ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตี อย่างกรณีการสู้รบในสงครามที่เป็นแบบ hybrid war คือ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การโจมตีด้วยคน และอาวุธในสมรภูมิรบเท่านั้น แต่เป็นสงครามทางไซเบอร์ที่ได้ก่อตัวอย่างเต็มรูปแบบขึ้นแล้ว
และแน่นอนว่า ในเมื่อมหาอำนาจได้ก่อสงครามทางไซเบอร์ ก็จะนำไปสู่สงครามทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จีนได้เตรียมการก่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้านการทหาร มีการวางยุทธศาสตร์ทางไซเบอร์ในปี 2023 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียเพื่อสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย และเป็นการตอบโต้อำนาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกา และเป็นการลดระดับความสามารถในการรบของกองกำลังร่วม
รายงานกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จีนมีส่วนร่วมในแคมเปญเกี่ยวกับการโจรกรรมทางไซเบอร์ และการหลอกลวงเพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสหรัฐ รวมถึงด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และหากเกิดสงครามขึ้นจริงก็เชื่อว่า จีนมีแนวโน้มที่จะเปิดการโจมตีทางไซเบอร์แบบทำลายล้างเพื่อขัดขวางการระดมกองกำลังทางทหาร ทำให้เกิดความวุ่นวายและเป็นการดึงความสนใจด้วยอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ในรายงานเน้นย้ำภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่โจมตีอเมริกาและพลเมือง โดยฝีมือของเกาหลีเหนือและอิหร่าน รวมถึงองค์กรที่ก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่มีแรงจูงใจทางการเงิน โดยกลุ่มอาชญากรเหล่านี้มักมีความสอดคล้องกับชาติต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเป้าคุกคามด้านความมั่นคงของสหรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ
4 กลยุทธ์ที่ทางการสหรัฐใช้เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ประกอบด้วย
1. ปกป้องชาติ วางแผนเพื่อเฝ้าติดตามกิจกรรมทางไซเบอร์ต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย โดยเริ่มจากการวางแผนพัฒนาและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและช่วยปกป้องระบบขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น และร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายเพื่อขัดขวางเหล่าบรรดาแฮ็กเกอร์พร้อมทั้งพัฒนาแนวทางให้ครอบคลุมการป้องกันและการกู้คืนสิ่งที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
2. เตรียมต่อสู้เพื่อชัยชนะในสงครามแห่งชาติ ส่งเสริมปฏิบัติการทางไซเบอร์สเปซ ระหว่างพันธมิตรเพื่อให้บรรลุข้อได้เปรียบด้านข้อมูลและการทหาร รวมถึงการขัดขวางฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ดำเนินการบีบบังคับต่อสหรัฐ นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการป้องกันของเครือข่ายข้อมูลทางกระทรวงกลาโหมซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอาวุธที่มีความสำคัญต่อภารกิจ รวมถึงการปรับปรุงอัลกอริธึมการเข้ารหัสให้อัพเดททั่วทั้งระบบอาวุธ ลิงค์ข้อมูล และเครือข่าย
3. การปกป้องโดเมนไซเบอร์กับเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วน สร้างขีดความสามารถพันธมิตร และหุ้นส่วนในไซเบอร์สเปซ และขยายช่องทางความร่วมมือทางไซเบอร์ ที่มีศักยภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายบนเครือข่าย และให้รัฐมีส่วนรับผิดชอบโดยการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฏหมาย ระหว่างประเทศและบรรทัดฐานทางไซเบอร์ที่ป็นที่ยอมรับในระดับสากล
4. สร้างข้อได้เปรียบที่ยั่งยืนในไซเบอร์สเปซ การปฏิรูประบบถือเป็นข้อได้เปรียบในระยะยาวโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบ การฝึกอบรม และจัดเตรียมกองกำลังปฏิบัติการไซเบอร์สเปซ นอกจากนี้ การเตรียมให้บุคลากรทางการทหารทุกคน มีหน้าที่รับผิดชอบ ตระหนักรู้ทางไซเบอร์และจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของทุกคนในองค์กรและเทคโนโลยีที่เป็น critical infrastructure จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะการใช้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็สามารถเป็นเครื่องมือในการก่อสงครามทางไซเบอร์
ฉะนั้น การรับมือโดยเฉพาะภาครัฐ จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอัพเดทภัยคุกคามอยู่เสมอ ขอให้ทุกคนปลอดภัยนะครับ
บทความโดย นักรบ เนียมนามธรรม
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 3 ต.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1090575