Shoplifter หรือคนลักเล็กขโมยน้อยหยิบฉวยสินค้าจากร้านไปโดยไม่จ่ายเงิน เป็นปัญหาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งทั่วโลกต้องรับมือกันเป็นรายวันและรับมือมาอย่างยาวนาน
ยิ่งช่วงไหนสภาพเศรษฐกิจแย่ จำนวนตัวเลขสินค้าที่ถูกขโมยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
Coles ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในออสเตรเลียรายงานตัวเลขว่า มีจำนวนสินค้าในสต๊อกที่หายไปรายปีเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สื่ออังกฤษก็รายงานปรากฏการณ์เดียวกันในประเทศ คือ มีจำนวนเคสของลูกค้าที่ถูกจับได้ว่า ลักขโมยของในซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งมีมาตรการในการป้องกันขโมยอยู่แล้ว หลัก ๆ ก็คือ การติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง ๆ การให้พนักงานคอยเดินตรวจตราทั่วร้าน การจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย การเก็บสินค้าที่มีราคาสูงในตู้กระจกที่ล็อกไว้
ไปจนถึงการตรวจใบเสร็จของลูกค้าทุกคนที่เดินออกจากร้าน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกับมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ รวมถึงยังยอมรับว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ช้อปปิ้งไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่า มาตรการที่ใช้อยู่ไม่ได้ช่วยป้องกันการลักขโมยสินค้า
บางบริษัทจึงริเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยกำกับควบคุม และเทคโนโลยีที่ใช้ถึงเนื้อถึงตัวขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อไม่นานมานี้ Coles ประกาศว่าจะริเริ่มใช้เทคโนโลยีแบบใหม่เข้ามาจับตาดูลูกค้าในทุกฝีก้าว นับตั้งแต่เดินเข้ามาในร้านจนถึงก้าวออกจากร้าน โดยเก็บข้อมูลอย่างละเอียดแม้กระทั่งระยะเวลาที่ลูกค้าหยุดยืนดูสินค้าตามจุดต่าง ๆ
เครื่องคิดเงินด้วยตัวเอง หรือ self-checkout counter แต่ละตัวจะมีกล้องติดตั้งเอาไว้ด้วย เพื่อเก็บข้อมูลสินค้าที่ลูกค้าสแกนแล้วใส่ลงไปในถุงหรือกระเป๋า หากพบว่ามีความผิดปกติที่จุดใดก็ตาม ระบบจะส่งเสียงเตือนภัยและสั่งล็อกประตูเข้าออกซูเปอร์มาร์เก็ตทันที
หากหัวขโมยไวพอที่จะเข็นรถเข็นผ่านประตูไปได้ ก็จะเจอกับอีกด่านคือรถเข็นอัจฉริยะที่สามารถล็อกล้อไม่ให้เข็นต่อไปได้
Coles เปิดศึกกับหัวขโมยแบบดับเครื่องชนไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใด ๆ ผู้บริหารบอกว่า เทคโนโลยีที่เลือกใช้มารับมือโจรนั้นล้วนเป็นเทคโนโลยีระดับโลกที่หยิบมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ของธุรกิจ
พร้อมยังขู่ว่า “ถ้าคุณเป็นโจร เราจะจับคุณ”
นอกจากนี้ ก็ยังเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานด้วยการให้สวมนาฬิกาที่สามารถขอความช่วยเหลือและเตือนภัยเพื่อนร่วมงานได้ ควบคู่กับกล้องติดตัวบอดี้แคมเพื่อให้รับมือกับลูกค้าที่มีทีท่าจะเป็นอันตรายหรือเข้ามาข่มขู่พนักงาน คล้าย ๆ กับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เลยทีเดียว
เทคโนโลยีป้องกันขโมยแบบใหม่ที่ Coles เลือกใช้แม้จะดูล้ำหน้า และอาจจะสามารถลดจำนวนสินค้าที่ถูกขโมยลงได้ แต่ก็ดูเหมือนจะส่งผลอีกทางหนึ่งที่ไม่พึงประสงค์ด้วย คือไม่ได้ลดเฉพาะจำนวนสินค้าที่ถูกขโมยเท่านั้น แต่อาจจะลดยอดขายได้ด้วย
ลูกค้ารายหนึ่งเขียนด่าบนโซเชียลมีเดียว่า เธอสังเกตเห็นว่ามีกล้องที่ถ่ายและฉายภาพของเธอบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปด้วย ในระหว่างที่เธอสแกนสินค้าเพื่อจ่ายเงิน เธอตกใจมากที่ได้เห็นหน้าของตัวเองบนจอ และบอกว่านี่เป็นเทคโนโลยีที่ล่วงล้ำมาก ๆ
บรรดาคนที่เห็นด้วยต่างก็กรูกันเข้ามาคอมเมนต์ว่าเข้าใจนะว่าอยากกันขโมย แต่ทำแบบนี้นี่ไม่โอเคเลยสักนิด
คนที่ต่อต้านมาก ๆ ก็บอกว่า ขอบคุณที่โพสต์ให้รู้นะ ต่อไปนี้จะไม่กลับไปช้อปปิ้งที่นั่นอีกแล้ว
บางคนเสนอให้สู้กลับด้วยการเอาหมากฝรั่งไปแปะปิดกล้องไปเสียเลย
ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ยืนยันว่า ขั้นตอนการจับขโมยตั้งแต่ต้นจนจบนั้น จะไม่มีการระบุตัวตนของบุคคลใดเลย เพราะทางซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าร่วมด้วย
บทความนิรนามบนเว็บไซต์ The Guardian แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ที่เคยทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้เขียนเล่าว่าตัวเองได้เห็นขโมยประเภท shoplifting มาหลากหลายมาก และการขโมยของในร้านแบบนี้ก็สามารถแบ่งออกเป็น “ชนชั้น” ที่แตกต่างกันได้
บนยอดพีระมิดที่สูงสุดของการขโมย คือ กลุ่มคนมืออาชีพที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากการลักเล็กขโมยน้อย คนเหล่านี้จะสวมเสื้อโค้ตตัวใหญ่ ๆ ที่มีกระเป๋าเยอะ ๆ เข้ามาเลือกสินค้าและหยิบของราคาแพง ๆ ใส่กระเป๋าไปอย่างเงียบเชียบรวดเร็ว ตั้งแต่เนื้อวัวคุณภาพดีไปจนถึงไวน์ราคาแพง คนพวกนี้ทำงานว่องไว หลบหลีกเก่งกาจ นี่นับเป็นกลุ่มที่จับได้ยากที่สุด
รองลงมาก็คือกลุ่มคนที่มีปัญหาเสพติดอะไรบางอย่าง กลุ่มนี้จะโฟกัสไปที่การขโมยของชิ้นแพงที่จะเอาไปขายต่อเพื่อหาเงินมาซื้อของที่ตัวเองเสพ กลุ่มนี้จะจับง่ายรองลงมา
และมาถึงฐานล่างสุดของพีระมิดคือคนยากจนไม่มีจะกิน คนกลุ่มนี้หิวโหยและไม่รู้จะหาอาหารจากที่ไหนมาใส่ท้อง พวกเขาจะเลือกขโมยของกินมูลค่าต่ำ ๆ อย่างเช่นขนมปังแถว ส่วนใหญ่เมื่อถูกจับได้คนรอบข้างจะรู้สึกเห็นใจ และช่วยจ่ายเงินแทนให้
ผู้เขียนบอกว่า ตัวเองได้เห็นคนที่เข้ามาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตมาทุกรูปแบบ ตั้งแต่คนรวยที่ถมรถเข็นด้วยของกินราคาแพง ๆ ไปจนถึงคนจนสุดสุด ที่ไม่มีเงินพอแม้แต่จะซื้อขนมปังสักหนึ่งก้อน และได้สรุปว่าสังคมไม่มีทางกำจัดปัญหาเรื่องขโมยได้แบบหมดจด การขโมยจะยังคงอยู่กับเราอีกตลอดไป
การขโมยไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่การลักเล็กขโมยน้อยเพื่อประทังชีวิต สะท้อนถึงปัญหาสังคมที่ซับซ้อนกว่าที่ตาเห็น เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะช่วยขู่หรือจับโจรได้บ้าง แต่ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาในระยะยาวได้
และถ้าหาสมดุลที่เหมาะสมไม่เจอ ทางออกของปัญหาหนึ่งอาจจะสร้างอีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่าเดิมก็ได้
บทความโดย จิตต์สุภา ฉิน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 11 ต.ค.66
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_715839