การเข้าถึงความเป็นปัจเจก” (individuality) ของมนุษย์ ที่เสี่ยงต่อการกระทบกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผลกระทบในทางตรงกันข้ามเมื่อมีการนำ AI ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่) หรือเมื่อมีความขัดข้องของระบบ ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ชุดข้อมูลที่ทำให้ AI ตัดสินใจแบบมีอคติและเลือกปฏิบัติ การใช้ AI โดยมีความอ่อนไหวไม่เพียงพอในด้านความหลากหลาย ความแตกต่างของพลังอำนาจ และสภาวะเปราะบาง
การใช้ AI เพื่อปิดกั้นการแสดงออก และเพื่อตรวจตราสอดส่องอย่างไม่ได้สัดส่วนจนละเมิดความเป็นส่วนตัว เป็นต้น — ทั้งหมดนี้คือสภาวะที่กรอบคิดสิทธิมนุษยชนมุ่งป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
ภาพรวมของความท้าทายต่อกรอบคิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเห็นได้จาก 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. ความท้าทายต่อกรอบคิดและระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน และ 2. ข้ออภิปรายเกี่ยวกับสิทธิใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในโลกที่อยู่ร่วมกับ AI
สิทธิมนุษยชนคือหนึ่งในกรอบคิดที่มุ่งคุ้มครองมนุษย์ และทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) โดยประกอบด้วยสิทธิย่อยหลายสิทธิ
อาทิ สิทธิในชีวิต สิทธิในร่างกาย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นส่วนตัว สิทธิในการศึกษา สิทธิเกี่ยวกับการทำงาน
ทั้งนี้ แม้ดูเหมือนเป็นคำสามัญที่ใคร ๆ ก็รู้จักและมีความหมายตายตัว แต่ความจริงแล้วความหมายและเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายได้และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา
ประเด็นที่ 1. อาจเห็นภาพรวมได้จากคำกล่าวของ Volker Türk ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในกิจกรรมคู่ขนานในการประชุมครั้งที่ 53 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
Türk เริ่มต้นว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ AI วางอยู่บนสองฐานคิดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ฝ่ายที่เน้นไปที่การประเมินความเสี่ยง โดยมองว่าผู้พัฒนา AI ควรเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และทำการประเมินเองเพื่อที่จะได้ชี้ให้เห็นและบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด
และฝ่ายที่มองว่าทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ AI ต้องอยู่ภายใต้กรอบคิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ Türk เห็นว่า การวางกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ AI ต้องอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน
Türk เสนอว่าควรมีการพิจารณาร่วมกันในระดับระหว่างประเทศในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
(1) การพูดคุยและรับข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ AI โดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการใช้ AI ในพื้นที่สาธารณะที่กระทบอย่างสูงกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว
(2) การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต้องถูกนำมาใช้ในทุกช่วง (รวมทั้งก่อนและหลัง) ของการใช้ AI ภายใต้การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส และต้องมีการกำหนดข้อห้ามไม่ให้ใช้ AI ที่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย
(3) กฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว (เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมข้อมูลและการแข่งขันทางการค้า) ต้องมีการนำมาใช้กับกรณี AI อย่างจริงจัง และ
(4) การช่วยกันยืนยันว่า การสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมกันเองโดยกลุ่มธุรกิจที่ใช้ AI นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการควบคุมผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับประเด็นที่ 2. สิทธิใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการอุบัติขึ้นของ AI มีอะไรบ้าง? — แม้กรอบคิดสิทธิแบบดั้งเดิม อาทิ สิทธิในความเป็นส่วนตัว จะสามารถถูกตีความให้คล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่สิทธิเหล่านี้ก็ยังคงมีข้อจำกัด จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022) ทำเนียบขาวแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกเอกสารแนวทางด้านสิทธิมนุษยชน “Blueprint for an AI Bill of Rights (AIBoR)” ซึ่งไม่มีสภาพผูกมัดทางกฎหมาย AIBoR ระบุสิทธิ 2 สิทธิที่ทำให้พอมองเห็นข้อความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการอยู่ในโลกแห่ง AI ไว้ด้วย ได้แก่
“สิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากระบบ AI ที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่มีประสิทธิภาพ (right to be protected from unsafe or ineffective AI systems) เช่น การคาดการณ์สภาวะของการติดเชื้อที่ไม่ถูกต้องในระบบโรงพยาบาล การใช้ AI โดยพวกสตอล์คเกอร์ เป็นต้น และ
“สิทธิที่จะได้รับการแจ้งเตือนและคำอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจด้วยอัลกอริทึมที่กระทบต่อชีวิตของปัจเจก” (right to receive notice and explanation of algorithmic decisions impacting individuals’ lives) เพื่อที่จะได้เข้าใจและนำข้อมูลไปใช้อุทธรณ์ต่อไป
ด้วยเหตุที่ AI อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งที่จับต้องได้” (เช่น ชีวิต ร่างกาย รวมถึงความเป็นส่วนตัว การแสดงออก และความเสมอภาค) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “ความคิด/จินตนาการ/ประสบการณ์” ที่มีต่อโลกด้วย
เช่น การที่ AI คัดเลือกข้อมูลเพียงบางชุดใน social media และแสดงต่อผู้ใช้บางกลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่จินตนาการ อคติ และความเกลียดชัง ในสำนึกของคนกลุ่มนั้น
ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามว่า สิทธิอื่น ๆ ที่จะทำให้มนุษย์ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสภาวะทำนองนี้สมควรเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่?
บทความโดย ธนรัตน์ มังคุด | คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ย.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1087720