อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ วิเคราะห์ยุทธศาสตร์และราคาที่ทั้งสองฝ่ายต้องจ่ายให้กับความขัดแย้ง เกือบสองทศวรรษ…
หลังรัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรียิตส์ฮัก ราบิน” และ “นายยัสเซอร์ อาราฟัต” ผู้นำกลุ่มปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO ได้จับมือกันลงนามใน “ข้อตกลงออสโล” (OSLO ACCORDS) เมื่อปี 1993 ก่อนจะมีการถอนกำลังทหารอิสราเอล ออกจากดินแดนที่พวกเขาใช้กำลังทหารเข้ายึดครองในสงครามกับโลกอาหรับ ซึ่งถูกเรียกว่า “ฉนวนกาซา” ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาด 360 ตารางกิโลเมตร ที่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับประเทศอียิปต์ ส่วนทางเหนือและตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล และทางตะวันตกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ปี 1967 เพื่อเปิดทางไปสู่การให้สิทธิของชาวปาเลสไตน์ในการปกครองตนเอง (อย่างจำกัด) บนผืนแผ่นดินดังกล่าวเมื่อปี 2005 (แต่กองทัพอิสราเอล ยังคงบทบาทในการควบคุมการเข้า-ออก พื้นที่ฉนวนกาซาอยู่ต่อไป)
หากแต่…นับจากนั้นเป็นต้นมา “สันติภาพที่ผู้คนทั้งโลกใฝ่ฝัน” ก็ยังคงถูกท้าทายจากการกระทบกระทั่งกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่เนือง ๆ และไม่เพียงแค่ “กระทบกระทั่งกัน” ในบางครั้งทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธฮามาส ยังถึงขั้นใช้อาวุธสงครามเข้าประหัตประหารกันจนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาด้วย
คำถาม : แล้วมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ ต้องสังเวยชีวิตให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มากน้อยเท่าไรแล้ว?
คำตอบ : จากรายงานอย่างเป็นทางการขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ระบุว่า จำนวนรวมผู้เสียชีวิตทั้งชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ในพื้นที่ ฉนวนกาซา, เวสต์แบงก์ และดินแดนอิสราเอล จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2008 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2023
มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 6,715 ศพ แยกเป็นชาวอิสราเอล 308 ศพ, ชาวปาเลสไตน์ 6,407 ศพ ส่วนจำนวนรวมของผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 158,867 ราย แยกเป็นชาวอิสราเอล 6,307 ราย, ชาวปาเลสไตน์ 152,560 ราย
โดยมีรายละเอียดแยกย่อยเป็นรายปีได้ ดังต่อไปนี้ :
สำหรับ “อาวุธ” ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ “เสียชีวิตมากที่สุด” คือ “การทิ้งระเบิดทางอากาศ” ซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ ไปมากถึง 3,209 ศพ, การใช้กระสุนจริง 470 ศพ, การโจมตีด้วยขีปนาวุธ 215 ศพ, การใช้แก๊สน้ำตา 10 ศพ, กระสุนยาง 1 ศพ, อื่นๆ 1,460 ศพ โดยผู้เสียชีวิตแยกออกเป็น ผู้ชาย 3,557 ศพ, ผู้หญิง 586 ศพ, เด็กชาย 942 ศพ, เด็กหญิง 264 ศพ
ด้าน “จำนวนผู้เสียชีวิต” ของฝ่ายอิสราเอล แยกย่อยออกเป็น ผู้ชาย 247 ศพ, ผู้หญิง 36 ศพ, เด็กชาย 19 ศพ, เด็กหญิง 6 ศพ โดยในจำนวนนี้ เป็น ทหารอิสราเอล 131 นาย และพลเรือน 177 ศพ
ขณะที่ “จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ” นั้น “ฝ่ายปาเลสไตน์” แยกย่อยเป็น ผู้ชาย 83,723 ราย, ผู้หญิง 8,953 ราย, เด็กชาย 29,618 ราย, ไม่สามารถระบุได้ 27,590 ราย ส่วนทางด้าน “อิสราเอล” แยกย่อยเป็น ทหารอิสราเอล 1,572 นาย และ พลเรือน 4,735 ราย
ความแตกต่างระหว่างกองทัพอิสราเอล และ กลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ :
กองทัพอิสราเอล :
อ้างอิงจากเว็ปไซต์ Global Firepower จำนวนทหารประจำการของกองทัพอิสราเอลอยู่ที่ประมาณ 170,000 นาย กำลังพลสำรองอยู่ที่ประมาณ 465,000 นาย (รวม 643,000 นาย) และยังมีกำลังพลกึ่งทหารอีกประมาณ 8,000 นาย
ส่วนทางด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ นั้น มีจำนวนรถถัง 1,650 คัน รถหุ้มเกราะ 7,500 คัน ปืนใหญ่ 650 กระบอก ขณะที่กองกำลังทางอากาศนั้น ปัจจุบันกองทัพอากาศอิสราเอล มีเครื่องบินรบประจำการมากกว่า 600 ลำ โดยในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินรบสุดทันสมัยเช่น F-35, F-15 และ F-16 รวมอยู่ด้วย
หากแต่สิ่งที่น่าหวาดกลัวมากไปกว่านั้น คือ “เทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง” เพราะปัจจุบัน กองทัพอิสราเอล สามารถขยายขีดความสามารถในการโจมตี โดยมีทั้งโดรนโจมตีทางอากาศ และยานพาหนะภาคพื้นดินที่บังคับจากระยะไกลแล้ว
ขณะเดียวกัน “อิสราเอล” ยังกองหนุนสำคัญอย่าง “กองทัพสหรัฐฯ” ที่มีกำลังพลประจำการอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางรวมกันมากกว่า 30,000 นาย รวมถึงกองเรือที่ 5 คอยให้การสนับสนุนในกรณีที่เกิดเพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายตรงข้ามด้วย!
กลุ่มติดอาวุธฮามาส :
จากการประเมินของสื่อฝ่ายโลกอาหรับ “กลุ่มฮามาส” ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ต่อต้านอิสราเอลที่เข้มแข็งที่สุด มีกองกำลังติดอาวุธในสังกัดประมาณ 40,000 คน โดยกลุ่มที่แข็งแกร่งที่สุด คือ กลุ่ม Izz ad-Din al-Qassam หรือ IQB ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักรบมากถึง 10,000 คน
ด้านรายงานของ “กองทัพอิสราเอล” (Israel Defense Forces) หรือ IDF และ สำนักงานด้านความมั่นคงของอิสราเอล หรือ Shin Bet ระบุว่า อาวุธหลักที่กลุ่ม IQB มักนิยมนำมาใช้ในการโจมตีเป้าหมาย คือ เครื่องยิงจรวด หรือ RPG ทั้งระยะสั้นและระยะไกล รวมถึง ปืนครก ซึ่งจากการคาดการณ์ของอิสราเอล คาดว่า กลุ่มฮามาสน่าจะมีอาวุธชนิดนี้ซุกซ่อนอยู่ในฉนวนกาซา ประมาณ 14,000-30,000 ลูก
ด้วยเหตุนี้ แม้ “อิสราเอล” จะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง และล้ำยุคที่สุดระบบหนึ่งของโลก ที่มีชื่อเรียกว่า “Iron Dome” ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดพิสัยใกล้และกระสุนปืนใหญ่จากระยะ 4-70 กิโลเมตรกลางอากาศได้ แต่หากถูกโจมตีด้วย “ปริมาณจรวดจำนวนมากพร้อม ๆ กัน” ระบบป้องกันภัยทางอากาศอันสุดล้ำยุคนี้ ก็อาจทำงานหนักเกินไป จนอาจปล่อยให้มีจรวดบางส่วนตกลงในดินแดนอิสราเอลได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งยุทธวิธีที่กลุ่มฮามาส มักนิยมใช้โจมตีอิสราเอล คือ “บอลลูนอากาศติดระเบิด” โดยปล่อยขึ้นจากฉนวนกาซาแล้วอาศัยลมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพัดพาเข้าสู่ดินแดนอิสราเอล โดยเมื่อลูกบอลลูนตกลงมาจากอากาศก็จะเกิดการระเบิดและเผาผลาญพืชผลรวมถึงทรัพย์สินของชาวอิสราเอลได้จำนวนมาก โดยในปี 2018 มีรายงานว่า ยุทธวิธีดังกล่าวสามารถเผาผลาญพืชที่เพาะปลูกบนดินแดนอิสราเอลได้รวมกันมากถึง 10,400 เอเคอร์
กลุ่มปาเลสไตน์ อิสลามิก จีฮัด :
จากการประเมินของสื่อฝ่ายโลกอาหรับ “กลุ่มปาเลสไตน์ อิสลามิก” (Palestinian Islamic Jihad) หรือ PIJ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน มีกองกำลังติดอาวุธในสังกัดประมาณ 9,000 คน โดยเบื้องต้นมีรายงานว่ากลุ่ม PIJ และ กลุ่ม IQB มีการร่วมมือปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง โดยทั้งอาวุธและยุทธวิธีที่นำมาใช้สำหรับการปฏิบัติการส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ อาศัยการโจมตีจาก จรวด RPG และปืนครก เป็นหลัก
บทวิเคราะห์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล เหนือดินแดนฉนวนกาซา :
บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากสำนักวิจัย RAND Corporation ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ระบุว่า ในภาพรวมต้องยอมรับว่าขนาดของกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ มีความ “แตกต่างกันมาก” แต่ยุทธวิธีที่กองทัพอิสราเอลเลือกใช้ในการ “ตอบโต้” ตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา กลับเป็นไปในแนวทาง “ป้องปราม” โดยมุ่งเน้นไปที่การขัดขวางการปฏิบัติโจมตี หรือ ตัวผู้นำของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์เป็นหลัก มากกว่าที่จะมุ่งให้เกิดชัยชนะอย่างเด็ดขาด หรือ การโค่นล้ม “กลุ่มฮามาส”
เนื่องจากอิสราเอลไม่ต้องการให้เกิด “สุญญากาศทางอำนาจ” ในการปกครองเหนือดินแดนฉนวนกาซา ซึ่งอาจนำไปสู่การ “แทนที่” ของ “กลุ่มต่อต้านกลุ่มใหม่” ที่อาจมีแนวคิดในการใช้ความรุนแรงตอบโต้อิสราเอลมากกว่า “กลุ่มฮามาส”
ดังจะเห็นได้จาก ปฏิบัติการทางการทหารครั้งใหญ่ของกองทัพอิสราเอลเหนือดินแดนฉนวนกาซา เช่น Operation Pillar of Defense ในปี 2012 ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยการยิงจรวดมากกว่า 1,456 ลูกเข้าใส่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล ของ “กลุ่มฮามาส”
โดยในการปฏิบัติการดังกล่าว กองทัพอากาศอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายในฉนวนกาซามากกว่า 1,500 แห่ง ที่คาดว่าเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวและคลังแสงของกลุ่มฮามาสและกลุ่มปาเลสไตน์ อิสลามิก จีฮัด พร้อมกับระดมกำลังทหารมากกว่า 57,000 นาย เพื่อเตรียมรุกเข้าสู่ฉนวนกาซา อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุด การปฏิบัติการภาคพื้นดินดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลอียิปต์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาหยุดยิงได้สำเร็จ
และอีกครั้งในปี 2014 จากการปฏิบัติการทางการทหารของอิสราเอล ที่มีชื่อเรียกว่า Operation Protective Edge ซึ่งยังคงเน้นไปที่การโจมตีทางอากาศเป็นหลัก เพียงแต่ครั้งนี้ กองทัพอิสราเอลได้ส่งกองกำลังภาคพื้นดินข้ามแดนเข้าไปยังพื้นที่ฉนวนกาซาเพียงไม่กี่กิโลเมตร เพื่อค้นหาและทำลายอุโมงค์ที่ถูกขุดขึ้นเพื่อลอดกำแพงกั้นดินแดนอิสราเอลและฉนวนกาซาของกลุ่มฮามาส
และเมื่อสามารถทำลายอุโมงค์ดังกล่าวได้สำเร็จ การเจรจาหยุดยิงจึงเริ่มต้นขึ้น ก่อนที่การปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายจะค่อยๆ สงบลงในที่สุด
ก่อนที่… มันจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งจากความขัดแย้งล่าสุด และนำไปสู่ปฏิบัติการทางการทหารครั้งใหญ่ของอิสราเอลในปี 2023 นี้!
บทความโดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 ต.ค.66
Link : https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2731830#google_vignette