สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุม International Police Summit 2023 แสวงหาความร่วมมือในระดับสากล เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท
วันที่ 19 ต.ค.ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ และ พ.ต.อ.ศิลา ตันตระกูล ผกก.ฝ่ายความร่วมมือและกิจการระหว่างประเทศ ตท. ร่วมประชุม International Police Summit 2023 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 20 ตุลาคม 2566 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ นาย Shahkar Fasai ที่ปรึกษาพิเศษด้านงานตำรวจ องค์การสหประชาชาติ (UNPA) และหัวหน้าองค์กรตำรวจและผู้แทนจาก 34 ประเทศ ตลอดจนผู้แทน UNDPO, UNDP และ Europol โดยมีนาย Yoon Hee Keun ผบ.ตร.สาธารณรัฐเกาหลี และ นาย Cho Ji Ho รอง ผบ.ตร.สาธารณรัฐเกาหลี ให้การต้อนรับ
ในการนี้ พล.ต.ท.ประจวบ และคณะ ได้เข้าร่วมงานวันตำรวจแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับ นาย Bun Kee Moon อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสาธารณรัฐเกาหลี เอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ และหัวหน้าหน่วยงานตำรวจจาก 34 ประเทศทั่วโลก โดยมีนาย Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ให้การต้อนรับ พิธีเป็นไปอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า การประชุม International Police Summit 2023 เป็นการร่วมหารือและดำเนินกลยุทธ์เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมทุกประเภทที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ โดยในปัจจุบันบริบทการทำงานของตำรวจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สืบเนื่องจากอาชญากรรมและภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของประชาชนที่ซับซ้อนและรุนแรง ภัยพิบัติทางด้านสุขภาพของประชากรโลก และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการทำงานของตำรวจ
ดังนั้น การประชุมตำรวจนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของผู้บริหารหน่วยงานตำรวจจากทั่วโลกที่จะร่วมกันบอกเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ระดมแนวคิดสำหรับการดำเนินการเชิงรุกในการรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระยะยาว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการแสวงหาร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจของประเทศอื่นๆ อย่างมาก มีการปฏิบัติที่สำคัญในความร่วมมือ เช่น แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (2023-2027) (LM-LECC) อันเป็นความร่วมมือของกันระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาค เน้นความสำคัญในอาชญากรรมข้ามชาติอันร้ายแรง และในช่วง 3 เดือนแรก สามารถช่วยเหลือบุคคลที่ถูกหลอกลวงมาทำงาน และจับกุมผู้ต้องหากลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 39 คน
นอกจากนี้ยังการมีปฏิบัติการร่วมกับกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และสามารถช่วยเหลือเหยื่อชาวไทยกว่า 800 ราย โดยมีมาตรการต่อไปคือการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพื้นที่การปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อศึกษาสาเหตุที่แท้จริงและออกมาตรการใหม่ต่อไป ในส่วนของอาชญากรรมออนไลน์ 18 เดือนที่ผ่านมา เราได้รับรายงานมากกว่า 330,000 ครั้ง มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ออกมาตรการ จัดตั้งระบบรายงานเหตุออนไลน์ จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและศูนย์แจ้งเตือนอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งเพิ่มหน่วยงานเฉพาะทาง เช่น ตำรวจไซเบอร์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับแก้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนความร่วมมือระดับภูมิภาค ได้เพิ่มความพยายามในการป้องกันการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลข้ามชาติ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบสื่อสาร และฝึกอบรมบุคลากรที่เชี่ยวชาญ
จากนั้น พล.ต.ท.ประจวบ ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี ทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุความตกลงมาตรการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดี ร่วมกันรักษาความปลอดภัยให้พลเมืองไทย จำนวน 2 แสนคน ที่เป็นนักท่องเที่ยว และทำงานในประเทศเกาหลี ตลอดจนพลเมืองเกาหลีที่เป็นนักท่องเที่ยว เรียน และทำงานในประเทศไทย อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยในอนาคตจะผลักดันให้มีผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ เพื่อรองรับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ประจวบ ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับกระทรวงความมั่นคง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้ง 2 ประเทศได้บรรลุความตกลงมาตรการเสริมสร้างความร่วมมือที่ดี โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย จะเข้าร่วมโครงการ International Initiative of Law Enforcement for Climate (I2LEC) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของผู้บังคับใช้กฎหมาย ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมกับ UNODC, Interpol, UNPOL และ 41 ประเทศ ร่วมกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า climate change เป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอาชญากรรมขนาดใหญ่ เช่น การฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ฯลฯ และตำรวจเป็นองค์กรแรกที่ต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ สร้างเครือข่ายระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมกรรมที่เกี่ยวข้องกับหรือเป็นต้นเหตุของ climate change ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ climate change หรือ environmental crime อย่างจริงจังและยั่งยืน
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวทิ้งท้ายว่า การแสวงหาความร่วมมือในทุกมิติผ่านการประชุม International Police Summit 2023 ในครั้งนี้ ส่งผลให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมบรรลุเจตนารมณ์ร่วมกันในการเล็งเห็นความสำคัญและการตระหนักถึงผลกระทบของอาชญากรรมทุกประเภท ซึ่งในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติและมีลักษณะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของทุกประเทศ และจะร่วมกันยกระดับการประสานความร่วมมือในการบูรณาการปราบปรามและแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิดและจริงจังอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคี และระดับสากล เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย เกิดสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ต.ค.66
Link : https://mgronline.com/crime/detail/9660000094212