พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมสหรัฐ เยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของสหรัฐกับประเทศพันธมิตร และหุ้นส่วนที่พึ่งพาความมั่นคงร่วมกัน
กองทัพสหรัฐมี “ค่าความนิยมสำรอง” ที่น่าประหลาดใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีประวัติศาสตร์ต่อกันในสมัยสงครามเวียดนามก็ตาม โดยรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับภูมิภาคดังกล่าวอธิบายถึงการมีส่วนร่วมของเพนตากอน ว่าเป็น “สินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง และดีที่สุดของอเมริกา”
นายเดวิด แชมบอห์ ผู้อำนวยการโครงการนโยบายจีน จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วองชิงตัน และผู้ร่วมเขียนรายงานโยบายของสถาบันเอเชียโซไซตี ระบุว่า 8 ใน 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ครอบคลุมกับรัฐบาลวอชิงตัน มีเพียง 2 ประเทศที่ไม่ได้รวมอยู่ด้วย คือ ลาว และเมียนมา
“ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ยุทธศาสตร์ป้องกันความเสี่ยง’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรักษาสมดุลของอำนาจในภูมิภาค” แชมบอห์ อธิบาย แต่เขากล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ต้องการโฆษณาความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของตนเอง
แม้สหรัฐและจีน ไม่สามารถเทียบได้กับการจำหน่ายอาวุธของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้จัดหาอาวุธราคาถูกให้แก่อาเซียน แต่สงครามในยูเครนทำให้สถานการณ์พลิกกลับ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า รัฐบาลมอสโกไม่ใช่แหล่งยุทโธปกรณ์ที่เชื่อถือได้อีกต่อไป
ด้านนายอีวาน ไฟเกนเบาม์ รองประธานฝ่ายการศึกษา จากกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (ซีอีไอพี) โต้แย้งว่า การคงอยู่ของกองทัพสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากการขาดการจัดการด้านความมั่นคงร่วมกันอย่างเป็นทางการในภูมิภาคแปซิฟิก
กระนั้น บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นผู้นำ “การบูรณาการทางเศรษฐกิจ” กับประเทศเพื่อนบ้าน ต่างกำลังเผชิญกับ “การกระจายตัวด้านความมั่นคง” เช่นกัน
หากไม่มีพันธมิตรด้านความมั่นคงร่วม เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กองทัพสหรัฐจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในสถาปัตยกรรมความมั่นคงของอินโด-แปซิฟิก “โดยปริยาย”
อย่างไรก็ตาม นายแดเนียล รัสเซล นักการทูตผู้มีประสบการณ์ และผู้สันทัดกรณีด้านเอเชียตะวันออก แสดงความกังวลว่า นักการทูตของสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะสร้างความบาดหมางกับนักการทูตในอาเซียน ด้วยการพรรณนาถึงภัยคุกคามจากจีนในแง่มุมที่รุนแรงจนเกินไป เนื่องจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต้องการให้สหรัฐมาพูดเตือนเกี่ยวกับจีน และพวกพัฒนากลไกการรับมือที่หลากหลายเอาไว้แล้ว
ด้วยเหตุนี้ รัสเซลจึงแนะนำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบาย “ปรับกรอบการนำเสนอการทูตสาธารณะใหม่” เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์ แทนที่จะเป็น “กระดานหมากรุก” หรือ “สนามรบ”
อนึ่ง พล.อ.ออสตินกล่าวสุนทรพจน์ เมื่อปี 2564 ว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่ได้ขอให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลือกระหว่างสหรัฐกับจีน และชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของกองทัพสหรัฐในภูมิภาคนี้ มีมายาวนานกว่าจีนเสียอีก
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 ต.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2812448/