สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ INTERPOL จัดการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางเคมีและภัยคุกคามอุบัติใหม่ เปิดโอกาสให้องค์กรตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางเคมีกว่า 1,500 คน จากทั่วโลก
วันนี้ (16 ต.ค.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรีลา เขตบางรัก กทม. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางเคมีและภัยคุกคามอุบัติใหม่ (Global Congress on Chemical Security and Emerging Threats) ครั้งที่ 4 ร่วมกับ Mr.Greg Hinds รักษาการ ผอ.อาชญากรรมองค์กรและอาชญากรรมรูปแบบใหม่ INTERPOL และ Mrs.Catherine Colthart รักษาการ ผอ.ต่อต้านการก่อการร้าย INTERPOL ซึ่งในปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ INTERPOL
โดยการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 20 ต.ค.2566 ภายใต้หัวข้อ “ปฏิบัติการความปลอดภัยทางเคมี” โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินการ รวมถึงยุทธศาสตร์การบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจัดการประชุมในรูปแบบการอภิปรายแบบเปิดและแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้น ผ่านการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม หน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และกองทัพ เป็นต้น โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม กว่า 300 คน จาก 84 ประเทศสมาชิก ซึ่งมากที่สุดจากทุกครั้งที่ผ่านมา
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า การประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางเคมีและภัยคุกคามอุบัติใหม่ เริ่มต้น ครั้งแรกเมื่อปี 2561 โดยองค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ร่วมกับ หน่วยงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และความมั่นคงปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ สหรัฐอเมริกา (Cybersecurity and Infrastructure Security Agency: CISA) สำนักงานควบคุมและลดภัยคุกคามด้านกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Defense Threat Reduction Agency: DTRA) และสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation: FBI) และพันธมิตร G7 ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธและวัสดุที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วโลก จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมเจรจาเพื่อระหว่างหลายภาคส่วน ในการทำความเข้าใจต่อภัยคุกคามที่กำลังพัฒนาและเกิดอุบัติขึ้นใหม่ในปัจจุบัน และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรนานาชาติ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในการระบุแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในการตรวจจับ ยับยั้งและขัดขวางการใช้สารเคมีและวัตถุระเบิดโดยผิดกฎหมายทั่วโลก และสร้างกรอบแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงทางเคมีที่ก้าวข้ามพรมแดน ซึ่งการประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางเคมีและภัยคุกคามอุบัติใหม่ ถือเป็นโอกาสให้องค์กรตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางเคมีกว่า 1,500 คน จากทั่วโลก
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติและสมาชิกองค์การตำรวจสากล มีพันธกรณีตามข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีและอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธชีวภาพและสารพิษ โดยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างเคร่งครัดมาตลอด นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการแก้ไขไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย ยุทธศาสตร์ข่าวกรองแห่งชาติ และยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีกลไกเฉพาะเจาะจงที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ได้ทุกมิติ สำหรับประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางเคมีและภัยคุกคามอุบัติใหม่นี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบันพบว่า อาชญากรหรือกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี รวมถึงกลุ่มผู้ก่อการร้าย ต่างพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของตนเพื่อหลบหนีการตรวจสอบและหลีกเลี่ยงสายตาของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย มีการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการประกอบอาชญากรรม อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติในการผลิตอาวุธ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยจัดการเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ขั้นสูงทางเคมี ซึ่งไม่เคยมีประวัติอาชญากรหรือประวัติการต้องโทษทางคดีเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทำให้กลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายได้พัฒนารูปแบบใหม่ไปจากแผนประทุษกรรมที่ผ่านมาและตรวจสอบได้ยากมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ เข้าถึงได้ง่ายและแพร่กระจายได้มากขึ้นในสังคมออนไลน์ ทำให้ภัยคุกคามลักษณะนี้ มีผลกระทบในวงกว้าง จะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่สามารถรับมือได้อย่างครอบคลุม และไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะดำเนินการได้เพียงลำพัง
ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จาก 84 ประเทศสมาชิกองค์การตำรวจสากลและองค์การระหว่างประเทศ จึงเปรียบประหนึ่งการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดให้กับชุมชนของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความปลอดภัย และความมั่นคงในภาพรวมของโลกอย่างยั่งยืน แสดงถึงความพยายามและความทุ่มเทในการจัดการและต่อต้านกับความท้าทายของอาชญากรรมอุบัติใหม่ที่มีความซับซ้อนและท้าทาย เจ้าหน้าที่ต้องก้าวนำผู้ก่อการร้าย หรืออาชญากร อย่างน้อยหนึ่งก้าว เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นเข้าถึงสารเคมีที่จะนำไปทำร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยองค์การตำรวจสากลมีบทบาท ในการสนับสนุนการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาล หรือแม้กระทั่งภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รับการแบ่งปันระหว่างกันมีความถูกต้อง เหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล เคียงข้างและร่วมมือกันป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ต.ค.66
Link : https://mgronline.com/crime/detail/9660000093215