เมื่อวานนี้ ( 1 ต.ค.) เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในประเทศตุรกี หลังกลุ่มกบฏเคิร์ดส่งคนร้ายเข้าไปก่อเหตุระเบิดพลีชีพ บริเวณที่ทำการของหน่วยงานรัฐบาลใจกลางกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี
ภาพเหตุการณ์ระเบิดที่ถูกบันทึกไว้ได้จากกล้องวงจรปิดที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ 09.30 นาฬิกาของวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ภาพวิดีโอบันทึกวินาทีที่มีบุคคลปริศนาเดินลงมาจากรถยนต์ ก่อนจะวิ่งไปที่ด้านหน้ากระทรวงมหาดไทยของตุรกีและระเบิดพลีชีพตนเอง จนเกิดประกายเพลิงลุกไหม้ ตามมาด้วยกลุ่มควันเต็มพื้นที่
เหตุการณ์ระเบิดพลีชีพดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทยของตุรกี ซึ่งตั้งอยู่บนถนนอาทาเทิร์คบูเลอวาร์ดในกรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศ ไม่ไกลจากรัฐสภาของตุรกี
อาลี เยอร์ลิคายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของตุรกีออกมาแถลงว่า เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย 2 รายและทั้งสองรายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ รายแรกเสียชีวิตจากระเบิดพลีชีพ ส่วนอีกรายถูกยิงเสียชีวิตก่อนกดระเบิดพลีชีพสำเร็จ ขณะที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บสองนาย
หลังเกิดเหตุ ทางการตุรกีได้ส่งตำรวจและทหารเข้ามาตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ทั้งในพื้นที่บริเวณหน้ากระทรวงมหาดไทยและอาคารรัฐสภา
เนื่องจากเหตุระเบิดพลีชีพครั้งนี้ เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่รัฐสภาตุรกีจะกลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง หลังจากปิดการประชุมสภาประจำฤดูร้อนไป โดยในการประชุมครั้งนี้เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี มีกำหนดเข้าประชุมด้วยในช่วงประมาณ 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่การประชุมรัฐสภาเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกีได้พูดถึงเหตุการณ์ระเบิด
ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าจะกำจัดผู้ก่อการร้ายให้หมดไปและผู้ก่อการร้ายจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายในการทำลายสันติภาพภายในตุรกีโดยเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ได้ออกมาประณามการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายและประกาศยืนเคียงข้างรัฐบาลตุรกีในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ด้านสถานทูตสหรัฐฯ ประจำตุรกีก็ได้ทวิตข้อความในแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมยืนหยัดเคียงข้างตุรกีในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายและขอแสดงความเสียใจไปยังผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุที่เกิดขึ้น
เหตุระเบิดครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับรัฐบาลตุรกี เนื่องจากนี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองหลวง ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ความไม่พอใจในครั้งนี้ทำให้รัฐบาลตุรกีตัดสินใจโจมตีฐานที่มั่นของผู้ก่อเหตุอย่างหนัก
วันนี้ อนาโดลู เอเจนซี สำนักข่าวของตุรกีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมของตุรกีได้ส่งเครื่องบินรบของกองทัพทิ้งระเบิดใส่เป้าหมาย 20 แห่งพร้อมกันในพื้นที่เขตกันดิล ฮาคุร์ก เมตินา และแกร์ทางตอนเหนือของอิรัก การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ เล็งเป้าหมายไปที่ถ้ำ คลังเก็บอาวุธ และบังเกอร์ตามจุดต่าง ๆ ที่คาดว่าเชื่อมโยงกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถานหรือ PKK ใกล้กับชายแดนอิหร่าน กระทรวงกลาโหมตุรกีระบุว่า วัตถุประสงค์ของการโจมตีครั้งนี้เป็นไปเพื่อกำจัดกลุ่ม PKK และกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีพื้นที่ชายแดนและเมืองหลวงของตุรกีอีก
การโจมตีสถานที่ต่าง ๆ กว่า 20 แห่งในพื้นที่ด้านเหนือของอิรัก มีขึ้นหลังกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด หรือ PKK ซึ่งเป็นศัตรูของรัฐบาลตุรกี ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดดังกล่าวเมื่อวานนี้ กลุ่ม PKK ระบุว่า ผู้ที่เข้าไปก่อเหตุพลีชีพในเมืองหลวงตุรกี คือกลุ่มที่เรียกว่า นักรบจากกองพันอมตะหรือ Immortal Brigade โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านกระทรวงมหาดไทยตุรกี
กลุ่มชาวเคิร์ดคือใคร อยู่ที่ใด และเหตุใดจึงเป็นศัตรูรายสำคัญของรัฐบาลตุรกี ชาวเคิร์ด คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรจำนวนราว 40 ล้านคน พวกเขาอาศัยอยู่ตามเทือกเขาในตะวันออกกลาง ดินแดนที่ถูกเรียกว่า เคอร์ดิสถานมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
ในปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวกินบริเวณพื้นที่ของ 5 ประเทศ พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย พื้นที่ทางเหนือของอิรัก พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน และพื้นที่ทางใต้ของอาร์เมเนีย
อย่างไรก็ดี ปัญหาระหว่างชาวเคิร์ด และตุรกี เริ่มขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากไม่สามารถตั้งประเทศและขีดเส้นพรมแดนของตนเองไม่สำเร็จ ทำให้ปัจจุบันพวกเขากลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 ประเทศดังกล่าวแทน แต่กระนั้น จนถึงวันนี้ชาวเคิร์ดยังมีภาษา วัฒนธรรม ไปจนถึงธงของตัวเอง ที่ทำให้พวกเขายังคงมีความเชื่อมโยงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ตลอดเวลาราว 80 ปี ชาวเคิร์ดหลายกลุ่มพยายามจะก่อตั้งรัฐอิสระ แต่พวกเขาก็ถูกปราบปรามอย่างโหดร้ายทุกครั้ง ซึ่งรวมไปถึงการที่ตุรกีนำกองกำลังเข้ามาในซีเรียในปี 2019 เนื่องจากตุรกีต้องการกำจัดกลุ่มนักรบชาวเคิร์ดในซีเรียหรือกลุ่ม YPG เพราะตุรกีเชื่อว่ากลุ่ม YPG คือเครือข่ายที่ขยายออกมาจากกลุ่ม PKK กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในตุรกีที่ต่อสู้เพื่อก่อตั้งรัฐอิสระในตุรกีมาเป็นเวลาหลายสิบปี อย่างไรก็ดี กลุ่มที่โจมตีเมืองหลวงของตุรกีจนทำให้รัฐบาลตุรกีต้องเปิดศึกถล่มโจมตีทางอากาศในวันนี้ คือ กลุ่มที่เรียกว่า PKK ซึ่งเป็นชาวเคิร์ดกลุ่มหลักในตุรกี
กลุ่ม PKK คือใคร ในประเทศตุรกีมีชาวเคิร์ดอยู่ถึง 20 ล้านคน หรือคิดเป็นประชากร 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอยู่ 78 ล้านคน พวกเขาถูกกีดกันไม่ให้แสดงอัตลักษณ์ของตนเอง การถูกกดขี่และกดทับ นำไปสู่การก่อตั้งพรรคที่ชื่อ PKK หรือ Kurdistan Worker’s Party มีเป้าหมายเพื่ออิสระภาพและสร้างสาธารณรัฐเคอร์ดิสถาน
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม PKK คือ อับดุลลาห์ โอคาลัน โดยเขาเป็นผู้จับอาวุธสู้กับรัฐบาลตุรกีก่อนถูกจับกุมเมื่อปี 1999 หลังการจับกุม โอคาลัน กลุ่ม PKK ได้ใช้วิธีการต่อสู้แบบกองโจรมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี ในปี 2013 กลุ่ม PKK ได้ทำสัญญาหยุดยิงชั่วคราวกับรัฐบาลตุรกีและค่อยๆ ถอนกองกำลังของตนเองออกจากตุรกีไปยังทางตอนเหนือของอิรักแทน ก่อนที่ข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 2015 และทำให้ความขัดแย้งกลับมารุนแรงอีกครั้ง
กลุ่ม PKK ถูกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายมาตั้งปี 1984 เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสังหารพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
ความขัดแย้งระหว่างรัฐตุรกีและกลุ่ม PKK ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่นคน โดย PKK และกลุ่มย่อยของ PKK ได้ก่อเหตุโจมตีทหาร กองกำลังความมั่นคง และพลเรือนตุรกีหลายครั้ง ขณะที่กองทัพตุรกีเองก็ได้โจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอย่างหนัก เพื่อหวังขับไล่ชาวเคิร์ดออกไปจากพื้นที่
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ PKK และเป็นอีกหนึ่งศัตรูสำคัญของรัฐบาลตุรกี คือ YPG กองกำลังเคิร์ดในซีเรีย ที่จับอาวุธต่อสู้เพื่อให้มีดินแดนเป็นของตนเอง
ในช่วงสงครามกลางเมืองซีเรียที่ตามมาด้วยการแทรกซึมของไอซิส สหรัฐฯ จับมือเป็นพันธมิตรกับ YPG ภายใต้ชื่อ กองกำลังประชาธิปไตยซีเรียหรือ SDF เพื่อปราบปรามกลุ่มไอซิสที่กำลังรุ่งเรืองที่นั้น
ภายใต้ธง SDF กองกำลัง YPG แข็งแกร่งและยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของซีเรียได้พร้อมที่จะก่อตั้งเป็นรัฐอิสระ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ตุรกีไม่พอใจเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวติดกับชายแดนตุรกีและอาจทำให้เกิดการลุกฮือของเคิร์ดในตุรกีที่นำโดยกลุ่ม PKK ได้
จนในปี 2019 รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปลี่ยนนโยบาย ประกาศถอนทหารจากภาคเหนือของซีเรีย นี่คือการเปิดทางให้ตุรกีเข้ามาถล่มฐานที่มั่นของ YPG ได้
สำหรับตุรกี ทั้ง PKK ที่ถูกถล่มในวันนี้ และ YPG คือหอกข้างแคร่ที่ต้องกำจัดเพื่อป้องกันการแบ่งแยกดินแดนที่จะบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลและอธิปไตยของตุรกี
หลายฝ่ายให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินตุรกี การโจมตีกลุ่ม PKK อย่างหนัก และท่าทีไม่พอใจของประธานาธิบดีแอร์โดอานที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะเรื่องราวทั้งหมดจะมีผลต่อการให้สัตยาบันของตุรกี เพื่อรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 32 ขององค์การนาโต
เหตุใดตุรกีจึงอาจเลื่อนการให้สัตยาบันเพื่อรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโตออกไปย้อนกลับไปในช่วงการสู้รบระหว่างชาวเคิร์ด ซีเรีย และตุรกี ชาวเคิร์ดจำนวนมากลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ รวมถึงที่สวีเดนและฟินแลนด์
ด้วยนโยบายที่เปิดกว้างของ 2 ชาตินี้ ทำให้ชาวเคิร์ดสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับการมีแผ่นดินของตนเองได้อย่างเปิดเผย และสร้างความไม่พอใจให้กับตุรกีมาโดยตลอด นี่กลายเป็นเหตุผลที่ตุรกีใช้เพื่อขวางไม่ให้สวีเดนและฟินแลนด์เข้ามาเป็นสมาชิกนาโต
อย่างไรก็ดี สวีเดนและตุรกีเพิ่งจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สัตยาบันไปเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปีของชาติสมาชิกนาโตในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย หนึ่งในข้อตกลงที่ตุรกีคาดหวังให้สวีเดนปฏิบัติคือ การจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายชาวเคิร์ดในสวีเดน รวมถึงการส่งตัวผู้ก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงตุรกีให้รัฐบาลประธานาธิบดีแอร์โดอาน
หลังจากบรรลุข้อตกลง ตุรกียืนยันว่าจะส่งเรื่องการลงนามในสัตยาบันสารเพื่อรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกไปให้รัฐสภารับรอง โดยคาดว่าอาจมีขึ้นหลังรัฐสภาพักการประชุมช่วงฤดูร้อน หรือภายในเดือนนี้ แต่หลายฝ่ายมองว่า มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการลงนามสัตยาบันสารเพื่อรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกจะถูกเลื่อนออกไป ไม่ใช่แค่เพราะเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในตุรกีเท่านั้น แต่รวมถึงการยั่วยุของกลุ่มชาวเคิร์ดในสวีเดนด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา สำนักข่าวของตุรกีรายงานว่ากลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย YPG/PKK ได้ยั่วยุตุรกีด้วยการเดินขบวนในกรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน ในเนื้อหาข่าว สำนักข่าวตุรกีใช้คำค่อนข้างตรงไปตรงมาระบุว่า กลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าวได้ถือธงและรูปของหัวหน้ากลุ่ม YPG/PKK ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามของตุรกี รวมถึงเผารูปจำลองของประธานาธิบดีตุรกี ที่หน้าสถานทูตตุรกีในกรุงสตอกโฮล์ม ภายใต้การคุ้มกันของตำรวจสวีเดน
หลายฝ่ายมองว่า ตุรกีอาจมองว่าการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการกระทำที่สะท้อนว่า สวีเดนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับตุรกี เพื่อแลกกับการลงนามในสัตยาบันสารเข้ารับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกนาโต และควรรอการเข้าเป็นสมาชิกต่อไปจนกว่าจะทำตามที่รัฐบาลตุรกีต้องการได้
ล่าสุดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ทางการตุรกีรายงานว่าตำรวจได้บุกไปยังอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในนครอิสตันบูล ก่อนที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยกว่า 20 คนที่คาดว่ามีส่วนรู้เห็นและสนับสนุนการวางระเบิดพลีชีพหน้าอาคารที่ทำการกระทรวงมหาดไทยตุรกีเมื่อวานนี้ พร้อมระบุว่าทางการจะนำตัวบุคคลเหล่านี้ไปสืบสวนเพิ่มเติมต่อไป
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 2 ต.ค.66
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/207081