สุดน่าสนใจ ! Thai PBS Sci & Tech ชวนรู้จัก “DSEL” ห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึกจีน ว่าที่คู่แข่งองค์การนาซา (NASA) ในอนาคต ในการ “สำรวจดวงจันทร์” รวมถึงภารกิจ “สร้างสถานีภาคพื้นดินบนดวงจันทร์แบบครบวงจร” เช่นเดียวกับ โครงการ Artemis
โดยห้องปฏิบัติการสำรวจห้วงอวกาศลึก (DSEL : Deep Space Exploration Lab) เป็นหน่วยงานภายใต้ องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) องค์การรัฐที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีและกิจการอวกาศในระดับชาติของประเทศจีน
สำหรับ DSEL ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง CNSA ในมณฑลอานฮุย (Anhui province) มณฑลหนึ่งทางตะวันออกของจีน และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน (University of Science and Technology of China: USTC) ที่ตั้งอยู่ในมณฑลอานฮุย
DSEL เป็นหน่วยงานทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสำรวจดวงจันทร์และห้วงอวกาศลึก โครงการสถานีวิจัยบนดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station: ILRS) และประสานงานด้านความร่วมมือกับต่างประเทศสำหรับโครงการ ILRS เพื่อพัฒนาการสำรวจอวกาศในห้วงอวกาศลึก (ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ไปจนถึงระบบสุริยะชั้นนอก) ในระยะยาวของจีน
สำนักงานใหญ่ของ DSEL ตั้งอยู่ในพื้นที่ Deep Space Science City ในเมืองเหอเฝย์ (Hefei) เมืองหลวงของมณฑลอานฮุย มีศูนย์ต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นในเรื่องกระบวนการต่าง ๆ ของยานอวกาศและดาวเทียม (การจำลองรูปแบบยาน การควบคุมการปฏิบัติภารกิจของยาน การประมวลผลข้อมูล) การเก็บและวิจัยตัวอย่างจากวัตถุอื่นในระบบสุริยะ และศูนย์ฝึกอบรม นอกจากนี้ DSEL ยังมีสาขาย่อยในกรุงปักกิ่งด้วย
ชวนรู้จักภารกิจยานอวกาศที่ DSEL รับผิดชอบ
1. ยานสำรวจดวงจันทร์ : โครงการฉางเอ๋อ (CLEP)
DSEL เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในเชิงวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ของจีนตั้งแต่เฟสที่ 3 นั่นคือยานเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์ส่งกลับมายังโลกในภารกิจฉางเอ๋อ 5 (Chang’e 5) นอกจากนี้ DSEL ยังมีส่วนร่วมในโครงการ “สถานีวิจัยบนดวงจันทร์นานาชาติ” (ILRS) โครงการสถานีเพื่อการอยู่อาศัยและวิจัยในระยะยาวของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ ที่นำโครงการโดยจีนและรัสเซีย
2. ยานสำรวจดาวอังคาร
DSEL เข้ามามีส่วนร่วมทั้งเชิงวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในภารกิจยานสำรวจดาวอังคารของจีน ตั้งแต่ยานเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ภารกิจยานสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีน ที่สำรวจดาวอังคารตั้งแต่ ค.ศ. 2021
3. จรวดบรรทุกสัมภาระขึ้นสู่อวกาศ
DSEL ร่วมรับผิดชอบการออกแบบ พัฒนา ทดสอบและสร้างจรวดสำหรับส่งยานสำรวจในห้วงอวกาศลึกของจีน
แม้ DSEL จะเพิ่งก่อตั้งขึ้นได้ไม่ถึง 2 ปี แต่จากบทบาทด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ DSEL มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น นับได้ว่าเป็นหน่วยด้านอวกาศของจีนที่น่าจับตามองมาก โดยเฉพาะโครงการสำรวจดวงจันทร์ ILRS ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 2 มหาอำนาจด้านอวกาศอย่างจีน และรัสเซีย ซึ่งล่าสุดมีประเทศอื่น ๆ ทยอยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการนี้แล้วอีกหลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บราซิล เวเนซุเอลา แอฟริกาใต้
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสถานีภาคพื้นดินบนดวงจันทร์แบบครบวงจร ที่ฝั่งหนึ่งเป็นของโครงการ Artemis นำโดย NASA ของสหรัฐฯ และอีกฝั่งหนึ่งเป็นโครงการ ILRS นำโดย DSEL และ CNSA ของจีน
บทความโดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Thai PBS / วันที่เผยแพร่ 30 ต.ค.66
Link : https://www.thaipbs.or.th/now/content/422