ความสนใจของชาวโลก ได้พุ่งตรงไปที่อิสราเอลทันที เมื่อ ฮามาส ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ประกาศว่าได้ยิงจรวดไปมากถึง 5,000 ลูก ทำให้อิสราเอลประกาศภาวะสงคราม ลั่นต้องชนะ บุกโจมตีชาวปาเลสไตน์ ท่ามกลางการตอบโต้กันของ 2 ฝ่ายอย่างไม่มีทีท่าจะจบลง
กระทั่งปัจจุบันผ่านไปแล้ว 4 วัน มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 1,500 คน โดยสถานีโทรทัศน์อิสราเอลระบุยอดผู้เสียชีวิต จากการโจมตีของฮามาสเพิ่มขึ้นเป็น 900 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 2,600 คน และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันอีกหลายสิบคน ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ ได้ถูกสังหารอย่างน้อย 687 ราย และได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศ 3,726 คน
และเป็นที่จับตาของคนทั่วโลกเช่นกัน เมื่อกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ได้ระดมยิงจรวดใส่อิสราเอล แต่กองทัพอิสราเอลได้ระบุว่า ราว 90% ของจรวดที่ยิงเข้าไปนั้นถูกสกัดโดยระบบขีปนาวุธป้องกันที่สำคัญอย่าง Iron Dome
แล้วระบบอัจฉริยะ Iron Dome หรือโดมเหล็กนี้ คืออะไร
ระบบป้องกันขีปนาวุธนี้เป็น 1 ในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในคลังแสงของอิสราเอล ที่ช่วยชีวิตพลเรือนนับไม่ถ้วนจากความขัดแย้งในทศวรรษที่ผ่านมา มีนักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า มันมีประสิทธิภาพสูง กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลกล่าวว่า ระบบนี้มีอัตราความสำเร็จที่ 95.6% ในระหว่างการโจมตีโดยยิงจรวดของญิฮาดอิสลามในเดือนพฤษภาคม
ไอรอนโดม ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศระยะใกล้ โดยมีจุดกำเนิดมาจากครั้งที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” ของเลบานอน ในปี 2549 ตอนนั้นมีการยิงจรวดโจมตีอิสราเอลหลายพันลูก สร้างความเสียหายรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก ทำให้อิสราเอลได้สั่งพัฒนาระบบขีปนาวุธป้องกันภัยขึ้นมาใหม่
จากนั้น การพัฒนาไอรอนโดมก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2550 โดยบริษัทของอิสราเอล คือ Rafael Advanced Defense Systems และ Israel Aerospace Industries โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ หลังจากทดสอบปี 2551 และ 2552 ไอรอนโดมชุดแรกก็ได้เริ่มถูกนำไปใช้ในปี 2554 ก่อนอัพเดตระบบหลายครั้ง
ไอรอนโดมทำงานอย่างไร?
ไอรอนโดมนี้ เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่เคลื่อนที่ ใน 1 ระบบ ประกอบด้วย 10 กอง แต่ละกองสามารถบรรทุกเครื่องยิงขีปนาวุธได้ 3-4 เครื่อง โดยเมื่อเกิดการโจมตี กองทัพจะเคลื่อนตำแหน่งไอรอนโดมไปประจำตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นจุดได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ สร้างเกราะป้องกันจรวด กระสุนปืนใหญ่ และโดรน ที่ป้องกันพื้นที่ได้ถึง 155 ตร.กม.
ขั้นตอนการทำงานของมัน มีดังนี้
1. ค้นหา
เรดาร์ของระบบจะตรวจจับจรวดที่ยิงเข้ามาภายในระยะ 2.5-43 ไมล์ หรือ 4-70 กิโลเมตร จากตัวเครื่องยิงสกัดกั้น และส่งข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางของจรวดไปยังศูนย์บัญชาการและควบคุม
2. คาดการณ์
ศูนย์ควบคุมจะคำนวณตำแหน่งของการชน และคาดการณ์ว่าจรวดโจมตีพื้นที่ ที่มีคนอยู่อาศัยหรือไม่
3. ประเมินจุด
ระบบกำหนดเป้าหมายจรวด ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามสูงสุดต่อพื้นที่เมือง และโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อต้องรับมือกับภัยคุกคามหลายอย่างพร้อมกัน โดยไม่สนใจจรวดที่มีแนวโน้มจะโจมตีพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่หรือในทะเล
4. การสกัดกั้น
ระบบควบคุมจะเชื่อมต่อกับตัวสั่งการ ที่จะยิงขีปนาวุธเพื่อทำลายจรวด หากประเมินแล้วว่าสมเหตุสมผลที่จะต้องสกัดกั้น
ปัจจุบันนั้น อิสราเอลมีไอรอนโดม จำนวน 10 เครื่องทั่วทั้งประเทศ แต่ละจุดมีเครื่องยิง 3-4 เครื่อง จากข้อมูลระบุว่าระบบนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้มาก และใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการติดตั้งเครื่องสกัดกั้นขีปนาวุธ มีความคล่องตัวสูง และมีความยาวเกือบ 3 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร และน้ำหนัก 90 กิโลกรัม โดยเชื่อกันว่าหัวรบนี้สามารถบรรทุกระเบิดแรงสูงได้ 11 กิโลกรัม
พันโท โจนาธาน คอนริคัส โฆษกกระทรวงกลาโหมอิสราเอล เคยกล่าวไว้ว่า จำนวนชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะสูงกว่านี้มากหากไม่มีระบบไอรอนโดม ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยคุ้มครองชีวิตเสมอมา
ในช่วงสงครามนั้น ค่าใช้จ่ายในการใช้ไอรอนโดมอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขีปนาวุธแต่ละลูกนั้นมีราคาประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1.48 ล้านบาท ดังนั้น การสกัดกั้นจรวดที่เข้ามานับพันลูกจึงเป็นภาระทางการเงินให้กับอิสราเอล
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ทุ่มเงินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 55,376 ล้านบาท ในโครงการไอรอนโดม และวิจัยที่เกี่ยวกับโครงการนี้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ / วันที่เผยแพร่ 12 ต.ค.66
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4224588