8 ตุลาคม 2023 กลุ่มติดอาวุธ ฮามาส เปิดปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยอ้างว่า ยิงจรวดจำนวนมากข้ามชายแดนทางตอนใต้ของอิสราเอล เพื่อเปิดทางให้นักรบติดอาวุธแทรกซึมเข้าไปในอิสราเอลจากหลายทิศทาง บางส่วนเข้าไปในชุมชนใกล้ฉนวนกาซา สังหารประชาชนและจับพวกเขาเป็นตัวประกัน
นี่คือเรื่องราวของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มนี้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
ฮามาสคือใคร?
ฮามาสเป็นกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ที่เคร่งศาสนาอิสลามซึ่งปกครองฉนวนกาซา กลุ่มฮามาสสาบานว่า จะทำลายล้างอิสราเอล และได้ทำสงครามกับอิสราเอลหลายครั้งนับตั้งแต่เข้ายึดครองฉนวนกาซาในปี 2007
ในระหว่างการสู้รบ กลุ่มฮามาสได้ยิงหรืออนุญาตให้กลุ่มอื่น ๆ ยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอล และเปิดฉากโจมตีอิสราเอลรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่อิสราเอลก็โจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮามาสอยู่หลายครั้ง รวมถึงร่วมกับอียิปต์ในการปิดล้อมฉนวนกาซาตั้งแต่ปี 2007 โดยระบุว่าเป็นไปเพื่อรักษาความปลอดภัย
อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงอีกหลายชาติมหาอำนาจ จัดให้กลุ่มฮามาสหรือกองกำลังทหารของฮามาส เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้ กลุ่มฮามาสได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านทั้งด้านเงินทุน การจัดหาอาวุธ และการฝึกซ้อมรบ
ฉนวนกาซาคืออะไร?
ฉนวนกาซามีอาณาเขตยาว 41 กม. กว้าง 10 กม. ซึ่งอยู่ระหว่างอิสราเอล อียิปต์ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรประมาณ 2.3 ล้านคน และถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
อิสราเอลควบคุมน่านฟ้าเหนือฉนวนกาซาและแนวชายฝั่ง จำกัดผู้คนและสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าออก ขณะที่อียิปต์ก็ควบคุมและจำกัดบุคคลที่ผ่านเข้าออกฉนวนกาซาทางด้านชายแดนทางบกที่ติดกับอียิปต์
องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประชาชนที่อยู่ในฉนวนกาซาราว 80% ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติ และประมาณ 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน
ทำไมอิสราเอล-ฮามาสถึงสู้รบกัน?
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การโจมตีโดยกลุ่มฮามาสเมื่อ 7 ต.ค. เกิดขึ้นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า กลุ่มฮามาสยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอล ขณะที่นักรบกลุ่มฮามาสฝ่าแนวชายแดนและบุกไปโจมตีชุมชนชาวอิสราเอล สังหารพลเรือนหลายสิบคน และจับตัวประกันจำนวนมาก
อิสราเอลเปิดการโจมตีทางอากาศกลับทันที โดยระบุว่า กำลังกำหนดเป้าหมายไปยังพื้นที่ติดอาวุธในฉนวนกาซา เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน
ข้อพิพาทที่ปาเลสไตน์
เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซารู้จักกันว่าเป็นดินแดนปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับเยรูซาเลมตะวันออกและอิสราเอลที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ที่เรียกว่าปาเลสไตน์ตั้งแต่สมัยโรมัน
พื้นที่อิสราเอล-ปาเลสไตน์นี้ เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งชาวยิว (อิสราเอล) และชาวอาหรับ (ปาเลสไตน์)
ดินแดนปาเลสไตน์เดิมนี้ เป็นอาณาจักรของชาวยิวในคัมภีร์ไบเบิล และชาวยิวถือว่าที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรษของพวกเขาอยู่ก่อนแล้ว แต่ชาวอาหรับในปาเลสไตน์ก็บอกว่านี่เป็นบ้านของพวกเขาเช่นกัน
ปี 1947 สหประชาชาติมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐของชาวยิวและชาวอาหรับแยกกัน โดยให้เยรูซาเลมเป็นเมืองนานาชาติ โดยผู้นำชาวยิวตอบรับแผนนี้ แต่ฝ่ายอาหรับปฏิเสธ
ปี 1948 ผู้ปกครองชาวอังกฤษและผู้นำชาวยิวประกาศสถาปนาอิสราเอลเป็นรัฐ โดยชาวปาเลสไตน์ไม่ยอมรับสิทธิในการดำรงอยู่ของอิสราเอล และเกิดสงครามขึ้น โดยกองทัพจากประเทศอาหรับเข้าร่วมด้วย
ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคน ถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านของตัวเอง และกว่าจะมีการประกาศหยุดยิงในปีถัดมา อิสราเอลก็เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของปาเลสไตน์สำเร็จแล้ว
จอร์แดนได้ควบคุมพื้นที่ที่เรียกว่าเวสต์แบงก์ อียิปต์ได้ครอบครองฉนวนกาซา ส่วนเยรูซาเลมถูกแยกออกเป็นของกองกำลังอิสราเอลฝั่งตะวันตก และของกองกำลังจอร์แดนในฝั่งตะวันออก
อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ยังใช้ชื่อปาเลสไตน์เป็นคำกลางสำหรับเวสต์แบงก์ กาซา และเยรูซาเลมตะวันออก
ด้วยความที่ไม่มีการบรรลุข้อตกลงใด ๆ ต่างฝ่ายก็ต่างโทษกันและกันว่า เป็นที่มาของความขัดแย้งและการทำสงครามเรื่อยมาอีกหลายทศวรรษ
ปี 1967 เกิดสงครามใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six Day War) อิสราเอลสามารถยึดครองเยรูซาเลมตะวันออก, เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา, พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และแหลมไซนาย ไว้ได้
ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่และลูกหลานของพวกเขา อาศัยอยู่ในกาซาและเขตเวสต์แบงก์ และในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจอร์แดน, ซีเรีย และเลบานอน คนเหล่านี้และลูกหลานไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเกิด โดยอิสราเอลระบุว่า จะทำให้คนล้นประเทศและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐยิว
อิสราเอลถือว่า พื้นที่ในเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของตัวเอง ขณะที่ชาวปาเลสไตน์บอกว่า เยรูซาเลมตะวันออกจะเป็นเมืองหลวงในอนาคตของพวกเขา โดยสหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ยอมรับการอ้างเป็นเจ้าของเยรูซาเลมทั้งเมืองของอิสราเอล
ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อิสราเอลได้เข้ามาก่อสร้างและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้ โดยมีชาวยิวกว่า 6 แสนคนอาศัยอยู่ ขณะที่ชาวปาเลสไตน์มองว่า การลงหลักปักฐานนี้ผิดกฎหมายนานาชาติ และเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเพื่อสันติภาพ แต่อิสราเอลก็ปฏิเสธ
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : BBC / วันที่เผยแพร่ 9 ต.ค.66
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/ce5414zg07ro