ไม่เพียงเหตุรุนแรงในย่านการค้าสำคัญกลางกรุงเทพฯ ที่ช็อกคนไทยทั้งประเทศเท่านั้น แต่เหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปีเต็มแล้ว ปรากฏว่าช่วงนี้มีเหตุถี่ยิบทุกวัน
เรียกว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเหตุระเบิด!
หนำซ้ำ ยังมีการก่อเหตุในลักษณะแสดงศักยภาพว่า กลุ่มก่อความไม่สงบยังมีแนวร่วมจำนวนมาก เพราะมีการกระจายกันโจมตีฐานปฏิบัติการและจุดตรวจ ตลอดจนลอบวางระเบิดสถานที่ในเวลาใกล้เคียงกันถึง 12 แห่งในคืนเดียว ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด
หลายเหตุการณ์เป็นการวาง “กับระเบิดแบบเหยียบ” ซึ่งเป็นวิธีการโจมตีที่โหดเหี้ยม ไม่เลือกเป้าหมาย แถมยังพัฒนากลไกของ “กับระเบิด” ให้จุดระเบิดง่ายขึ้น และมีความผิดพลาดน้อยลงอีกด้วย
@@ 17 วัน 11 เหตุการณ์…ใครไม่อยากให้เลิก พ.ร.ก.?
น่าสังเกตว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเร่งก่อเหตุในช่วงที่รัฐบาลกำลังพิจารณาจะยกเลิก “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีกสิบกว่าวันข้างหน้านี้หรือไม่ หลังจากต่ออายุขยายเวลาการใช้มาถึง 73 ครั้ง รวมเวลากว่า 18 ปี โดยการต่ออายุครั้งล่าสุด ขยายเวลาเพียง 1 เดือน ไม่ใช่ 3 เดือนเหมือนทุกครั้ง
สรุปเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีการต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งล่าสุด นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.66 เป็นเวลา 1 เดือน และจะครบเวลาวันที่ 19 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ผ่านมา 17 วัน (20 ก.ย.-7 ต.ค.66) เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบรวมทั้งหมด 18 เหตุการณ์ แยกเป็น
– เหตุใช้อาวุธปืนยิงฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ และยิงประชาชนชาวบ้าน 11 เหตุการณ์
– เหตุระเบิด (ไปป์บอมบ์, ระเบิดแบบวาง และกับระเบิด) รวม 7 เหตุการณ์
– มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
รวมเหตุรุนแรงทุกประเภทเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 เหตุการณ์
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เริ่มใช้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในท้องที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 33 อำเภอ มาตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 และใช้อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 18 ปี โดยต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือน นับจำนวนครั้งได้ 73 ครั้ง แต่ครั้งสุดท้าย รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน เลือกขยายเวลาแค่ 1 เดือน (กฎหมายให้ต่อได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน)
ที่ผ่านมามีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นรายอำเภอมาแล้ว 11 อำเภอจากทั้งหมด 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หาก 19 ต.ค.นี้รัฐบาลตัดสินใจไม่ต่ออายุขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
หลายคนมองว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบอาจกำลังเร่งก่อเหตุรุนแรง เพื่อไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลกล้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะการยังคงใช้กฎหมายพิเศษซึ่งมีผลในเรื่องของการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ได้ต่อไป
ขณะที่บางฝ่ายก็มองว่า เจ้าหน้าที่บางกลุ่มเองก็อาจไม่อยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเกรงจะกระทบกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ตนเองได้รับอยู่ แต่หากให้แลกกับความสงบและความปลอดภัย ก็น่าเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเสี่ยงตายเพื่อหวังผลประโยชน์ที่อาจจะไม่คุ้มค่า
@@ ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์จี้หยุดต่อ พ.ร.ก.
วันที่ 6 ต.ค.66 ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ INC ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาล ยุติการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เนื้อหาของแถลงการณ์ ระบุว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้บังคับใช้กฎหมายพิเศษ หรือกฎหมายความมั่นคง ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศ ได้แก่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ และกฎอัยการศึก โดยได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว 73 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน เป็นเวลาทั้งสิ้น 6,570 วัน ล่าสุดวันที่ 18 ก.ย.66 คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน โดยจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 20 ต.ค.66
ตลอดระยะเวลาที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน อันเป็นการบั่นทอนเสรีภาพบางสิ่งบางอย่าง การใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองจากองค์กรสิทธิมนุษยชนตลอดมาว่า เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการตรวจค้น และควบคุมตัวผู้ต้องหายาวนานถึง 37 วัน (รวมระยะเวลาควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกอีก 7 วัน)
เพื่อเป็นการสอดรับกับบทบาทรัฐบาลประชาธิปไตยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการที่จะเดินหน้าสร้างสันติภาพ สันติสุขในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชนในพื้นที่และพี่น้องประชาชนอีกมากมายคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่มีความจริงใจที่จะสร้างสันติภาพ สันติสุขในพื้นที่ โดยใช้การเมืองนำการทหาร สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน
สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ INC ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ยุติการต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แทน
@@ สัญญาณบวกเลิก พ.ร.ก. – กมธ.กฎหมายฯถก 17 ต.ค.
ด้าน นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ หรือ “ทนายแวยูแฮ” ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และโฆษกพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคประชาชาติได้บอกกับประชาชนว่า จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าการยกเลิกจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่า
ปัจจุบันมีสัญญาณเชิงบวก เพราะรัฐบาลในอดีตต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุก 3 เดือนตามวงรอบ แต่รัฐบาลปัจจุบันต่ออายุเพียง 1 เดือนเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งฝ่ายความมั่นคงก็มีแผนเตรียมการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในบางอำเภอทุกปีอยู่แล้ว จนถึงปี 2570 พื้นที่ที่ไม่เกิดปัญหาความรุนแรงหรือความไม่สงบ ปัจจุบันก็ยกเลิกไปเกือบครึ่งทาง จากทั้งหมด 37 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เลิกไปแล้ว 11 อำเภอ
“อีกไม่กี่วัน คือวันที่ 19 ต.ค. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กบฉ. จะมีการสรุปแนวทางว่าจะทำอย่างไรต่อไป หากจะประกาศใช้ต่อและมีความจำเป็น ก็ต้องมีเหตุผลในการประกาศใช้ และหากจะมีการยกเลิก จะมีกฎหมายไหน หรือแก้กฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างไร เพื่อให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์พื้นที่ได้ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกมลศักดิ์ กล่าว
และว่าในฐานะ ส.ส.พื้นที่ และเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา นำไปสู่สันติสุข สันติภาพ นำความเจริญสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และในส่วนของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จะมีการพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ด้วย
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา / วันที่เผยแพร่ 9 ก.ค.66
Link : https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/122708-bombsecurity.html