รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ทางช่องยูทูป Siamrathonline ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 วิเคราะห์สถานการณ์โลกที่ร้อนระอุจากสงครามระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ และสัญญาณก่อการร้ายหวนคืนในทวีปยุโรป
ความเสี่ยงของประเทศไทยอยู่จุดไหนยังอีกไกลหรือใกล้ตัวกว่าที่คิด ในมุมของภาครัฐ และประขาชนควรรู้เท่าทันอย่างไร
– สถานการณ์ในยุโรปหลายประเทศ ยกระดับการเตือนภัยก่อการร้าย สถานการณ์วันนี้สำหรับประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว หรือว่าใกล้ตัวเรามากน้อยแค่ไหน
ต้องถือว่าใกล้ตัว กว่าที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล ประการแรก คือ แม้เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งก็จริง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายทั้งฝั่งอิสราเอลและฝั่งปาเลสไตน์ เคยทำงานร่วมกันในหลายรูปแบบ แต่ประเด็นขณะนี้เรากลายเป็นคู่กรณีไปแล้ว จากกรณีที่คนไทยโดนจับเป็นตัวประกัน และเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ น่าจะรองจากสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น การที่เราเป็นคู่กรณีทำให้เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยตรง ในความพยายามจะช่วยเหลือคนไทยออกมา อาจจะต้องกดดันหน่วยงานไทยให้รุกคืบในการช่วยคนไทยออกมาให้ได้มากขึ้น ประเด็นนี้ทำให้เราเป็นคู่กรณี
ประการที่สอง ไม่ใช่แต่ในยุโรปที่ประกาศเตือนภัยก่อการร้าย แต่ในเอเชียประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตอนนี้สั่งเฝ้าระวังกันหมดแล้ว จากแนวโน้มที่พันธมิตรของกลุ่มฮามาส ของกลุ่มปาเลสไตน์ ซึ่งมองเห็นความสูญเสียของเขามากมายมหาศาล กลุ่มพันธมิตรของเขาคงจะไม่อยู่นิ่ง กำลังเคลื่อนไหว ระดมพลอย่างเช่นในเลบานอน เราก็ทราบอยู่แล้วในเรื่องของกลุ่มกองกำลังมีเป็นแสน และในตะวันออกกลางอีกหลายประเทศที่เตรียมพร้อมที่จะโจมตีผลประโยชน์อิสราเอล รวมทั้งพันธมิตรของเขาโดยเฉพาะสหรัฐฯ แต่จริง ๆ คือ ข้ออ้างที่จะใช้กำลังกัน โดยเฉพาะการโจมตีพลเรือนอย่างที่เห็นทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี ในเอเชียหลายประเทศสั่งเตรียมพร้อม บ้านเราเองก็จับตาความความเคลื่อนไหวที่คึกคักได้ ของกลุ่มต่อต้านอิสราเอล กลุ่มต่อต้านปาเลสไตน์ โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านอิสราเอล หลายประเทศมีการชุมนุมแล้ว รวมทั้งประเทศไทยมีการยื่นหนังสือเรียกร้อง มีการกดดัน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ ประมาทไม่ได้ต้องดูแลกันให้ดี ทั้งในตะวันออกกลาง ทั้งบ้านตัวเอง
– ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องประกาศเตือนภัยก่อการร้ายในประเทศไทย
จริง ๆ ตอนนี้คนทราบหมดแล้ว แต่ว่าควรจะมีแนวทางให้ประชาชนปฏิบัติตัว พูดง่าย ๆ ให้ปลอดภัยขึ้น อาจจะไม่ต้องยกระดับถึงขนาดเป็นขั้นที่ 4 ขั้นสุดท้าย อย่างเช่นในประเทศที่เขามีปัญหา อย่างเช่นที่เบลเยียม แต่ว่าก็ต้องแจ้งเตือนขอความร่วมมือกับประชาชนว่าถ้ามีอะไรผิดสังเกตให้รีบแจ้ง แล้วก็ระมัดระวังในการเดินทาง ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าเพิ่งเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แต่เรื่องเหล่านี้คนทราบอยู่แล้ว บางคนก็บอกว่า เดี๋ยวเครียดหรือเปล่ามาเตือน แต่ว่าอย่างไรก็ต้องเตือนตามหน้าที่ เพียงแต่จะแนะนำสายด่วน สายตรง ไม่ใช่เตือนเฉย ๆ แล้วเขาจะไปแจ้งใคร และอาจจะจัดชุดปฏิบัติการของหมู่บ้านตามแนวชายแดน ตามชุมชน ชุดปฏิบัติการของตำรวจ ชุดปฏิบัติการจิตวิทยา เข้าไปดูว่าคนเครียดไหม แล้วคนมีปัญหาอะไรกับสถานการณ์นี้ มันจะทำให้ผ่อนคลายได้ แล้วก็อาจจะทำให้เฝ้าระวังได้ดีขึ้น ถ้าบอกให้เขาระวังอย่างเดียวผมคิดว่า เขาก็ระวังอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้เป็นระบบขึ้นว่าจะแจ้งเตือนที่ไหน แล้วถ้ามีอะไรเครียด ติดขัด ขัดข้องจะให้ใครช่วยก็จัดระบบ แล้วจัดเจ้าหน้าที่เราให้พร้อม อันนี้จะช่วยได้เยอะมาก โดยเฉพาะเครือข่ายของคนไทยที่มีในพื้นที่สู้รบในพื้นที่ตะวันออกกลาง พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ของชุมชนต่าง ๆ ที่อาจจะต้องเฝ้าระวัง คือ ตอนนี้เราก็ส่งกำลังไปเฝ้าระวังสถานที่ของอิสราเอลหลายแห่ง สถานทูต โบสถ์ ตอนนี้มีเจ้าหน้าที่เต็มไปหมดแล้วคงจะเรียบร้อยดี แล้วตอนนี้มีความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ที่เรากำลังจับตาดูกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเขาประกาศแล้วว่า เป็นพันธมิตรกับฮามาส เพราะฉะนั้นต้องดูให้ดีว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นตรงนั้นหรือเปล่า แต่ว่าทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ต้องยอมรับแล้วก็ต้องบริหารจัดการกันให้ดี แล้วจะทำให้ปลอดภัยขึ้น
– มองว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างสถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในยุโรป และสถานการณ์สู้รบกันในตะวันออกกลาง
ใช่ มันเชื่อมโยงกัน 2 รูปแบบ รูปแบบหนึ่งจะเป็นเครือข่ายของเขาโดยตรง แล้วก็ปฏิบัติการคู่ขนานกันไป แต่ว่ารูปแบบใหม่ที่มีการพูดถึงและวิตกกังวลกัน คือ รูปแบบอิสระ คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ขัดแย้งกันก็จริง แต่ว่าเป็นกลุ่มที่อาจจะปฏิบัติการตามลำพัง แล้วก็เป็นกลุ่มที่โดดเดี่ยว เป็นกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาลนั้น ๆ ของตัวเอง อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกดดัน พวกนี้เขาจะลงมือปฏิบัติการในช่วงนี้ ลอกเลียนแบบกัน ภาษาอังกฤษ Lone Wolf หรือ Copycat ถือโอกาสผสมโรงเข้าไป ซึ่งในยุโรปเกิดขึ้นมาก ทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน เบลเยียม แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะฉะนั้นในยุโรปตอนนี้เดือดร้อนกันหมด แล้วมีการลอกเลียนแบบด้วยคล้าย ๆ กับเหตุกราดยิงในโรงเรียน พอประเทศหนึ่งกราดยิง อีกประเทศหนึ่งก็กราดยิง มันปั่นป่วน เพราะว่าการสื่อสารมันเข้าถึงกัน
อย่างไรก็ตาม การสู้รบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทำร้ายพลเรือน การสื่อสารมันเข้าไปถึงคนเป็นร้อย ๆ เป็นพันล้าน แล้วผลกระทบยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แตกต่างจากสงครามรอบแรก ๆ ที่ไม่พอใจกันมาก แล้วกดดันกันทั้งอิสราเอลก็ถูกกดดัน ฮามาสตอนแรกก็นึกว่า จะได้รับการสนับสนุนมาก แต่ตอนหลังหลายประเทศก็ตัดความช่วยเหลือ แม้แต่ประเทศที่สนิทกัน อาจจะออกมาแถลงยืนยันในหลักการสนับสนุน แต่ว่าการโจมตีพลเรือนโดยตรงแบบนี้ บ้านต่อบ้าน ฟาร์มต่อฟาร์ม ชุมชนต่อชุมชนทั้งสองฝ่าย คนรับไม่ได้ ทีนี้มันก็อาจจะเกิดแรงกดดัน แรงโต้กลับ อาจจะใช้ความรุนแรง ต่อสู้กับความรุนแรง พูดง่าย ๆ ว่า ตอนนี้สถานการณ์ไม่นิ่งเลย แล้วก็สถานการณ์กระเพื่อมในหลายประเทศ เราก็ต้องระวังการปะทุของเราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
– มีคำแนะนำบอกว่าเราควรจะส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมไปที่ปาเลสไตน์
ควรครับ ควรจะส่งความช่วยเหลือให้กับทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ เขาบริจาคเงิน 3 แสนเหรียญ ให้กับกาชาดสากลของเขา แล้วสภากาชาดของเขาก็จะเชื่อมกับสภากาชาดสากล แล้วถ้าพรมแดนอียิปต์เปิดได้จริง เข้าใจว่าสภากาชาดสากลก็อาจจะมีโอกาสเข้าไปช่วยเงินตรงนั้นก็จะได้ถึงพี่น้องชาวไทยที่อาจจะต้องหนีเข้ามาในกลุ่มนั้น ถึงพี่น้องมุสลิม พี่น้องชาวอิสราเอลที่เราไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้นก็ควรจะบริจาค แต่เราไม่มีเงินเท่ากับสิงคโปร์ อาจจะน้อยหน่อยแต่ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเราคำนึงถึงเรื่องมนุษยธรรมจริงๆ ขณะที่ในสหประชาชาติกำลังคุยกันอยู่รอบใหม่ ไทยเราจะต้องยกมือ ขอพูด ขอกดดันขอแสดงความคิดเห็น ว่าเราได้รับความเสียหายมากเป็นประเทศอันดับต้นๆ คณะความมั่นคงควรจะเสนอในเรื่องความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมว่าให้ช่วยคนไทยออกมา ตอนนี้ (วันที่ 18 ตุลาคม 2566) ผู้นำเรากำลังจับมือกับประเทศสำคัญ ๆ มาก ๆ เลย ที่จะมีโอกาสช่วยคนไทยอย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย แล้วก็กำลังเยี่ยมเยียนกันอยู่ แล้วก็กำลังจะประชุมมีทั้งจีน มีทั้งรัสเซีย ประเทศเหล่านี้เขามีสายตรงแน่นอนกับคนในพื้นที่ทุกฝ่าย แล้วก็กำลังเคลื่อนเข้าไปเพื่อหาทางเจรจา เราฝากความหวังไว้กับเขาเลย ว่ายามนี้เราวิกฤติแล้ว คนไทยเสียชีวิตกันเยอะ แล้วก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน เห็นวิดีโอคลิปของชาวอิสราเอลลูกครึ่งฝรั่งเศสว่าปลอดภัย เราอยากจะขอคลิปคนไทยด้วยว่าปลอดภัยไหม ส่งมาให้เราดูหน่อย เรื่องเหล่านี้ต้องทำ แต่ว่าไม่สำเร็จไม่เป็นไร ไม่สำเร็จก็ถือว่า ได้พยายามแล้ว แต่ถ้าไม่ทำ มันจะมีคำถามตามมามากเลยว่ามันมีปัญหาตรงไหน ในเมื่อหลายๆประเทศเขาก็ทำ
– ถ้ามองตรงนี้ในอดีต ปัจจัยที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายในประเทศไทยกับปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คำพูดที่ว่า ไทยเป็นแหล่งกบดาน หรือว่าเป็นแหล่งพักพิงของผู้ก่อการร้าย ทำให้เราปลอดภัยมาตลอด วันนี้อาจจะไม่เป็นเหมือนเดิมใช่หรือไม่
จริง ๆ เราเองเผชิญกับเหตุการณ์ก่อการร้ายเป็นระยะ ๆ ไม่ได้ห่างไกลจากการก่อการร้าย เราเห็นการพยายามที่จะโจมตีพลเรือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้หญิง เด็ก พระ ชาวบ้าน พี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ ที่เป็นเหยื่อหลายพันคน อันนี้เราเห็นชัดเจนว่า เป็นวิธีการก่อการร้าย คือปกติเขาไม่ทำร้ายพลเรือน แล้วก็ไม่โจมตีเป้าหมายอ่อนแอ โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ร้านค้า เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมี แต่ภายหลังมีมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมานี้ ชัดเจนว่าพวกตรงนี้เป็นเป้าหมายไม่ได้ไปโจมตีทหารโดยตรง อย่างเดียวหรือว่าบ่อยครั้ง แต่จะมาโจมตีพลเรือน นี่ก็เป็นการก่อการร้ายประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในบ้านเรา
นอกจากนั้น ก็มีกลุ่มปฏิบัติการก่อการร้ายสากล เข้ามาในบ้านเราเป็นระยะ ๆ จับตัวประกันก็มีหลายครั้ง ที่สถานทูตก็มีวางระเบิด เข้ามาพยายามลอบสังหารทุตานุทูตก็มี ที่สามารถจับกุมได้หลายครั้ง อันนี้เราคุ้นเคยพอสมควร ยึดเครื่องบินก็มี ถ้าย้อนกลับไปในอดีตยึดเครื่องบิน ยึดโรงพยาบาลก็มี เมื่อเร็ว ๆ นี้เองปีสองปี ก็สามารถจับกลุ่มกองกำลังเหล่านี้ได้ มาปฏิบัติการแล้วเกิดผิดพลาดขาขาด แล้วเราก็ส่งกลับไปให้กับอิหร่าน เป็นต้น อย่างนี้ก็ถือว่าเราคุ้นเคย ไม่ห่างไกล มีประสบการณ์แล้วก็พร้อมที่จะปฏิบัติการเพื่อป้องกันในระลอกต่อไป ถ้าเกิดเข้ามา อันนี้ก็ถือว่าต้องระวังอย่าประมาท
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : สยามรัฐ / วันที่เผยแพร่ 30 ต.ค.66
Link : https://siamrath.co.th/n/487941