ระหว่างการรับรู้ข่าวสารการบุกโจมตีกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ คนทั่วโลกก็ได้รับรู้วิถีชีวิตของชาวยิวที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เลวร้ายอยู่เสมอ แม้อยู่ใน “บ้าน” ของตัวเอง
ในระยะนี้ หากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์กลุ่มหัวรุนแรง อาจจะพอคุ้นกับคำว่า “คิบบุตซ์” (Kibbutz) ซึ่งเป็นสถานที่ในเขตอิสราเอล ที่โดนกลุ่มฮามาสโจมตีหลายแห่ง
คิบบุตซ์ ในภาษาฮีบรู หมายถึง การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนชาวยิวที่มีพื้นฐานมาจากชุมชนเกษตรกร อาจเทียบเคียงได้กับนิคมรูปแบบหนึ่ง มีจุดกำเนิดจากการรวมตัวของชาวยิวที่หนีกระแสต่อต้านชาวยิวในยุโรปไปยังพื้นที่แถบทะเลสาบกาลิลี ซึ่งปัจจุบันในอยู่ในอิสราเอล
ชาวฮีบรูที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ก่อตั้งคิบบุตซ์แห่งแรกในเวลาต่อมา ไม่รู้จักวิธีเพาะปลูกด้วยซ้ำ พวกเขาเติบโตมาในย่านชุมชนแออัดของยุโรปตะวันออก แต่กลับสามารถทำให้ชุมชนที่เขาอยู่กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และก่อตั้งคิบบุตซ์แห่งแรกของโลกขึ้นอย่างเป็นทางการราวปี 2452-2453 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เดกาเนีย (Deganya)
จากชุมชนที่มีลักษณะเหมือนหมู่บ้านจำนวนไม่กี่สิบหลังคาเรือน กลายเป็นชุมชนกว่าครึ่งร้อยหลังคาเรือน พร้อมกับอาคารสาธารณประโยชน์อีกหลายสิบหลัง ภายในเวลาเพียง 3 ทศวรรษ มีสินค้าส่งออกขึ้นชื่อคือ นม, กล้วย, ส้ม, มะเขือเทศและเกรปฟรุต
ความสำเร็จของนิคมหรือคิบบุตซ์เดกาเนีย ซึ่งยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดคิบบุตซ์อื่น ๆ ตามมา ในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลังจากที่อิสราเอลเพิ่งตั้งประเทศได้ไม่นาน ก็มีการก่อตั้งคิบบุตซ์ราว 214 แห่ง มีจำนวนสมาชิกชุมชนทั้งหมดราว 67,550 คน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รูปแบบของคิบบุตซ์เองก็พัฒนาจากชุมชนที่เน้นการเกษตรเป็นหลักไปสู่การเป็นชุมชนในอุดมคติ เนื่องจากการก่อตั้งคิบบุตซ์แต่เดิมนั้น มาจากกลุ่มคนที่มีพื้นฐานความคิดในแนวเดียวกัน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคมและความศรัทธาแนวคิดแบบไซออนิสต์ คนในคิบบุตซ์ปกครองตนเองโดยยึดหลักประชาธิปไตย ผลกำไรหรือผลประโยชน์ที่หาได้ในชุมชนถือว่า เป็นของส่วนกลางซึ่งจะแบ่งปันให้สมาชิกในชุมชนอย่างเท่าเทียม
แต่แนวคิดแบบไซออนนิสต์นี้เอง ที่มีส่วนในการก่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ หรือชาวยิวกับชาวมุสลิมในภาพรวม ทำให้ดินแดนแถบนี้ ยากจะหาความสงบอย่างแท้จริงได้ ชาวอิสราเอลต้องหาทางป้องกันตัวเองและประชาชนจากการโจมตีของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ ระบบป้องกันขีปนาวุธทางอากาศที่เรียกกันว่า “โดมเหล็ก” (Iron Dome)
อีกทางหนึ่งเป็นการป้องกันในระดับพลเรือนที่กลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตชาวอิสราเอลไปแล้วก็คือ การสร้างห้องหลบภัยหรือห้องหลบระเบิด ซึ่งมีชื่อเรียกรวม ๆ เป็นภาษาฮีบรูว่า “Mammad” หรือ “Miklat” ที่มีการแปลออกไปเป็นภาษาอังกฤษว่า Safe room บ้าง Protective room บ้าง หรือบางทีก็เรียกรวม ๆ ไปว่าเป็น Bomb shelter หรือที่หลบระเบิด
เมื่อปี 2535 หลังจากผ่านศึกสงครามอ่าว (Gulf War) และโดนถล่มด้วยขีปนาวุธสกั๊ด (Scud) อิสราเอลได้ออกกฎหมายบังคับให้อาคารหรือบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ทุกหลัง จะต้องมีห้องหลบภัย โดยมีลักษณะที่แข็งแรงเป็นพิเศษกว่าห้องอื่น ๆ ในบ้านหรือในอาคาร เพื่อรองรับการโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธเคมี เช่น จะต้องมีผนังคอนกรีตหนา, ประตูและหน้าต่างสร้างจากเหล็กกล้าและปิดได้สนิท หน้าต่างติดกระจกที่ทนทานเป็นพิเศษ ปกติจะมีทางเข้าได้ 2 ทางคือประตู 1 บานและหน้าต่าง 1 บานซึ่งจะต้องไม่อยู่บนผนังฝั่งเดียวกัน บางบ้านก็จะเก็บอาหารแห้งและของใช้จำเป็นเอาไว้ในห้องด้วย
ดังนั้น เมื่อถามว่าบ้านทุกหลังจะต้องมีห้องหลบภัยใช่หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ เพราะอาคารที่สร้างขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้จะออก อาจไม่มีห้องหลบภัย เพราะไม่มีการบังคับใช้ย้อนหลัง
เมื่อมีเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีชุมชนชาวยิวในบ้านของพวกเขาเอง ห้องหลบภัยเหล่านี้ในบางบ้าน กลับป้องกันผู้รุกรานแทบไม่ได้ เนื่องจากห้องถูกสร้างด้วยข้อกำหนดเพื่อป้องกันระเบิดเป็นหลัก บางบ้านจึงไม่ได้ใส่ตัวล็อคประตู เพราะอาจทำให้คนที่หลบอยู่ข้างในไม่สามารถเปิดประตูออกมาได้หลังจากโดนระเบิด
ดังนั้น บ้านไหนที่หาวิธีล็อคห้อง ไม่ให้ผู้บุกรุกเข้ามาได้ ก็รอดไป เพราะตัวห้องนั้นแข็งแรงพอจะรับแรงระเบิดและกระสุนปืนอยู่แล้ว
ไม่แน่ว่า หลังจากศึกครั้งนี้ยุติลง อิสราเอลอาจต้องมาทบทวนกฎหมายว่าด้วยสเปคของห้องหลบภัยประจำบ้านเสียใหม่ ก็เป็นได้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 16 ต.ค.66
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/2808128/