หางโจวเกมส์ 2023 นับเป็นครั้งแรกของเอเชียนเกมส์ ที่ออกอากาศผ่านคลาวด์ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน มันดีอย่างไร คืออะไร ? ดียังไง ? SPRiNG Tech จะชวนคุณมาหาคำตอบ
การแข่งขันกีฬา Asian Games Hangzhou 2022 (ที่ถูกเลื่อนมา 1 ปีจากโควิด-19) จัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน – 8 ตุลาคม 2566 ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน เป็นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่มีเทคโนโลยีมากที่สุดงานหนึ่ง และหนึ่งในนั้น คือ การออกอากาศผ่านระบบคลาวด์ (Cloud)ที่จะทำให้ผู้จัดสามารถค่าใช้จ่ายในการจัดงานเรื่องระบบออกอากาศได้มหาศาลแถมยังรักษ์โลกอีกด้วย
ในอดีตต้องตั้งศูนย์ออกอากาศราคาร้อยล้าน เพื่อใช้แค่ชั่วคราว
ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ อย่างโอลิมปิก และ เอเชียนเกมส์ จำเป็นจะต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างหมู่บ้านนักกีฬา สนามกีฬา และหนึ่งในสิ่งที่ตามมาคือ ระบบออกอากาศที่จำเป็นต้องรองรับภาพการแข่งขันจำนวนมาก ทั้งเพื่อนำไปออกอากาศสดในประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์การออกอากาศ และภาพที่ต้องนำออกมาให้สื่อตัดต่อเป็นไฮไลท์
การออกอากาศผ่านคลาวด์ คือ การนำภาพต่าง ๆ ที่เคยส่งด้วยสัญญาณดาวเทียม มาออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์ หรือ การเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่อื่นเป็นตัวกลางในการส่งและกระจายไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก คล้ายกับการที่เรากดไลฟ์สดบน Youtube แต่นี่เป็นระบบที่ใหญ่กว่านั้นและออกแบบให้ทีวีหลายร้อยช่องทั่วโลกสามารถดึงสัญญาณสดได้พร้อม ๆ กันโดยคุณภาพไม่ลดลง
คริส ถัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ อาลีบาบา กรุ๊ป ระบุว่า การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ได้รับการสนับสนุนหลักจาก Alibaba Group และ หนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาสนับสนุน คือ คลาวด์ (Cloud) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานที่ต่าง ๆ มาเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์กลาง ที่ตั้งอยู่ใน ศูนย์ข้อมูล Data Center ตามหัวเมืองหลัก ๆ ทั่วโลก โดยภายในการแข่งขันครั้งนี้ มีการนำระบบคลาวด์ มาใช้ในการบริหารจัดการตั้งแต่เรื่อง การจัดการการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า, การบริหารงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการถ่ายทอดสด
ปกติแล้วการออกอากาศจำเป็นจะต้องจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดสดชั่วคราว ตามสถานที่แข่งขันที่เวียนไปในแต่ละประเทศ ซึ่งจำเป็นจำนวนเงินมหาศาลในแต่ละครั้งที่เจ้าภาพจะต้องลงทุนและวางแผนล่วงหน้า 3-4 ปี แต่เมื่อมีการออกอากาศผ่านระบบคลาวด์ ก็ทำให้เจ้าภาพสามารถส่งภาพไปยังทั่วโลกได้ผ่านศูนย์ข้อมูล Data Center ที่จัดตั้งอยู่ตามหัวเมืองทั่วโลกได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต
ข้อดีของการออกอากาศถ่ายทอดสดผ่านระบบคลาวด์
– ลดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างห้องออกอากาศหน้างาน
– ลดการใช้พลังงานและทรัพยากรโลกจากการขนส่งและก่อสร้างศูนย์ออกอากาศชั่วคราว
– ความคมชัดสูงบนระบบถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันทำได้สูงสุด 8K
ข้อดีของการใช้งานระบบคลาวด์ คือ ระบบนี้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมหาศาล หากมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบก็จะทำให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลขั้นเลิศของ ปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับจำนวนผู้ใช้งานที่เข้าไปใช้งานระบบก็จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“นอกจากนี้ ระบบคลาวด์ ยังช่วยให้นักข่าวที่มารายงานข่าวการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ค้นหาข้อมูลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้ AI Chat Bot ภายใน ศูนย์สื่อของเอเชียนเกมส์ อีกด้วย” คริส ถัง กล่าว
ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการบริหารจัดการงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด Alibaba Cloud ก็ได้มีการพัฒนาแอปฯ DingTalk เวอร์ชั่นที่ใช้เฉพาะเอเชียนเกมส์ โดยเฉพาะเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น คณะผู้จัด , ทีมงาน , นักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อติดต่อหากันไม่ว่าจะทั้งการโทรหาและประชุมผ่านวีดีโอคอล
นอกจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์แล้ว การสร้างหมู่บ้านนักกีฬาและที่พักของพนักงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ตามมากับการแข่งขัน ดังนั้นการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญ เพราะการแข่งขันระดับนานาชาติก็มาพร้อมกับการใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ระบบคลาวด์ จะเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขได้ คือ การจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากแล้วนำไปให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลเพื่อลดการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดไฟในสถานที่ที่ไม่มีการใช้งาน และประหยัดแอร์ในสถานที่ที่ไม่มีผู้ใช้งาน
“สำหรับเราการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ไม่ใช่แค่กีฬา แต่มันคือ โอกาสที่สำคัญที่จะสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้” คริส ถัง กล่าว
การต่อยอด “การถ่ายทอดสดผ่านคลาวด์”
การถ่ายทอดสดกีฬาผ่านคลาวด์ เป็นเพียงหนึ่งในการใช้งานของเทคโนโลยีการส่งและกระจากข้อมูลผ่านคลาวด์เท่านั้น เพราะหากระบบนี้สามารถส่งต่อข้อมูลอย่างภาพและเสียงไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ด้วยความคมชัดสูง พร้อม ๆ กัน ในอนาคตแพทย์ก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ในการผ่าตัดคนไข้ได้เช่นเดียวกัน หรือการให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอล ก็ล้วนมีเทคโนโลยีคลาวด์เป็นส่วนประกอบเช่นเดียวกัน
Jian Wang ผู้ก่อตั้ง Alibaba Cloud บริษัทที่อยู่ภายใต้ Alibaba Group บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ระบุว่า หากเปรียบเทียบเทคโนโลยีในปัจจุบันว่ามันจะสามารถทำให้เราก้าวหน้าได้อย่างไร ? คงต้องเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างในยุคสมัยของกรุงโรมที่ได้นำเสนอนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในการเดินทางนั่นคือ “ถนน”
ซึ่งหากเปรียบกับปัจจุบันการที่เรามีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คลาวด์ ก็จะสามารถทำให้เราสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเทคโนโลยีบนระบบคลาวด์จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปมากกว่าเดิม ในอีก 100 ปี ข้างหน้า เหมือนกับที่กรุงโรมเปลี่ยนแปลงการเดินทางของโลกนี้ด้วยถนนไปตลอดกาล
บทความโดย NOPPARIT KAMOLSUWAN
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Springnews / วันที่เผยแพร่ 2 ต.ค.66
Link : https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/843628