คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางเยือนรัสเซียพบปะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และหารือกันเรื่องความร่วมมือทางทหาร สร้างความกังวลอย่างมาแก่ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
สหรัฐฯ กังวลว่า รัสเซียจะได้เครื่องกระสุนที่กำลังร่อยหรอไปใช้ในสงครามยูเครนต่อ และอาจทำให้สถานการณ์การต่อสู้พลิกผันได้
ขณะที่คิม จอง อึน ก็หวังได้เทคโนโลยีด้านอาวุธและดาวเทียมเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งสหรัฐฯ และพันธมิตรกลัวว่า จะทำให้โครงการนิวเคลียร์ และอาวุธสำคัญอย่างดาวเทียมสอดแนมของเปียงยาง ประสบความสำเร็จ
คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ก.ย. 2566) และมันสร้างความกังวลอย่างยิ่งให้แก่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกของพวกเขา เนื่องจากทั้งคู่หารือกันเรื่องความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันทางทหาร และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
ในเบื้องหน้า ข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะมอสโกกำลังต้องการอาวุธ โดยเฉพาะเครื่องกระสุนและลูกปืนใหญ่ ไปใช้ในสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน และเปียงยางมีทั้ง 2 อย่างอยู่มากมาย
ส่วนฝั่งเกาหลีเหนือก็กำลังต้องการเงินทุนและอาหารปริมาณมากเพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก หลังจากปิดประเทศมานานกว่า 3 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แดนโสมแดงโดดเดี่ยวจากประเทศอื่นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีก
แต่การเจรจาของทั้งสองจะกลายเป็นการเปิดโอกาศให้เกาหลีเหนือและรัสเซีย เริ่มสานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และด้วยสถานการณ์เร่งด่วนของรัสเซีย คิมอาจสามารถเรียกร้องจากรัสเซียได้มากขึ้น และอาจสามารถร้องขออาวุธจากมอสโกในอนาคต ซึ่งจะทำให้ความพยายามที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ในการโดดเดี่ยวเปียงยางต้องสูญเปล่า
เกาหลีเหนือมิตรในยามยาก
สงครามของรัสเซียในยูเครนลากยาวยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว มอสโกกำลังขาดแคลนกระสุนอย่างหนัก และผู้นำโลกที่สนับสนุนการทำสงครามของเขานั้นก็มีไม่มาก แต่ คิม จอง อึน มีให้ทั้ง 2 อย่าง
เป็นที่เชื่อกันมานานแล้วว่า เกาหลีเหนือมีกระสุนปืนใหญ่และจรวดยุคโซเวียตอยู่ในสต๊อกจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจใช้กับระบบอาวุธของรัสเซียได้ พวกเขายังมีกำลังผลิตที่อาจสามารถป้อนกระสุนให้รัสเซียได้ทันกับการใช้งาน ทำให้เปียงยางกลายเป็นฝ่ายมีข้อต่อรอง พลิกกลับบทบาทจากการเป็นฝ่ายต้องพึ่งพาโซเวียต โดยเฉพาะในช่วงสงครามเกาหลี
ในการพบกันเมื่อวันพุธ คิมประกาศกร้าวว่าจะสนับสนุนทุกการตัดสินใจของปูตินกับรัฐบาลของเขา ในการต่อสู้กับฝ่ายจักรวรรดินิยม ซึ่งสื่อถึงสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก
“หากคิมหมายตารางวัลที่ใหญ่กว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองประเทศจะกลายเป็นมาหอกข้างแคร่ของสหรัฐฯ” นาย ซู คิม อดีตนักวิเคราะห์ของ ซีไอเอ กล่าว “เรามองว่านี่เป็นสัญญาณการร้อนรนของคิมและปูติน และใช่ มันอาจเป็นความจริง แต่วิกฤติก็อาจถูกเปลี่ยนเป็นโอกาสสำหรับทั้งคู่ได้”
ขณะที่นาย วี ซอง-ลัค อดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำรัสเซียระบุว่า รัสเซียพร้อมใช้ประโยชน์จากใครหรืออะไรก็ตามที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ และคิม จอง อึน อาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ของปูติน
คิมกับปูตินยังส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมที่จะลอยตัวอยู่เหนือมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติเพื่อผลประโยชน์ นายวีกล่าว เห็นได้จากเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ 2 คนที่เดินทางมาเยือนรัสเซียครั้งนี้ ถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบแบนห้ามเดินทาง
สานฝันเทคโนโลยีอวกาศ
ระหว่างการเยือนรัสเซีย คิม จอง อึน ได้ทัวร์ศูนย์อวกาศ ‘วอสตอชนี คอสโมโดรม’ พร้อมกับผู้นำด้านการผลิตอาวุธ, ยุทธศาสตร์กองทัพ และเทคโนโลนีอวกาศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า คิมสนใจที่คว้าผลประโยชน์ระยะยาวจากการทำข้อตกลงกับปูติน
นายเรียว ฮินาตะ-ยามากุจิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเมินว่า การติดต่อระหว่างมอสโกกับเปียงยางตอนนี้มีความไม่สมส่วนกันอยู่ รัสเซียจะได้ประโยชน์มากกว่าในระยะสั้นจากการซื้อเครื่องกระสุน ขณะที่เกาหลีเหนือจะได้ประโยชน์มากกว่าในระยะยาว หากพวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสำหรับวิจัยด้านอวกาศและพัฒนาอาวุธ
สิ่งที่สหรัฐฯ เป็นกังวลที่สุดในตอนนี้คือการที่รัสเซีย มอบเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูงหรือความรู้หรือแก่เกาหลีเหนือ และช่วยให้เปียงยางฝ่าทางตันในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากในปัจจุบันพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่าง ดาวเทียมสอดแนม และเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์
นอกจากจะทัวร์ศูนย์อวกาศกับปูตินแล้ว คิมยังมีแผนเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินรบและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียด้วย บ่งชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอาจขยายไปจนถึงพื้นที่เหล่านี้ด้วย
ปูตินยังออกมาทิ้งระเบิด โดยบอกว่ารัสเซียจะช่วยเกาหลีเหนือในการพัฒนาดาวเทียม ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยเหลือถึงขั้นไหน แต่สหรัฐฯ ออกมาเตือนเรื่องการละเมิดมติสหประชาชาติทันที ขณะที่นายปูตินเองก็ดูจะระวังในเรื่องนี้โดยกล่าวว่า มีข้อจำกัดบางอย่างในการร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือ
มอสโกพร้อมแหกมติสหประชาชาติ?
ปูตินไม่เคยปิดบังเรื่องความต้องการของเขาที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ให้เป็นแบบหลายขั้วอำนาจ แทนที่จะถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกเพียงกลุ่มเดียว และความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของเรื่องนั้น
การทำข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากที่ผ่านมา รัสเซียสนับสนุนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเรื่องโครงการนิวเคลียร์มาตลอด และมติดังกล่าวยังห้ามประเทศใด ซื้อขายอาวุธกับรัฐบาลเปียงยางด้วย
“มอสโกได้ลงนามในมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติไปแล้ว” มอสคอฟสกี คอมโซโมเลตส์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัสเซีย ระบุในบทความที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ก่อน คล้ายกับจะย้ำเตือนผู้นำของประเทศ ก่อนจะเสริมว่า “ช่างมันเถอะ ลายเซ็นน่ะเพิกถอนได้อยู่แล้ว”
แท็บลอยด์เจ้านี้ยังอ้างคำพูดของนายฟีโอดอร์ ลูเคียนอฟ ประธานสภานโยบายกลาโหมและต่างประเทศของรัสเซีย ว่า “ผ่านมานานแล้วและตอนนี้เริ่มมีคำถามว่า ทำไมเราต้องยึดถือการคว่ำบาตรเหล่านั้น? ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งหมด กำลังอยู่ในสภาพสับสนอลหม่านอย่างสิ้นเชิง”
“จริงอยู่ว่า การคว่ำบาตรของสหประชาชาติมีข้อผูกมัดตามกฎหมาย มันยากที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น เราลงคะแนนเสียงให้มติเหล่านี้ แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ทำไมจึงไม่เพิกถอนการโหวตของเรา?”
ก้าวต่อไปคือ?
ล่าสุดประธานาธิบดีปูตินตอบรับคำเชิญไปเยือนเกาหลีเหนือของคิม จอง อึน แล้ว และทั้ง 2 ประเทศน่าจะสานสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนี้ไปต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่ารัสเซียจะส่งมอบเทคโนโลยีกองทัพขั้นสูงให้เกาหลีเหนือจริงหรือไม่ และต่อให้ส่งจริง มันก็อาจเกิดขึ้นอย่างลับๆ เพื่อหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
“หากรัสเซียไม่เพลี่ยงพล้ำในสงครามยูเครน ปูตินก็คงไม่ร้อนรนเข้าหาคิม จอง อึนแบบนี้” นายพัค วอน-กอน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือจากมหาวิทยาลัยสตรี อีฮวา (Ewha) กล่าว “เกาหลีเหนือก็เข้าใจดีว่านี่คือความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน และคิมกำลังหาทางคว้าประโยชน์อย่างรวดเร็วจากรัสเซียรวมถึงเรื่อง อาหาร, พลังงาน และปุ๋ย”
นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า พวกเขากำลังจับตาปฏิกิริยาของประเทศจีน เรื่องการกระชับสัมพันธ์ระหว่างเปียงยางกับมอสโก และดูว่าทั้ง 3 ประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นได้หรือไม่
จีนเปรียบเหมือนเส้นชีวิตทางเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือ และมีความกังวลร่วมกันเรื่องการขนาดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ทว่า การสนับสนุนการซื้อขายอาวุธระหว่างเปียงยางกับมอสโกอย่างเปิดเผย อาจทำลายความพยายามเป็นกลางของจีนในสงครามยูเครน
อย่างไรก็ตาม นายอันเดร โคซีเรฟ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเชื่อว่า มอสโกไม่ได้จนตรอกขนาดนั้น พวกเขาอาจจำเป็นต้องเติมเครื่องกระสุนอย่างรวดเร็ว และเกาหลีเหนือก็เป็นหนึ่งในหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าปราศจากความช่วยเหลือของเปียงยาง เครื่องจักรสงครามของรัสเซียจะหยุดทำงานในทันที
“ปูตินสามารถยื้อไปได้อีกนาน และเขาสามารถปรับตัวได้ เขาเรียนรู้ทุกวันว่าจะหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรอย่างไร ร่วมมือกับจีนและเกาหลีเหนือ รวมถึงรัฐบาลบางประเทศในแอฟริกาอย่างไร นั่นไม่ใช่ทางเลือกทดแทนในอนาคต แต่ตัวเลือกในปัจจุบันและอาจจะอีกหลายปีข้างหน้า”
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : washingtonpost , bbc
—————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 15 ก.ย.66
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2725361