รมช.กต. เร่งประสานหลายหน่วยงานเร่งพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตไทยในอิสราเอล ขอแรงงานไทยกลับประเทศก่อนสู้รบบานปลาย ยัน ต้องพูดคุยกับนายจ้างเรื่องค่าแรง กันอ้างไม่ให้แรงงานกลับไทย
เมื่อเวลา 15.40 น. วันที่ 23 ตุลาคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแรงงานไทยที่เสียชีวิตว่า ตอนนี้เราต้องประสานงานหลาย ๆ ทาง ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าเป็นใคร คงต้องเริ่มเก็บดีเอ็นเอเพื่อตรวจสอบ
ส่วนความยากในการพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น เราต้องดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการยืนยันตัวตนของแรงงาน ตนได้คุยกับกับสถาบันนิติเวชที่ไทยแล้ว ซึ่งยอมรับแนวทางการดำเนินการของอิสราเอล
เมื่อถามถึงความท้าทายในการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตในเรื่องแรงงานไทย นายจักรพงษ์กล่าวว่า ต้องพยายามคุยกับเขาว่า แรงงานเราเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้าย หากทุกคนที่ประเทศไทยเป็นห่วง ทำให้เขารู้สึกว่า เขาต้องรีบกลับมา ก็น่าจะกลับมาได้
เมื่อถามว่า กลุ่มที่ออกมาสนับสนุนฮามาสในประเทศต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยหรือไม่ นายจักรพงษ์กล่าวว่า ต้องมองหลายส่วน คงต้องสงวนท่าทีไว้
นายจักรพงษ์กล่าวต่อว่า เรื่องเครื่องบินที่ไปรับแรงงานไทยในอิสราเอลมีจำนวนเยอะมาก อย่างสายการบินพาณิชย์ต่าง ๆ ขอเพียงแค่ให้เดินทางมาสนามบินได้ ตนพร้อมพากลับได้
เมื่อถามว่า อีกไม่กี่วันจะมีการปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้เตรียมมาตรการเพื่อโน้มน้าวคนไทยให้เดินทางกลับหรือไม่ เพราะอาจจะส่งผลให้การประสานงานรับกลับยากยิ่งขึ้น นายจักรพงษ์กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไป ในเรื่องของรายได้ที่แรงงานยังไม่ได้ ซึ่งได้พูดคุยกับกระทรวงแรงงานแล้วว่า ต้องพูดคุยกับนายจ้างอีก 10 กว่าบริษัทที่อิสราเอล เพื่อจะได้ไม่นำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างเพื่อให้แรงงานอยู่ต่อ
นายกฯ ห่วงนายจ้างอิสราเอล ยื้อจ่ายค่าแรง ทำแรงงานไทยไม่ยอมกลับ
นายกฯ ห่วงนายจ้างอิสราเอล ยื้อจ่ายค่าแรง ทำแรงงานไทยไม่ยอมกลับ วอนญาติช่วยโน้มน้าว ‘เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม’
เมื่อเวลา 15.24น. วันที่ 23 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินความไม่สงบในอิสราเอล-กาซา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศ โดยใช้เวลาในการประชุมเพียง 20 นาที ว่าปัจจุบันมีผู้แสดงความประสงค์กลับไทย 8,500 คน กลับมาได้ 3 พันกว่าคน ขีดความสามารถในการนำคนไทยกลับมา 800 คนต่อวัน และสามารถเพิ่มได้อีก แต่ปัญหา คือ มีคนเปลี่ยนใจไม่กลับมาเยอะพอสมควร เพราะนายจ้างอิสราเอลดึงเรื่องการจ่ายเงินเดือนออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน และมีการเพิ่มค่าจ้างเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ แต่ทางเราประชุมกันแล้ว ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการทหาร ฝ่ายการต่างประเทศ เรายืนยันว่า แม้ว่าข่าวเรื่องการถล่มจะเบาบางลงไป แต่จริง ๆ แล้วความเข้มของสงครามไม่ได้ลดลง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และอาจขยายวงอีกบางประเทศที่ใกล้เคียงด้วย
“เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ เรามั่นใจว่าคงจะเลวร้ายลงไป นี่ขนาดยังไม่มีการปฏิบัติการภาคพื้นดิน ซึ่งมีข่าวว่า จะมีขึ้นในอีก 2 – 3 วันนี้ จึงอยากขอเตือนพี่น้องว่า กลับมาเถอะครับ หากญาติพี่น้องอยู่ที่นี่ บอกให้ญาติพี่น้องตัวเองที่ทำงานอยู่ที่นั่นให้กลับมา ต้องขอให้กลับมา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ยังกลับได้อยู่ แต่ถ้าเกิดมีการปฏิบัติการภาคพื้นดิน การกลับเข้ามาก็จะลำบาก เรื่องการเดินทางเข้าสู่ศูนย์อพยพเพื่อไปสนามบินก็จะลำบาก เรื่องนี้ รัฐบาลเห็นตรงกันว่า เราจำเป็นต้องพูดและสื่อสารให้พี่น้องทุกคนได้ทราบ” นายเศรษฐากล่าว
นายเศรษฐากล่าวว่า ในที่ประชุมตนได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรับปากจะไปดูแลแรงงานที่กลับเข้ามา โดยเพิ่มแรงจูงใจให้รีบกลับเข้ามา เพราะคนที่กลับเข้ามาได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท ก็จะมีการเพิ่มค่าแรงให้อีก เพื่อให้กลับเข้ามาได้อีกเป็นจำนวนที่มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่องทางที่จะนำคนไทยกลับ สะดวกมากยิ่งขึ้นใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีปัญหา รมช.ต่างประเทศยืนยันว่า พาคนไทยกลับได้วันละ 800-1,000 คนสบาย ๆ เพียงแต่ว่าบางคนเปลี่ยนใจ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนใจเรื่องการบริหารจัดการเครื่องบินก็มีปัญหา หากจะกลับถึง 1,000 คน เราก็สามารถจัดการได้ และอยากให้แจ้งมา และขอว่าอย่าเปลี่ยนใจเลย วงเงินแค่ไหนก็ไม่คุ้มกับชีวิตหรอก
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องการปฏิบัติการภาคพื้นดิน คือสิ่งที่นายกฯ ห่วงมากใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง หากมีการปฏิบัติภาคพื้นดินเกิดขึ้น การลำเลียงคนออกมาจากโซนต่าง ๆ มายังศูนย์พักพิงจะยากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้เกิดปัญหา
“หากญาติพี่น้องฟังการแถลงข่าวอยู่ อยากให้ไปโน้มน้าวญาติของตัวเองให้กลับมา เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม ทางเราก็จะพยายามดูแลให้ดีที่สุดก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปจนไม่สามารถพากลับมาได้” นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐากล่าวย้ำกรณีที่นายจ้างอิสราเอลจะจ่ายค่าแรงในวันที่ 10 พฤศจิกายน ทั้งที่ควรต้องเป็นวันที่ 31 ตุลาคม ว่าชวนให้คิดว่าทำไมต้องจ่ายวันที่ 10 พฤศจิกายน แสดงว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าคิดและเราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม แต่คิดไปก็เป็นแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น ในฐานะนายกฯ หยิบประเด็นนี้มาพูดก็คิดว่า น่าจะเป็นประเด็น แต่ก็ต้องพูด เพราะจะจ่ายเงินวันที่ 10 พฤศจิกายน แล้วถ้าก่อนหน้านั้นมีอะไรเกิดขึ้น จะได้กลับประเทศหรือไม่ ตนจึงขอให้แรงงานไทยคิดดี ๆ ว่าจะอยู่หรือกลับ และตนจะโทรศัพท์หาเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ละเอียดอ่อน และอย่าเอาเรื่องเงินมาแลกกับชีวิตของคนไทย ต้องขอร้อง และเรื่องนี้ควรจะดูแลเราให้ดีกว่านี้ ถ้าเราอยากจะกลับวันไหน ก็ควรจะต้องจ่ายค่าแรง ไม่ใช่เอาเงินมาล่อให้เราอยู่ ถ้ามีการสูญเสียเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องใหญ่
เมื่อถามว่า ไม่กลัวว่าจะเกิดเป็นประเด็นดราม่าตีกลับในเรื่องนี้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า “ตีกลับก็ตีกลับ ผมก็ต้องรับ หน้าที่ผม คือ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยทุกคน ซึ่งพร้อมน้อมรับ”
เมื่อถามว่า จะต้องมีการคุยกับทางการอิสราเอลเพื่อพูดคุยกับนายจ้างด้วยหรือไม่ นายกฯ ย้ำว่า ตนจะโทรไปคุยกับทูตอิสราเอลว่า กรณีนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ส่วนจำนวนแรงงานที่ถูกยื้อเอาไว้นั้น ยังไม่ทราบว่า มีจำนวนเท่าไหร่ และขอย้ำว่าให้แรงงานไทยตัดสินใจให้แน่วแน่ว่า จะเดินทางกลับหรือไม่ เพราะถ้ามีปฏิบัติการภาคพื้นดินเมื่อไหร่ เส้นทางถนนถูกตัดขาด ไม่สามารถจะออกมาได้ เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 ต.ค.66
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4246961 , https://www.matichon.co.th/politics/news_4247051