ในกรณีของสตอล์กเกอร์ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือความปลอดภัยของผู้เสียหายเอง
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา กรุงโซล เกาหลีใต้ ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือและปกป้องผู้เสียหายจากกรณีการถูกสตอล์กกิ้ง (stalking) โดยเฉพาะ
ทางกรุงโซลระบุว่าจะร่วมมือกับสำนักงานตำรวจนครบาลโซลในการดำเนินงานครั้งนี้ โดยมีมารตรการฉบับใหม่ที่ออกมา ได้แก่
1. จะจัดทำระบบแชร์ข้อมูลของผู้เสียหาย หลังจากที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ และยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงาน
หลังจากนั้น ทีมผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบไปด้วยโปรไฟเลอร์ (profiler) ก็จะตรวจสอบความคิดและบุคลิกของสตอล์กเกอร์ เนื่องจากผู้กระทําความผิดดังกล่าวมีอัตราการกระทําผิดซ้ำสูง ทั้งยังมีสมาชิกในทีมที่จะดูแลเกี่ยวกับสถานการณ์การสะกดรอบตาม เพื่อให้ผู้เสียหายแต่ละรายได้รับการชดเชยที่เหมาะสม
2. จะเพิ่มจํานวนสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการคุ้มครองผู้ประสบภัยในเมือง จาก 3 เป็น 5 แห่งโดยจะสร้างที่พักอาศัยฉุกเฉินและที่พักอาศัยสำหรับอยู่ระยะยาวอีกหนึ่งแห่ง
ในส่วนของที่อยู่อาศัยฉุกเฉิน ผู้เสียหายสามารถพักอยู่ได้ 30 วัน ส่วนที่พักระยะยาวจะสามารถอยู่เพื่อรับการคุ้มครองได้ 1 ปี
3. จะมีการให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายที่มีความเสี่ยงสูงที่จะพบกับผู้กระทำความผิด
เมื่อตำรวจเห็นว่าผู้เสียหายต้องได้รับการปกป้อง ก็จะจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คนคอยคุ้มครองผู้เสียหาย 10 ชั่วโมงต่อวัน และจะดูแลตลอด 1 สัปดาห์
4. จะสนับสนุนการให้มีการให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหาย และช่วยเหลือในกระบวนการด้านกฎหมาย คดีความ ตลอดจนถึงค่ารักษาพยาบาล และถ้าหากจำเป็น ก็จะจัดนักบำบัดให้ไปเยี่ยมที่บ้านผู้เสียหายเพื่อให้คำปรึกษา
5. จะให้เงินช่วยเหลือค่าขนย้ายของแก่ผู้เสียหาย 2 ล้านวอน (ประมาณ 54,000 บาท) ในกรณีที่จำเป็นต้องย้ายบ้าน
เนื่องจากทางกรุงโซลมองว่า สตอล์กเกอร์หลายรายรู้ที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย เพราะเคยเกิดกรณีเมื่อเดือนนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีชายวัย 31 แทงผู้เสียหายซึ่งเป็นแฟนเก่าของเขาจนเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้เสียชีวิตร้องเรียนต่อศาลว่าถูกสะกดรอบตาม และศาลก็มีคำสั่งออกมาแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวถึงเรื่องสตอล์กเกอร์ในเกาหลีใต้ เหตุการณ์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเหตุการณ์ ‘ฆาตกรรมที่สถานีรถไฟชินดัง’ เมื่อจอนจูฮวาน ชายวัย 31 ปี สังหารอดีตเพื่อนร่วมงานหญิงที่ห้องน้ำสถานีรถไฟใต้ดิน หลังจากที่สะกดรอยตามเธอไปเป็นเวลา 3 ปี และผู้เสียหายก็ฟ้องจอนจูฮวานไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้เสียหาย จนสุดท้ายเธอก็ถูกฆ่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2022
จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับสตอล์กเกอร์ และได้มีการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขฉบับใหม่ไปแล้ว และแม้ว่าเหตุการณ์ฆาตกรรมที่สถานีรถไฟชินดังจะเกิดขึ้นมา 1 ปี แต่ประชาชนในโซลก็ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นอยู่
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘โอเซฮุน’ นายกเทศมนตรีกรุงโซลออกมากล่าวว่า “เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่การสะกดรอยตามและการฆาตกรรมที่น่าตกใจเกิดขึ้นที่สถานีชินดัง แต่จำนวนอาชญากรรมการสะกดรอยตามก็ยังไม่ลดลง”
“ไม่มีอะไรสำคัญต่อสวัสดิภาพ [ของประชาชน] มากไปกว่าความปลอดภัย ดังนั้นกรุงโซลจะสร้างระบบความปลอดภัยที่แน่นหนาเพื่อให้ชาวโซลรู้สึกปลอดภัย” โอเซฮุนกล่าว
อ้างอิงจาก koreajoongangdaily , yna.co.kr , thematter.co
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : The Matter / วันที่เผยแพร่ 15 ก.ย.66
Link : https://thematter.co/brief/213035/213035