Korean Air ออกมาตรการใหม่ ชั่งน้ำหนักผู้โดยสารก่อนขึ้นบินโดยชี้ว่าเป็นส่วน “สำคัญ” ของมาตรการด้านความปลอดภัยทางการบิน แต่ผู้โดยสารสามารถปฏิเสธได้ตามความสมัครใจ
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ‘Korean Air’ อาจต้องเผชิญกับมาตรการใหม่ด้านความปลอดภัยทางการบิน โดยต้องชั่งน้ำหนักตัวก่อนขึ้นเครื่อง
Korean Air ได้ยืนยันมาตรการดังกล่าวผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทแล้วว่าทางสายการบินจะชั่งน้ำหนักเฉลี่ยของผู้โดยสารพร้อมกับสิ่งของที่ถือขึ้นเครื่องเพื่อความปลอดภัยในการบิน” โดยแนวทางปฏิบัติในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนมิถุนายน ด้วยประกาศจากสายการบิน Air New Zealand
อย่างไรก็ตาม Korean Air ได้ลบนโยบายดังกล่าวในเว็บไซต์ออกไปแล้วหลังถูกวิจารณ์หนัก
ผู้โดยสารเส้นทางภายในประเทศจากสนามบินนานาชาติกิมโป อาจต้องพบกับการฝึกซ้อมมาตรการชั่งน้ำหนักตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม – 6 กันยายน ขณะที่ผู้โดยสารที่ออกจากสนามบินนานาชาติอินชอนต้องพบกับมาตรการการฝึกซ้อมชั่งน้ำหนักตั้งแต่วันที่ 8-19 กันยายน
อย่างไรก็ตาม ทางสายการบินยืนยันว่าหากผู้โดยสารไม่ต้องการเปิดเผยน้ำหนักของตนเอง ก็สามารถปฏิเสธได้โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่สนามบินทราบ
ขณะที่ทางด้านกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งของเกาหลีใต้ (MOLIT) ได้แนะนำให้สายการบินแห่งชาติชั่งน้ำหนักผู้โดยสารพร้อมสัมภาระถือขึ้นเครื่องเพื่อปรับปรุงมาตรฐานการจัดการน้ำหนักและความสมดุลของเครื่องบิน โดยกระบวนการนี้ใช้เพื่อช่วยกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน และการคำนวณอื่นๆที่จำเป็นต้องตรวจเช็คทุก ๆ 5 ปี
ทั้งนี้ การชั่งน้ำหนักผู้โดยสารทุกคนก่อนขึ้นเครื่องจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายจากปัจจัยภายนอกของแต่ละเที่ยวบินได้ ซึ่งปัจจุบันสายการบินส่วนใหญ่มักใช้การประเมินน้ำหนักผู้โดยสารเป็นตัวเลขคร่าวๆ
ชั่งน้ำหนักผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง จำเป็นแค่ไหน?
Vance Hilderman ซีอีโอของบริษัทความปลอดภัยการบิน Afuzion ให้ความเห็นว่า “ไม่ใช่เรื่องจำเป็น อย่างน้อยก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย”
“ถ้าคุณขึ้นเครื่องบิน Bombardier ลำเล็ก ๆ หรือครื่องบินเจ็ต Embraer ที่ลำไม่ได้ใหญ่มาก แล้วมีผู้โดยสารที่น้ำหนักตัวเยอะประมาณ 10 คน ความต่างที่จะเกิดขึ้นมันมีแค่นิดเดียว แล้วนับประสาอะไรกับเครื่องบินพาณิชย์ อย่าง 737 หรืออะไรก็ตามแต่ มันถูกออกแบบมาแล้วว่าสามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 120 คน”
“ซอฟต์แวร์การบินสามารถปรับได้ตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ความหนาแน่นของอากาศ และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่การดูแลรักษาความปลอดภัยยังคงเส้นคงวา แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ผิดไปจากปกติ”
โดยรวมแล้ว น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้โดยสารหนึ่งคนก็จะถูกกลบด้วยน้ำหนักของเชื้อเพลิง สินค้า และตัวเครื่องบินเองอยู่ดี เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงมีน้ำหนักมากกว่าผู้โดยสารถึง 20 เท่า
อย่างไรก็ตาม Shem Malmquist อาจารย์จากวิทยาลัยการบินแห่งฟลอริดาให้ความเห็นที่ต่างออกไป
“ที่ผ่านมาเราใช้เกณฑ์ประเมินน้ำหนักของผู้โดยสารคร่าวๆ แต่ในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าประชากรโลกมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับในอดีต ลองนึกภาพผู้โดยสาร 300 คน ที่น้ำหนักเกินกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ก็อาจส่งผลให้เครื่องบินรับน้ำหนักที่มากเกินไปได้”
สายการบินไหนบ้างที่ชั่งน้ำหนักผู้โดยสารก่อนขึ้นบิน?
ในเดือนมิถุนายน Air New Zealand ได้ออกมาตรการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารก่อนขึ้นบินโดยระบุว่าเป็นไปตามเหตุผลด้านความปลอดภัยและเพื่อให้การใช้เชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ในปี 2017 สายการบิน Finnair และ Hawaiian Air ก็มีแนวทางปฏิบัติในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
Vance Hilderman เผยว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ในสหรัฐฯปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามแนวทางนี้ แม้ว่า FAA จะได้ออกคำแนะนำสำหรับสายการบินตั้งแต่ปี 2019 ว่าสามารถชั่งน้ำหนักผู้โดยสารได้ ซึ่งแตกต่างจากในยุโรป ที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามกฎขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) อย่างเคร่งครัด
ประเด็นถกเถียงอันยาวนาน
ประเด็นเรื่องน้ำหนักตัวของผู้โดยสารนับเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน โดยบางส่วนให้ความเห็นว่าสายการบินควรออกแบบที่นั่งสำหรับผู้มีน้ำหนักตัวเยอะให้มีความกว้างกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งให้จ่ายเงินเพิ่มสำหรับ 2 ที่นั่งจะได้ไม่เกิดความอึดอัดระหว่างเดินทาง
Tigress Osborn กรรมการบริหารของ National Association to Advance Fat Acceptance กล่าวว่า ผู้ที่น้ำหนักตัวเยอะก็ควรได้เดินทางด้วยความสะดวกสบายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และเราต้องจำไว้ว่าการเดินทางทางอากาศนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อไปทำงาน เพื่อภาระหน้าที่ของครอบครัว หรืออาจจะด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบอื่นๆ ภาษีของเราช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้และเราสมควรได้รับการบริการที่สะดวกและปลอดภัย พร้อมสิทธิ์ในการเข้าถึงที่นั่งในราคาที่สามารถเข้าถึงได้
ทั้งนี้ Hilderman ให้ความเห็นว่า โอกาสที่สายการบินจะขยายความกว้างของที่นั่งผู้โดยสารนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเครื่องบินแต่ละเครื่องถูกกำหนดและคำนวนไว้หมดแล้ว ปัจจุบัน เรามีเครื่องบินพาณิชย์บินอยู่ 29,000 ลำ และผลิตได้เพียงประมาณ 1,500 ลำต่อปี ดังนั้นจึงต้องใช้เวลา 20 ปีในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทั้งหมด
การปรับให้ที่นั่งผู้โดยสารมีความกว้างขึ้น นั้นหมายความว่าช่องว่างระหว่างทางเดินต้องแคบลง เห็นได้ชัดว่าต้องเกิดความแออัด แต่หากต้องการขยายช่องทางเดิน ก็ต้องถอดเก้าอี้ออก 1 ตัวจากที่นั่งทุกแถว และจะส่งผลให้ราคาตั๋วเพิ่มขึ้น 20-25%
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ / วันที่เผยแพร่ 31 ส.ค.66
Link : https://www.posttoday.com/international-news/698927