เที่ยวบินที่สนามบินเบนกูเรียน เมืองเทลอาวีฟ อิสราเอล ถูกยกเลิกไปกว่าร้อยละ 50 หลังมีเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ยังมีอีกหลายสายการบินโดยเฉพาะสายการบินสัญชาติอิสราเอลที่ยังคงให้บริการตามปกติ รวมทั้งเที่ยวบินที่บินตรงมาไทยที่จะนำแรงงานไทยกลับมาถึงในวันนี้
น่านฟ้าเมืองเทลอาวีฟ และน่านฟ้าของอิสราเอล ผ่านการรายงานโดยเรด้าของเพจ Flightradar24 จะเห็นว่ามีไม่น้อยที่ยังคงให้บริการตามปกติ แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลายสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเพื่อความปลอดภัย
หากไปดูอย่างละเอียด จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินของสายการบินสัญชาติอิสราเอล อย่างน้อย 3 สายการบินที่ให้บริการ คำถาม คือ ทำไมสายการบินเหล่านี้ยังคงให้บริการตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่หลายพื้นที่มีการสู้รบและยิงขีปนาวุธเกิดขึ้นต่อเนื่อง
เครื่องบินของสายการบิน แอล อัล อิสราเอล ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ หากดูบริเวณส่วนค่อนไปทางท้ายของเครื่องบินจะเห็นอุปกรณ์ที่นูน ๆ ออกมานี้ เรียกว่า Flight Guard เป็น “ระบบป้องกันขีปนาวุธนำวิถี” ที่อิสราเอลเริ่มติดตั้งให้กับเครื่องบินพาณิชย์บางลำ ที่ต้องใช้ในเส้นทางที่มีความเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย ๆ 3 สายการบินสัญชาติอิสราเอล นับตั้งแต่ปี 2547 มีรายงานว่ามูลค่าการติดตั้งอุปกรณ์นี้สูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 37 ล้านบาทต่อลำ คาดว่าน่าจะมีอากาศยานประมาณ 200 ลำที่ได้ติดตั้ง
บริษัทผู้ผลิต Flight Guard สัญชาติอิสราเอล มีการเผยแพร่ถึงศักยภาพของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ถูกติดตั้งบนเครื่องบิน เมื่อมีขีปนาวุธถูกยิงมาที่เครื่องบิน ระบบนี้จะทำงานอัตโนมัติ ช่วยเบี่ยงเบน และหลอกล่อให้ขีปนาวุธซึ่งส่วนใหญ่จะล็อกเป้าจากความร้อนของเครื่องยนต์ ออกนอกเส้นทางและทำให้เครื่องบินปลอดภัย ซึ่งระบบนี้ถูกอัพเกรดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา
นอกจากระบบป้องกันภัยบนเครื่องบินแล้ว ภาคพื้นดินก็มีมาตรการป้องกันเต็มที่เช่นกัน Plane Spotter หรือผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเครื่องบิน ถ่ายได้ที่สนามบินลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นคลิปเครื่องบินของสายการบินแห่งชาติอิสราเอล ที่มีรถตำรวจอย่างน้อย 2 คัน ขับคุ้มกันขณะขับเคลื่อนหรือแท็กซี่ ไปยังรันเวย์ เพื่อเดินทางกลับเทลอาวีฟ ซึ่งจากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า นี่คือแนวปฏิบัติปกติต่อสายการบินนี้ของหลายสนามบินทั่วโลกเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ สายการบินแห่งชาติอิสราเอลยังมีแนวปฏิบัติอื่น ๆ ที่เข้มงวดกว่าสายการบินทั่วไป เช่น การกำหนดให้ผู้โดยสารต้องมารายงานตัว 3 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง ที่เคานต์เตอร์เช็กอิน ผู้โดยสารทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบหนังสือเดินทางอย่างละเอียด
สัมภาระจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด บางครั้งถ้าเป็นสัมภาระความเสี่ยงสูงอาจต้องนำเข้าห้องปรับความดันเพื่อทดสอบหาระเบิดที่ทำงานโดยอาศัยหลักความกดอากาศหรือความดันขณะบินอีกด้วย นอกจากนี้ ในทุกเที่ยวบินระหว่างประเทศจะมี “แอร์ มาร์แชล” หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ พกพาอาวุธติดตัว แฝงไปกับผู้โดยสารเพื่อระงับเหตุไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ จึงมักทำให้สายการบิน แอล อัล ถูกพูดถึงในฐานะสายการบินที่มีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : Thai PBS / วันที่เผยแพร่ 12 ต.ค.66
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/332726