แถลงการณ์ ASEAN-GCC ต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา ประณามโจมตีพลเรือนทุกกรณี เรียกร้องหยุดยิง เปิดทางความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม สนับสนุนข้อริเริ่มซาอุฯ สร้างสันติภาพตะวันออกกลาง ด้านนายกฯ ห่วงใยคนไทยต้องการลำเลียงกลับโดยเร็วที่สุด และใช้ทุกช่องทางที่มีในการประสานการทำงานช่วยเหลือ ดูแลประชาชนไทย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้นำที่ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) มีความห่วงใยสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยในที่ประชุมสุดยอด ASEAN-GCC ได้ออกแถลงการณ์ ดังนี้
แถลงการณ์อาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับต่อพัฒนาการในกาซา
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ผู้นำได้แลกเปลี่ยนทัศนะและแสดงความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในตะวันออกกลาง และเห็นพ้องดังต่อไปนี้
1. ประณามการโจมตีพลเรือนทุกกรณี และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงที่ยั่งยืนและให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเปิดทางให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เสบียงบรรเทาทุกข์ และปัจจัยพื้นฐาน ตลอดจนการบริการที่จำเป็นอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งการเชื่อมต่อไฟฟ้า น้ำ และให้สามารถลำเลียงเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรคทั่วพื้นที่ในกาซาโดยไม่มีอุปสรรค
2. เรียกร้องทุกฝ่ายในความขัดแย้งให้การคุ้มครองต่อพลเรือน ละเว้นจากการมุ่งเป้าต่อคนเหล่านี้ และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการและข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองพลเรือนในเวลาสงคราม เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949
3. เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวตัวประกันพลเรือนและผู้ถูกจับกุมในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะสตรี เด็ก ผู้ป่วย และผู้สูงวัย
4. เร่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางแก้ไขสองรัฐ บนพื้นฐานของเขตแดนก่อนปี ค.ศ. 1967 ที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
5. สนับสนุนข้อริเริ่มของซาอุดีอาระเบีย สหภาพยุโรป และสันนิบาตรัฐอาหรับ โดยร่วมมือกับอียิปต์และจอร์แดน ในการฟื้นกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง และแก้ไขข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและข้อมติของสหประชาชาติทุกข้อที่เกี่ยวกับความขัดแย้งนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ห่วงใยต่อสถานการณ์ทั้งต้องการลำเลียงคนไทยที่แสดงเจตจำนงขอเดินทางกลับประเทศให้เร็วที่สุด และห่วงใยต่อความปลอดภัยของตัวประกันชาวไทย โดยยืนยันว่านายกฯ ใช้ทุกช่องทางที่มีทั้งทางภาครัฐ เอกชน และความสัมพันธ์ส่วนตัวในการประสานการทำงาน เพื่อดูแล และปกป้องคนไทยให้ปลอดภัยมากที่สุด
“การประชุมครั้งนี้ ไทยได้ร่วมแสดงท่าทีเช่นเดียวกับผู้นำท่านอื่น ๆ ประณามการโจมตีพลเรือนทุกกรณี เรียกร้องให้มีการหยุดยิง เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวตัวประกันพลเรือนและผู้ถูกจับกุมในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้ปล่อยตัวชาวไทยเร็วที่สุด เห็นใจญาติพี่น้องที่ต้องการรับบุคคลอันเป็นที่รักกลับบ้าน และไม่ต้องการให้มีการสูญเสียเพิ่มเติมไม่ว่ากรณีใดก็ตาม” นายชัย กล่าว
———————————————————————————————————————————————————————————
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 ต.ค.66
Link : https://mgronline.com/politics/detail/9660000094928