มนุษย์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กลายเป็นกระแสหลักในเกาหลีใต้ แม้จะมีใบหน้าที่มาจากเทคโนโลยีดีพเฟค และร่างกายซึ่งเป็นของทีมนักแสดงที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกัน แต่มันสามารถร้องเพลง อ่านข่าว และขายเสื้อผ้าหรูทางโทรทัศน์ได้
“ซาอิน” หนึ่งในมนุษย์เสมือนจริงของเกาหลีใต้ ถูกสร้างโดยบริษัท พัลส์ 9 ซึ่งเป็นบริษัทเอไอที่กำลังดำเนินงานเพื่อทำให้ความฝันขององค์กรเกี่ยวกับ “พนักงานที่สมบูรณ์แบบ” กลายเป็นจริง
พัลส์ 9 สร้างมนุษย์ดิจิทัลให้กับกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่สุดบางแห่งของเกาหลีใต้ โดยมีผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่า ตลาดโลกสำหรับสิ่งที่เสมือนจริงเช่นนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 527,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 19.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573
“พวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขยายการใช้งานมนุษย์เอไอ ซึ่งสามารดำเนินการได้เหมือนกับคนจริง” นางปาร์ค จี-อึน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท พัลส์ 9 กล่าวเพิ่มเติมว่า ระดับเทคโนโลยีเอไอในปัจจุบัน บ่งบอกว่ามนุษย์ยังมีความจำเป็นอยู่ “สำหรับตอนนี้”
ใบหน้าของเซอิน ถูกสร้างขึ้นโดยการวิเคราะห์การเรียนรู้เชิงลึก ซึ่งเป็นวิธีทางเอไอที่สอนให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน ส่วนอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การร้องเพลง การเต้น การแสดง และการรายงาน มาจากการสร้างแอนิเมชั่น โดยใช้นักแสดงที่เป็นคนจริงมากกว่า 10 คน ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน
ตัวแทนของพัลส์ 9 กล่าวว่า ตัวตนจริงของนักแสดงที่เป็นมนุษย์ทุกคนได้รับการปกปิด และไม่มีการเผยใบหน้าที่แท้จริงของพวกเขา ซึ่งแม้บริษัทมีมาตรการที่เข้มงวดในการรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคล แต่นักแสดงหลายคนกล่าวว่า การรับบทเป็นมนุษย์เสมือน ถือเป็นการเปิดโลกใหม่สำหรับพวกเขา
ทั้งศักยภาพ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะที่มีต่อเอไอ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การปรากฏตัวของ “แชตจีพีที” โดยบรรดาผู้สันทัดกรณีทั่วโลก รวมถึงผู้บุกเบิกเอไอ ต่างพูดถึงอันตรายของเอไอ อีกทั้งหลายประเทศยังหาทางควบคุมสิ่งประดิษฐ์ที่ทรงพลัง แต่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้ด้วย
แต่ปาร์คกลับไม่แสดงความกังวล เช่นเดียวกับบริษัทของเธอที่ดำเนินงานสร้างไอดอลเสมือนจริง, อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง และพนักงานขายเสมือนจริง สำหรับการพบปะลูกค้าของกลุ่มบริษัทเกาหลีใต้ ซึ่งประสบความลำบากในการสรรหาบุคลากร ท่ามกลางปัญหาอัตราการเกิดต่ำ
อย่างไรก็ตาม นายคิม มยุง-จู ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยข้อมูล จากมหาวิทยาลัยสตรีโซล กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ว่า ดีพเฟคสามารถทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม ซึ่งมันเป็นเครื่องมือร้ายแรง เมื่อถูกใช้เพื่อทำร้ายผู้อื่น หรือทำให้คนอื่นเดือนร้อน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเอไอถึงกลายเป็นปัญหา
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 31 ต.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2796917/