หลังจากกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์อย่างกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีใส่หลายพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะทางตอนกลางและทางตอนใต้ของอิสราเอล ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากฉนวนกาซา ในเช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคม
หนึ่งในคำถามสำคัญที่ตามมาคือ เกิดอะไรขึ้นกับ ‘มอสซาด’ (Mossad) หน่วยข่าวกรองอิสราเอล ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยสืบราชการลับเบอร์ต้น ๆ ของโลก ทำไมไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มฮามาสที่โจมตีทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดินแบบสายฟ้าแลบ จนกลายเป็นการสู้รบครั้งใหญ่ที่ยังคงขยายขอบเขตความเสียหายอยู่ในขณะนี้
Mossad คืออะไร มีหน้าที่อย่างไร?
Mossad เป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองและปฏิบัติการพิเศษของอิสราเอล ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายปี 1949 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเทลอาวีฟ มีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราว 7,000 คน และได้รับงบประมาณสนับสนุนประจำปีจากรัฐบาลอิสราเอลอยู่ที่ราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.11 แสนล้านบาท)
แผนผังโครงสร้างองค์กรและข้อมูลส่วนใหญ่ของ Mossad ถือเป็นความลับ เบื้องต้น สามารถแบ่งเป็น 3 ฝ่ายสำคัญ ๆ ได้แก่
1. ฝ่ายเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งถือเป็นแผนกที่ใหญ่ที่สุดของ Mossad รับผิดชอบงานด้านข่าวกรองและข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก เครือข่ายและแหล่งข่าวของ Mossad กระจายอยู่ไม่เพียงแต่ในกลุ่มกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในประเทศที่มีท่าทีไม่เป็นมิตรกับอิสราเอล เช่น เลบานอน ซีเรีย และอิหร่าน เครือข่ายสายลับขนาดใหญ่นี้ทำให้รัฐบาลอิสราเอลรับรู้ความเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด และอาจดำเนินการลอบสังหารคนกลุ่มนี้ได้หากจำเป็น
2. ฝ่ายปฏิบัติการทางการเมืองที่จะคอยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านข่าวกรองของบรรดาประเทศพันธมิตร รวมถึงชาติที่อิสราเอลยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการด้วย
3. ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เมตซาดา’ (Metzada) ที่จะเป็นหน่วยปฏิบัติการลอบสังหาร ภารกิจช่วยเหลือตัวประกัน รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอันตรายต่างๆ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชนชาวอิสราเอล
นอกจากนี้ Mossad ยังมีฝ่ายที่รับผิดชอบงานด้านสงครามจิตวิทยา รวมถึงฝ่ายงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานของ Mossad ในมิติต่างๆ อีกด้วย
ด้วยเครือข่ายองค์กรที่กระจายอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีจำนวนมาก และภารกิจสำคัญต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย จึงทำให้ Mossad ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นเงินจำนวนมหาศาลต่อปี จนทำให้ Mossad เป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในโลกตะวันตก เป็นรองเพียงสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (CIA)
Mossad ล้มเหลวจุดไหน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้เปิดฉากยิงจรวดหลายพันลูกเข้าไปยังพื้นที่ของอิสราเอล ควบคู่ไปกับการโจมตีทางด้านอากาศ ทางทะเลและทางภาคพื้นดิน ซึ่งใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร (Guerilla Tactics) ส่งสมาชิกเข้าแทรกซึมไปในเมืองต่างๆ รวมถึงงานเทศกาลดนตรีกลางทะเลทราย ก่อนที่จะเริ่มต้น ‘ปฏิบัติการพายุแห่งมัสยิดอัลอักซอ’ (Operation Al-Aqsa Storm) ซึ่งกระหน่ำโจมตีอิสราเอลอย่างหนัก นับเป็นปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หน่วยงานด้านข่าวกรองชื่อดังของอิสราเอลอย่าง Mossad เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก และถูกตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงล้มเหลวในการป้องกันเหตุโจมตีจากกลุ่มฮามาสจนอิสราเอลได้รับความเสียหายอย่างหนัก กลุ่มฮามาสใช้วิธีการใดในการจัดเก็บจรวดจำนวนหลายพันลูกในพื้นที่ที่ใกล้กับอิสราเอล โดยที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของอิสราเอลตรวจสอบไม่พบ รวมถึงถูกตั้งคำถามด้วยว่าเพราะเหตุใดระบบป้องกันขีปนาวุธอย่าง Iron Dome ที่เชื่อถือได้ตลอดของอิสราเอลจึงไม่สามารถสกัดกั้นจรวดและขีปนาวุธที่ถูกยิงมาจากฉนวนกาซาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตามแนวชายแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา รวมถึงกล้องเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และการลาดตระเวนของกองทัพอิสราเอลที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็ยังไม่สามารถช่วยป้องปรามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นได้แต่อย่างใด ด้วยขนาดของความรุนแรงจากเหตุโจมตี ความซับซ้อนในการดำเนินการ การวางแผนและประสานงานที่ดูจะรัดกุมของกลุ่มฮามาส ทำให้หน่วยข่าวกรองที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบของอิสราเอลอย่าง Mossad ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อการตรวจจับและสืบหาข่าวกรองในประเด็นนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ต่อประเด็นดังกล่าว เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (9 ตุลาคม)
ดร.มาโนชญ์กล่าวว่า “หลังเกิดเหตุการณ์ที่มัสยิดอัลอักซอ การโจมตีของฮามาสที่เกิดขึ้นตามมาไม่น่าจะอยู่เหนือความคาดหมายของอิสราเอลและหน่วย Mossad แต่อย่างใด เพราะพวกเขาน่าจะคาดการณ์ได้ว่าฮามาสต้องเปิดปฏิบัติการโจมตี เพราะการโจมตีอิสราเอลในอดีตหลายครั้งก็มีมูลเหตุเกี่ยวพันกับมัสยิดศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ทั้งสิ้น
“แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายคือ อิสราเอลและ Mossad อาจไม่คิดว่าการโจมตีจะรุนแรงมากขนาดนี้ ในแง่ของจรวดก็เต็มที่กว่า 5,000 ลูก นอกจากนั้นยังใช้ร่มและเครื่องร่อนบินเข้ามาและบุกเข้ามาทางภาคพื้นดิน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมคิดว่า Mossad อาจจะประเมินไม่ถึง สถานการณ์ก็เลยเป็นอย่างที่เราเห็น เขาก็คงต้องไปคุยกันว่า แท้ที่จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ กับหน่วยข่าวกรองแห่งนี้ที่ขึ้นชื่อที่สุดในโลก”
นอกจากนี้ THE STANDARD ยังได้สอบถามความเห็นจาก ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง โดยระบุว่า “จุดผิดพลาดของ Mossad เป็นปัญหาคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามยมคิปปูร์ ซึ่งเป็นสงครามระหว่างบรรดารัฐอาหรับกับอิสราเอลในปี 1973 นั่นคือ การประเมินว่าข้าศึกไม่มีขีดความสามารถ
“โดยในปี 1973 Mossad ประเมินว่า ถึงแม้ว่าอียิปต์และซีเรียจะมีกองกำลังทหารจริง แต่คิดว่าอย่างไรก็ไม่มีความพร้อมที่จะทำสงครามกับอิสราเอลในช่วงเวลานั้น ถ้าถามว่า Mossad ได้ข่าวมาก่อนหน้านั้นไหม คำตอบก็คือได้ แต่ก็ประเมินว่าไม่น่าจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ครั้งนั้นขึ้น ซึ่งเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด
“สิ่งที่เกิดขึ้นรอบนี้ก็เป็นสิ่งที่คล้ายๆ กัน โดย Mossad อาจมองว่า กลุ่มฮามาสจะฝึกฝนกองกำลังก็จริง แต่ก็ไม่น่าจะมีขีดความสามารถทางการรบขนาดนี้ได้ อีกทั้งความช่วยเหลือที่กลุ่มฮามาสได้รับจากหลายส่วน ทั้งจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี รวมถึงอิหร่านที่ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญต่อฮามาส โดยเฉพาะความสนับสนุนทางการเมือง และรวมถึงทางทหารด้วยก็ประเมินว่า น่าจะถูกนำไปใช้ในด้านสังคมหรือพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามากกว่า รวมถึงมีสัญญาณเชิงบวกที่คนจากกาซาข้ามมาทำงานในฝั่งอิสราเอลทุกวัน บริบทแวดล้อมอย่างนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ Mossad เชื่อว่า สถานการณ์ของสงครามจะไม่เกิดขึ้น แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเป็นระยะๆ ก็ตาม เพราะรู้สึกว่าเกิดบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ
“จากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ ข้อผิดพลาดสำคัญของ Mossad จึงเป็นเรื่องของการประเมินขีดความสามารถของกลุ่มฮามาสต่ำเกินไป แม้สมาชิกหน่วยข่าวกรอง Mossad จะระแคะระคายหรือรับรู้ถึงความเป็นไปได้ที่กลุ่มฮามาสจะโจมตีใส่พื้นที่ของอิสราเอลก็ตาม” ศ.ดร.สุรชาติให้ความเห็น
โดย ยาคอฟ อาร์มิดรอร์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมายอมรับว่า “นี่คือความล้มเหลวครั้งใหญ่ ปฏิบัติการนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสามารถด้านข่าวกรองของอิสราเอลในฉนวนกาซาทำได้ไม่ดีเลย”
ด้าน พล.ร.ต. แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลก็ยอมรับว่า “กองทัพเป็นหนี้คำอธิบายต่อสาธารณชน แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่เวลา (ที่จะมาถอดบทเรียน) ก่อนอื่น เราต้องสู้ก่อน หลังจากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบในประเด็นนี้”
จากสถานการณ์โดยรวมในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สันติภาพในปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังดูเหมือนไร้ทางออกและยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง และสะท้อนให้เห็นว่าช่องโหว่ของหน่วยงานด้านข่าวกรองอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ปมปัญหาความขัดแย้งใดๆ ลุกลาม รุนแรง และขยายตัวเป็นวงกว้างได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
แฟ้มภาพ: Anelo / Shutterstock
อ้างอิง:
https://apnews.com/article/israel-hamas-gaza-attack-intel-a5287a18773232f26ca171233be01721
https://www.ndtv.com/world-news/israel-palestine-mossad-gaza-hamas-attackexplained-how-mossad-functions-and-how-it-failed-to-stop-hamas-attack-4463289#lnjovp27dnxxm782blg
https://www.aljazeera.com/program/newsfeed/2023/10/9/how-did-israeli-intelligence-fail-to-stop-hamas-attack
บทความโดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : TheStandard / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค.66
Link : https://thestandard.co/what-happened-to-mossad/