เกิดเหตุคาร์บอมบ์ถล่มเมืองหลวงของเอกวาดอร์ ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำ 6 แห่งทั่วประเทศ จับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน 57 นาย
กรุงกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ถูกโจมตีด้วยระเบิดมือและคาร์บอมบ์ 2 ลูกในชั่วข้ามคืน และไม่กี่ชั่วโมงต่อมาได้เกิดเหตุนักโทษในเรือนจำ 6 แห่ง จับกุมผู้คุมเรือนจำและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 57 คนเป็นตัวประกันเมื่อวันพฤหัสบดี (31 ส.ค. 2566)
การโจมตีระลอกนี้ถือเป็นการแสดงพลังอย่างเห็นได้ชัดของแก๊งอาชญากรรม ขณะที่การลุกฮือในเรือนจำเชื่อกันว่าเป็นการตอบโต้ที่ตำรวจกวาดล้างเรือนจำเพื่อยึดอาวุธเมื่อหลายวันก่อน เหตุคาร์บอมบ์ดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่หน่วยงานราชทัณฑ์ของประเทศ หรือ SNAI โดยลูกหนึ่งระเบิดนอกสำนักงานใหญ่ และอีกลูกหนึ่งระเบิดที่อาคารซึ่งเดิมเคยเป็นสำนักงานของ SNAI
SNAI กล่าวในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาว่า นักโทษในเรือนจำ 6 แห่งทั่วประเทศจับกุมผู้คุมเรือนจำ 50 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นายเป็นตัวประกัน
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอกวาดอร์ได้เปลี่ยนจากประเทศที่มีความสงบเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เนื่องจากกลายเป็นศูนย์กลางการค้ายาเสพติด ขณะที่้เรือนจำของเอกวาดอร์ ได้เกิดเหตุสังหารหมู่โดยแก๊งอาชญากรรมที่เป็นอริ ที่มีความเชื่อมโยงกับแก๊งค้ายาชาวโคลอมเบียและเม็กซิโก ซึ่งส่งผลให้มีนักโทษเสียชีวิตมากกว่า 430 ศพ นับตั้งแต่ปี 2564
พลตำรวจเอกปาโบล รามิเรซ หัวหน้าหน่วยสืบสวนต่อต้านยาเสพติด กล่าวว่า รถยนต์ซีดานคันหนึ่งที่ติดอาวุธยุทโธปกรณ์ บรรทุก ถังแก๊ส 2 ถังพร้อมเชื้อเพลิง ฟิวส์แบบขาดช้า 1 แท่ง และสิ่งดูเหมือนแท่งระเบิดไดนาไมต์ ด้านเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกล่าวว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
ตำรวจกล่าวว่า มีผู้ถูกจับกุม 6 คน รวมทั้งชาวโคลอมเบีย ใกล้กับจุดที่เกิดเหตุระเบิดจุดหนึ่ง ทุกคนมีประวัติอาชญากรรมเกี่ยวกับการกรรโชกทรัพย์ การปล้น และการฆาตกรรม
นายรามิเรซ กล่าวว่า การย้ายนักโทษเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการปะทะกันของแก๊งอาชญากรรม อาจเป็นสาเหตุของการก่อเหตุครั้งนี้ นอกจากนี้ เมื่อวันพุธ ตำรวจและทหารหลายร้อยคนยังได้บุกค้นเรือนจำแห่งหนึ่งในเมืองลาตากุงกา ทางตอนใต้ เพื่อค้นหาอาวุธ กระสุนปืน และวัตถุระเบิด
เมื่อเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีกิเยร์โม ลาสโซ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน 60 วันสำหรับเรือนจำทั่วประเทศ โดยอนุญาตให้ส่งทหารเข้าควบคุมระบบราชทัณฑ์ได้
แก๊งค้ายาซึ่งใช้เรือนจำเป็นศูนย์กลางปฏิบัติการ ยังคงก่อเหตุปะทะกันตามท้องถนนในเอกวาดอร์ ส่งผลให้อัตราการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 26 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสูงกว่าในโคลอมเบีย เม็กซิโก หรือบราซิล
ความรุนแรงดังกล่าวยังลุกลามเข้าสู่แวดวงการเมืองเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เมื่อนายเฟอร์นันโด วิลลาวิเซนซิโอ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ต่อต้านการทุจริต ถูกลอบสังหารในกรุงกีโต.
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1 ก.ย.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2721806