สำนักข่าว Reuters ร่วมมือกับ Canon ผู้ผลิตกล้อง ภายใต้กลุ่ม Content Authenticity Initiative (CAI) ที่ส่งเสริมความน่าเชื่อถือของภาพข่าว สาธิตระบบยืนยันภาพถ่ายว่าถ่ายโดยไม่มีการดัดแปลงจริง
ทาง Canon ใส่กุญแจลับประจำกล้องเข้าไปให้เซ็นลายเซ็นยืนยันภาพ, ตำแหน่ง GPS, และข้อมูล metadata อื่นๆ หลังจากนั้นส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลของ Reuters พร้อมกับลงทะเบียนการสร้างไฟล์ในบล็อกเชน Filecoin และ Storj
เมื่อสำนักข่าวได้ภาพมาแล้ว กระบวนการแก้ไขต่าง ๆ จะถูกบันทึกลงฐานข้อมูลภายในของ Reuters เอง แต่ค่าแฮชยืนยันกระบวนการแก้ไขทั้งหมดจะถูกบันทึกลงบล็อคเชนภายนอก คือ Hedera และเมื่อผู้อ่านข่าวเห็นภาพก็จะสามารถนำภาพไปตรวจสอบได้ว่ามาจาก Reuters จริงหรือไม่
ระบบนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่ คือกระบวนการคำนวณลายเซ็นดิจิทัลนั้นใช้เวลานาน การถ่ายภาพในพื้นที่ข่าวเช่นสงครามในยูเครนนั้นต้องการความเร็ว ขณะที่แก้ไขภาพนั้นทำให้ภาพขาดความเชื่อมโยงกับภาพที่ถ่ายมา ตอนนี้มีทางเพิ่มเติมคือใช้ซอฟต์แวร์ของ FotoWare ไปรันที่ระบบของลูกค้าที่ซื้อภาพไป ทำให้แก้ไขภาพโดยแน่ใจได้ว่าไม่ใช่การดัดแปลงจนผิดจากข้อเท็จจริง
แนวทางการยืนยันข้อมูลเช่นนี้อาศัยฐานข้อมูลที่ตรวจสอบได้ที่เปิดต่อสาธารณะเพื่อให้คนทั่วไปนำข้อมูลไปตรวจสอบได้ แม้ว่าการใช้งานบล็อคเชนจะได้รับความนิยมสูง เช่น OpenTimestamps ที่ยืนยันการสร้างไฟล์นั้นใช้บล็อคเชนของ Bitcoin เป็นตัวยืนยันเวลา แต่ที่ผ่านมาก็มีคนใช้ฐานข้อมูล Merkel Tree อื่น ๆ ทำงานคล้ายกัน เช่นโครงการ Seal อาศัยการสร้างโดเมนและขอใบรับรองเข้ารหัสจาก Let’s Encrypt ซึ่งรายการสร้างใบรับรองจะถูกบันทึกเข้าฐานข้อมูล Certification Transparency Log เช่นกัน
ที่มา – Reuters
ภาพโดย Content Authenticity Initiative (CAI)
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : Blognone by lew / วันที่เผยแพร่ 7 ก.ย.66
Link : https://www.blognone.com/node/135601