การอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลอาจเป็นภารกิจที่ท้าทาย ทั้งในแง่ของจำนวนคนไทย ที่มีความประสงค์จะกลับกว่าพันคน การที่มีทั้งผู้บาดเจ็บและต้องนำร่างผู้เสียชีวิตกลับด้วย นี่อาจยังไม่นับรวมการประเมินเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด ที่จะนำคนไทยกลับออกมา
ข้อมูล ณ ตอนนี้ คือ กองทัพอากาศได้จัดเตรียมเครื่องบินแบบ C -130 จำนวน 5 ลำ และ แอร์บัส A340 อีก 1 ลำ สำหรับภารกิจรับคนไทยกลับจากอิสราเอลครั้งนี้ โดยเครื่องบินทั้ง 2 รุ่น ได้เคยใช้ในภารกิจการอพยพคนไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศตุรกี และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานช่วงที่ผ่านมา
ขณะนี้กองทัพอากาศ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพิจารณาความพร้อมของสนามบินปลายทาง การเตรียมการลำเลียงทางอากาศ เป็นต้น โดยเบื้องต้นจะมีทั้งทีมแพทย์ และหน่วยคอมมาโด ร่วมเดินทางไปด้วย
สำหรับเครื่องบินแบบ C-130 ทั้ง 5 ลำ คาดว่า จะใช้เวลาเดินทางขาละประมาณ 15 ชม.ด้วยความเร็วทำการบินประมาณ 500 – 600 กม./ชม. ไป-กลับ คาดว่าใช้เวลาราว 30 ชม. เครื่องรุ่นนี้ จุได้ประมาณ 80 – 100 ส่วนขากลับอาจต้องพิจารณาอีกครั้ง จากปัจจัยทั้งเรื่องน้ำหนักและอัตราการใช้น้ำมัน อาจเป็นไปได้ว่าต้องแวะที่ดูไบ เช่นเดียวกับภารกิจเมื่อครั้งอพยพคนไทยออกจากซูดานหรือไม่
ส่วนแอร์บัส A340 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถบินตรงไปได้เลย ใช้เวลา 9 – 10 ชม. จุได้ประมาณ 140 คน ซึ่งโดยปกติจะเป็นเครื่องที่ใช้รับรองบุคคลสำคัญของประเทศ แต่ก็จะถูกใช้ในภารกิจอพยพคนไทยครั้งนี้ด้วย แต่คำถามสำคัญคือ บินไปแล้วจะไปลงจอดที่ไหน ไปรับคนไทยที่เมืองอะไร นี่คือสิ่งที่ต้องประเมิน
ตามข้อมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่า มีความเป็นไปได้ 3 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย ,ไซปรัส อียิปต์ และจอร์แดน เพราะแม้อิสราเอลไม่ได้ปิดน่านฟ้า แต่การจะเข้าไปถึงเทลอาวีฟในขณะนี้ ด้วยเครื่องบินของกองทัพ ดูเหมือนรัฐบาลอิสราเอลจะอนุญาตเป็นรายประเทศ และยังมีรายงานว่า เครื่องบินบางลำ บางประเทศลงได้ แต่ยังบินออกมาไม่ได้ก็มี
แต่ก็มีอีกแนวทาง คือ ถ้าใช้เครื่องของกองทัพบินเข้าไปไม่ได้ ก็อาจจะเช่าเหมาลำเครื่องพาณิชย์บินไปรับ เนื่องจากอิสราเอลยังอนุญาตให้ทำการบินอยู่ ซึ่งหากไม่สามารถไปรับที่กรุงเทลอาวีฟได้โดยตรง ก็อาจจะไปรับคนไทยที่ซาอุดีอาระเบีย ,ไซปรัส อียิปต์ และจอร์แดน
หากพิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนี้ การสู้รบส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้กับฉนวนกาซา แต่ก็เริ่มมีรายงานว่า มีการปะทะทางตอนเหนือของประเทศด้วย ซึ่งเป็นการปะทะของกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ กับอิสราเอล
วานนี้ (9 ต.ค.66) นายศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ สำหรับเส้นทางอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล ในการให้สัมภาษณ์กับรายการจับตาสถานการณ์ โดยมองว่าตัวเลือกที่เหมาะสม ณ ตอนนี้ น่าจะเป็นประเทศจอร์แดน
แต่การจะไปถึงจอร์แดนได้ก็คงจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากบริเวณฉนวนกาซาและจอร์แดน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่คนไทยไปทำงานอยู่คือทางตอนใต้ ตามคิปบุตส์ หรือโมชาฟ ซึ่งเป็นนิคมเกษตรกรรม
ดังนั้น หากคนไทยเหล่านี้จะต้องไปที่กรุงเทลอาวีฟ จะต้องเดินทางไกลประมาณ 100 กม.ทางรถยนต์ หรือ ถ้าเดินทางจากโอฟาคิม ก็ห่างจากเทลอาวีฟเกือบ 120 กม. จากเทฟอาวีฟก็ต้องเดินทางต่อไปยังจอร์แดน ซึ่งก็น่าจะเป็นที่อัมมาน เมืองหลวง เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับไทย เส้นทางนี้ทางบกประมาณ 160 กม. ใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 3 ชม.ซึ่ง อันนี้เป็นการคำนวณจากกูเกิ้ลแมพ ซึ่งหากเป็นพื้นที่จริงอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
ขณะที่ หากพิจารณาถึงไซปรัส และซาอุดีอาระเบีย หรืออียิปต์ ก็จะยิ่งมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าไปที่ไซปรัส หมายความว่าต้องมีเที่ยวบินจากเทลอาวีฟไปส่ง หรือต้องนั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และที่ไซปรัสไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงนิโคเซีย แต่มีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐไซปรัสอยู่
ส่วนซาอุดีอาระเบีย แม้จะมีทั้งสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงริยาร์ด และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ แต่การเดินทางอาจยากขึ้นอีกหรือไม่ ? เพราะหากเดินทางไปทางบกจะต้องผ่านตอนใต้ของอิสราเอล
หากไม่ข้ามเข้าจอร์แดนในเส้นทางทางบกก่อน ก็จะต้องลงเรือลงที่อ่าว อัล อะเกาะบะฮ์ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่าจะไปถึงเจดดาห์ และถ้ามาทางอียิปต์ ก็จะมีความเสี่ยงเพราะต้องผ่านตอนใต้ของอิสราเอลอีก และเส้นทางค่อนข้างไกลมากกว่าจะไปถึงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์
ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสได้พิจารณาความเป็นไปได้จากข้อมูลที่ได้รับมา ณ ตอนนี้ และเรียบเรียงให้สามารถเห็นภาพการช่วยเหลือที่จะเกิดขึ้นได้
————————————————————————————————————————-
ที่มา : Thaipbs / วันที่เผยแพร่ 10 ต.ค. 2566
Link : https://www.thaipbs.or.th/news/content/332644