Meta Platforms กำลังเผชิญศึกเดือดกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ กับเรื่องการจ่ายเงินค่าเนื้อหาข่าวบน Facebook ให้กับสำนักข่าว
แต่เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร ทำไมประเทศต่าง ๆ ถึงพยายามบังคับให้ Meta จ่ายเงินส่วนแบ่งให้กับวงการสื่อ
เนื้อหาข่าวบนโซเชียลมีเดีย
ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังสูญพันธุ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันชาวเน็ตโดยมากเข้าดูเนื้อหาข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย และสื่อต่าง ๆ ก็ต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่เนื้อหา รวมถึงเรียกยอดเข้าชม
รายงานในปี 2019 ของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราชี้ว่า ชาวออสเตรเลียมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ค้นหาข่าวบนโซเชียลมีเดีย
เช่นเดียวกับผลการสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2021 ที่ชี้ว่าเกินครึ่งของชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ที่อ่านข่าวผ่านโซเชียลมีเดีย
แต่สำนักข่าวกลับประสบความยากลำบากด้านรายได้ โดยเฉพาะสื่อท้องถิ่น และการเก็บค่าสมาชิกบนเว็บไซต์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ในทางกลับกัน รายได้โฆษณาที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าชมเนื้อหาข่าวกลับไหลไปเว็บไซต์อื่น ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่เป็นเจ้าของช่องทางนำเสนอข้อมูลแทบจะเป็นเบ็ดเสร็จ
นี่ทำให้ รัฐบาลหลายประเทศผุดไอเดียให้โซเชียลมีเดีย มาช่วยกอบกู้วงการสื่อมวลชนในประเทศขึ้นมา
ทำไม Facebook ต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าว
ในปี 2021 รัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายต่อรองสื่อข่าว (News Media Bargaining Code – NMBC) ที่บังคับให้ Facebook และ Google ต้องจ่ายเงินให้กับสำนักข่าวจากการนำเนื้อหาข่าวมาไว้บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
รัฐบาลออสเตรเลียมองว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และสำนักข่าวพึ่งพาซึ่งกันและกัน
บริษัทโซเชียลมีเดียได้รายได้จากยอดเข้าชมเนื้อหาข่าวที่เผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง และผู้ผลิตข่าวก็จำเป็นต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียในการเป็นแพลตฟอร์มวางเนื้อหาข่าว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างข้อตกลงระหว่างกันที่จะช่วยให้สำนักข่าวได้รับเงินส่วนแบ่งจากโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม
รัฐบาลออสเตรเลียอ้างว่า การบังคับใช้ NMBC ประสบความสำเร็จ เจ้าของสื่อสามารถทำข้อตกลงกับโซเชียลมีเดียที่นำไปสู่การเติบโตของวงการสื่อในประเทศ ผ่านการเพิ่มอัตราพนักงานและขยายสำนักงาน
ประเทศอื่นเอาด้วย
กฎหมาย NMBC กลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศนำมาตรการเหล่านี้ มาใช้เพื่อช่วยเหลือจุนเจือสำนักข่าวภายในประเทศ โดยเห็นตรงกันว่าในเมื่อโซเชียลมีเดียได้ประโยชน์จากเนื้อหาข่าว ก็ควรตอบแทนให้เหมาะสม
เริ่มจากแคนาดาที่พยายามเข้ามาจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสำนักข่าว แต่เปิดช่องให้โซเชียลมีเดียต่อรองค่าตอบแทนได้ โดยมีขั้นต่ำอยู่ที่ 4% ของรายได้ที่โซเชียลมีเดียได้รับ
ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ที่ออกมาตรการคล้าย ๆ กัน
แพลตฟอร์มออนไลน์ยึดกุมเอาเนื้อหาข่าวไปเสริมความมั่งคั่งให้กับแพลตฟอร์มตัวเอง แต่ไม่เคยจ่ายเงินตอบแทนน้ำพักน้ำแรงที่สื่อใช้ในการรายงานข่าว
เดวิด ซิซิลลีน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตและริพับลิกันในสหรัฐฯ ร่วมกันผลักดันรัฐบัญญัติการแข่งขันและการพิทักษ์สื่อ (Journalism Competition and Preservation Act) ที่ให้อำนาจสื่อเจ้าต่าง ๆ ในการรวมตัวกันเพื่อต่อรองค่าแรงได้
เอมี โคลบูชาร์ (Amy Klobuchar) วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ชี้ว่าองค์กรสื่อควรสามารถต่อรองค่าตอบแทนกับแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ครอบครองช่องทางเผยแพร่ข่าวอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการคุ้มครองเสรีภาพสื่อ
เช่นเดียวกับ เดวิด ซิซิลลีน (David Cicilline) ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการต่อต้านการผูกขาด การพาณิชย์ และกฎหมายปกครอง ที่ชี้ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ยึดกุมเอาเนื้อหาข่าวไปเสริมความมั่งคั่งให้กับแพลตฟอร์มตัวเอง แต่ไม่เคยจ่ายเงินตอบแทนน้ำพักน้ำแรงที่สื่อใช้ในการรายงานข่าว
ถอนเนื้อหาข่าวออก
Meta ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเหล่านี้ วิธีการที่ใช้ตอบโต้ คือ การแบนการแปะลิงก์ข่าวหรือถอนเนื้อหาข่าวออกจาก Facebook ในประเทศนั้น ๆ
บทความโดย จตุรวิทย์ เครือวาณิชกิจ
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Beartai / วันที่เผยแพร่ 5 ต.ค.66
Link : https://www.beartai.com/article/tech-article/1309039