กรุงเทพฯ 4 ต.ค.- นายกฯ เรียกประชุม ปรับแผนส่งข้อมูลเตือนภัยระดับชาติให้รวดเร็ว หลังเกิดเหตุยิงในสยามพารากอน ด้าน กสทช.รับลูกพร้อมดำเนินการ แต่ต้องขอกฎระเบียบชัดเจน สั่งการจากศูนย์เตือนภัยฯ สังกัด ก.มหาดไทย
นายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกประจำประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) . เปิดเผยว่า ตามที่ นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวางแผนเรื่องการแจ้งข้อมูลฉุกเฉิน แก่ประชาชน หลังเกิดเหตุยิงกลางสยามพารากอน วานนี้ (3 ก.ย.) นั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี)ได้ให้ กสทช.เตรียมข้อมูล เสนอต่อที่ประชุม โดย กสทช.พร้อมเป็นกุญแจเชื่อมต่อการแจ้งเตือนกับค่ายมือถือหรือโอเปอเรเตอร์ทุกราย แต่อำนาจและข้อมูล ข้อความในการเตือนภัยในขณะนี้ อยู่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ ตลอดจนแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ดังนั้น หากทางรัฐบาล สั่งการ ออกระเบียบ ให้ศูนย์เตือนภัยฯ มีการแจ้งข้อมูล และประสานมายัง กสทช. ทาง กสทช.ก็จะแจ้งโอเปอเรเตอร์ เพื่อเตือนภัยได้ทันที
โดยในขณะนี้ กสทช. ได้จัดไทม์ไลน์ในการดำเนินการ ว่าจะต้อง ทำอะไรบ้าง เสนอต่อ รมว.ดีอี เพื่อให้การทำงานในลักษณะ Emergency Alert System (EAS) ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน และ ข้อความแจ้งเตือนจากรัฐบาล ซึ่งได้มีการใช้งานเป็นระบบเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติ ดำเนินการได้ อย่างสมบูรณ์รวดเร็ว เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีค่ายสหรัฐ หรือญี่ปุ่น ใช้รูปแบบ อนาล็อก หรือดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม จากที่ประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G แล้ว ก็น่าจะใช้รูปแบบ ดิจิทัล แจ้งผ่าน มือถือ และสามารถใช้ตาม CODE ของอุปกรณ์ในมือถือนั้น ๆ สามารถแปลงได้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เตือนทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักลงทุน และอื่นๆ
“ศูนย์เตือนพิภัยแห่งชาติ เคยสังกัด ดีอี แต่ภายหลังได้ย้ายสังกัดไป ก.มหาดไทย ซึ่งในขณะนี้หากมีระเบียบชัดเจนให้ ศูนย์ฯจัดทำข้อมูล ข้อความเตือนภัย ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุด่วนเหตุร้าย ปัญหา พีเอ็ม 2.5 หรืออื่น ๆ แล้วให้ กสทช.สั่งการกระจายข้อมูลไปยังโอเปอเรเตอร์ ทาง กสทช.ก็จะเร่งดำเนินการทันที ซึ่งเรื่องข้อความข้อมูลก็ต้องไม่สร้างแพนิก หรือตื่นตระหนกจนเกินไป ในขณะที่การเลือกเทคโนโลยีนั้นก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว” นายพชร กล่าว
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวไทย อสมท. / วันที่เผยแพร่ 6 ต.ค.66
Link : https://tna.mcot.net/business-1249446