ทำความรู้จัก “THEOS-2” ดาวเทียมสำรวจฝีมือคนไทย ดวงแรกของไทยและอาเซียน ก่อนปล่อยขึ้นสู่วงโคจร พร้อมปฏิบัติหลากหลายภารกิจต่อจาก THEOS-1
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จะมีการปล่อย “THEOS-2” ดาวเทียมสัญชาติไทย ขึ้นประจำการอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ดาวเทียม THEOS-1 กำลังจะหมดอายุการใช้งาน โดยจะปล่อยที่จังหวัดโพ้นทะเลเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้
จุดเริ่มต้นของ THEOS-2 มาจากโครงการ THEOS ที่เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ดำเนินการในปี 2547 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ร่วมกับ บริษัท อีเอดีเอส แอสเตรียม (EADS Astrium) จากฝรั่งเศส
โดยชื่อ THEOS มาจากตัวย่อของ “Thailand Earth Observation Satellite” หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลก โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย พ้องกับภาษากรีก ที่แปลว่า พระเจ้า โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาในปี 2547 ก่อนที่จะปล่อยดาวเทียม “THEOS-1” ซึ่งถือได้ว่าเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยฝีมือคนไทย ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสถานีควบคุมดาวเทียม อยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ในปี 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ในขณะนั้น) ส่งหนังสือไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อใหม่ให้ดาวเทียม THEOS ต่อมาในวันที่ 18 มกราคม 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดังกล่าวว่า “ไทยโชต” และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thaichote ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 สืบไป โดยมีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง”
ต่อมาในปี 2561 THEOS-1 เริ่มหมดอายุการใช้งาน ทำให้ทาง GISTDA ต้องเริ่มจัดหาดาวเทียมทดแทน โดย THEOS-2 เป็นการจัดหาดาวเทียม 2 ดวงคือ ดวงหลักที่เป็นดวงใหญ่ ผลิตที่บริษัทแอร์บัส เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส เป็นดาวเทียมรายละเอียดสูง 2.5 เมตรต่อพิกเซล มี 2 ชนิดภาพ ได้แก่ ภาพขาวดำ (Panchromatic) 50 เซนติเมตร และภาพสี (Multi-Spectral) 2 เมตร โดยจะถ่ายภาพรายวันซ้ำที่เดิมทุก ๆ 26 วัน
และดาวเทียมดวงเล็ก THEOS-2 SmallSAT เป็นดาวเทียมที่มีรายละเอียดเล็กลงมาประมาณ 100 กิโลเมตรต่อพิกเซล ผลิตที่สถาบันเทคโนโลยีเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ เป็นดาวเทียมที่มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย อาทิ โหมดบันทึกภาพ Video 3 รูปแบบ โหมดชี้เป้าเฉพาะพื้นที่ที่สนใจ ปรับองศาดาวเทียมเพื่อทำข้อมูลประเภท 3 มิติ และโหมดติดตามพิกัดของเรือและเครื่องบินสำหรับ AIS และ ADS-B ทำให้สามารถติดตามได้อย่างแม่นยำ
THEOS-2 ทั้งสองดวง มีภารกิจหลักคือ การติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ และหน้าที่ด้านการจัดการภารกิจเชิงพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำแผนที่ การจัดการเกษตรและอาหาร การจัดการน้ำแบบองค์รวม การจัดการภัยพิบัติ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของชาติ
————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค. 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/207458