รู้จักระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินผ่าน “Cell Broadcast” ที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำมาใช้เสียที เพราะจะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากได้
จากกรณีเหตุยิงพารากอนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายรายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์แบบ “วัวหายหลายรอบไม่ล้อมคอกเสียที” ของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของ “ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน” (Emergency Alert System)
ชาวเน็ตต่างออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ให้ประเทศไทยมีระบบดังกล่าว ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนทุกคนได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ เหตุจลาจล หรือการก่อการร้าย และจะสามารถช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากได้
หัวใจสำคัญของระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินคือเทคโนโลยี Cell Broadcast หรือวิธีการส่งข้อความไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายล้านรายในพื้นที่พร้อม ๆ กัน
จุดเด่นของ Cell Broadcast คือ
– ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย 2G, 3G, 4G หรือ 5G ก็สามารถรับข้อความได้
– ข้อความ Cell Broadcast หนึ่งข้อความสามารถเข้าถึงโทรศัพท์จำนวนมากได้ในคราวเดียว สามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือได้หลายล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที
– ข้อความจะถูกส่งผ่านคลื่นวิทยุโดยตรง ไม่ได้ส่งไปยังโทรศัพท์แค่เครื่องใดเครื่องหนึ่ง “ไม่จำเป็นต้องทราบเบอร์โทรศัพท์มือถือก็สามารถรับข้อความแจ้งเตือนได้”
– หน่วยงานรัฐสามารถเป็นผู้ส่งข้อมูลแจ้งเตอนให้ประชาชนได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการ
– ใช้ช่องสัญญาณคนละแบบกับสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ทำให้แม้มีสัญญาณอ่อนก็รับข้อความได้
การส่งข้อความ Cell Broadcast ได้รับการทดลองใช้ครั้งแรกในปารีสตั้งแต่ปี 1997 ปัจจุบันมีการนำมาใช้งานจริงในหลายประเทศ เกือบ 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อแจ้งเตือนยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี ประเทศในสหภาพยุโรป อิหร่าน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ โอมาน ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ ศรีลังกา ตุรกี ยูเออี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
อย่างประเทศญี่ปุ่นนั้น ใช้ Cell Broadcast มาตั้งแต่ปี 2009 จนพัฒนาเป็นระบบ J-Alert ซึ่งจะแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม เหตุไล่แทง ฯลฯ หรือเกาหลีใต้ ก็ใช้มาตั้งแต่ปี 2014 แจ้งเตือนทั้งเรื่องของภัยธรรมชาติและภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบและนำมาใช้จริง เช่น ออสเตรเลีย อิตาลี เม็กซิโก เปรู โปรตุเกส โปแลนด์ ยูเครน สโลวีเนีย และโครเอเชีย
สำหรับประเทศไทยเอง ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการเช่นกัน โดยวันนี้ (4 ต.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประสานกับ ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า อยู่ระหว่างการทำเรื่อง Cell Broadcast ที่ใช้เตือนภัยแบบเจาะจง จะมีการดำเนินการดังนี้
1. ตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อให้โอเปอเรเตอร์รู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ส่งอย่างไร ซึ่ง กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. อัปเดตซอฟต์แวร์ที่กระจายส่งสัญญาณ ให้ใช้ Cell Broadcast ได้ โดยเร็ว
โดยหลักการแล้ว ประชาชนจะสามารถตั้งค่าโทรศัพท์มือถือเพื่อเปิดรับระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ แต่เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบ Cell Broadcast โทรศัพท์มือถือของเราทั้งหมดจึงยังไม่รองรับการเปิดรับแจ้งเตือนฉุกเฉิน จึงต้องรอให้ประเทศไทยรองรับการใช้งานระบบดังกล่าวนี้เสียก่อน
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แผนการนำ Cell Broadcast มาใช้ในไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด ได้แต่หวังว่า จะสำเร็จเสร็จสิ้นก่อนที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันครั้งต่อไป อย่าให้วัวหายแล้ววางแผนจะล้อมคอกแต่ไม่ล้อมสักทีอีกครั้ง
เรียบเรียงจาก GSMA / SMS Cell Broadcast / Utimaco
ภาพจาก
JUSTIN TALLIS / AFP
Jung Yeon-je / AFP
————————————————————————————————————————————-
ที่มา : PPTV Online / วันที่เผยแพร่ 4 ตุลาคม 2566
Link : https://www.pptvhd36.com/news/ไอที/207251