เงินดิจิทัล 10000 บาท ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการเก็บข้อมูล ว่าแต่แล้วทำไมไม่ใช้แอปเป๋าตังหรือเทคโนโลยีอื่นล่ะ? แล้วมันจำเป็นต้องใช้ Blockchain มั้ย
เงินดิจิทัล 10000 บาท หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันเยอะ ก็คือการใช้ระบบ Blockchain และทำไมต้อง Blockchain ด้วยล่ะ ใช้แอปเป๋าตังไม่ได้หรอ งั้นเรามาทำความเข้าใจเรื่องระบบ Blockchain และ ความแตกต่าง ระหว่างการใช้ Blockchain กับแอปเป๋าตังกัน
Blockchain คืออะไร?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจระบบที่เรียกว่า Blockchain กันก่อน Blockchain คือรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง โดยข้อมูลจะถูกบันทึกลงไปเป็นก้อน ๆ (Block) และเชื่อมโยงต่อกันไป (Chain) ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็จะเหมือนการจดข้อมูลลงในสมุดบัญชี แล้วก็ระบุด้วยว่าบัญชีเล่มก่อนหน้านี้ และเล่มถัดไปหลังจากนี้คือเล่มไหน ทำให้สามารถแยกเก็บข้อมูลไว้ในที่ต่าง ๆ ได้ แตกต่างจากการเก็บข้อมูลแบบเดิมตรงที่ ข้อมูลแบบเดิมจะเก็บไว้เป็นก้อนใหญ่ ๆ ก้อนเดียว
พอข้อมูลถูกเก็บเชื่อมต่อกันไปแบบนี้ ทำให้แก้ไขยากมาก ๆ เพราะถ้าจะแก้ก็ต้องแก้ข้อมูลทั้งหมดให้เชื่อมโยงกันด้วย และสามารถเก็บแยกที่ แยกเครื่องได้ เกิดเป็นระบบที่เรียกว่า Decentralized หรือไม่มีศูนย์กลางในการเก็บข้อมูล ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือสูงมาก เราจึงเห็นว่า ระบบนี้ถูกนำมาใช้ในระบบการเงินดิจิทัล ที่เรียกว่า Cryptocurrency
ใน 1 บล็อก มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ข้อมูลที่ต้องการเก็บบันทึก เช่น จำนวน Bitcoin ที่โอนให้กัน
2. Hash หรือชุดรหัสที่ใช้ระบุบล็อคนั้น ๆ จะมีไม่ซํ้ากัน Hash จะถูกคำนวณขึ้นพร้อมกับ Block ถ้าข้อมูลภายใน Block เปลี่ยนแปลง Hash ก็จะเปลี่ยนไปด้วย
3. Hash ของ Block ก่อนหน้านี้
เมื่อข้อมูลชุดใหม่ถูกบันทึกเข้าไปในบล็อก แต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมเข้าหากันด้วย Hash ตามลำดับเรียงต่อกันไปจนกลายเป็นห่วงโซ่ ซึ่งเราขอเปรียบเทียบกับการจดบันทึกลงสมุดบัญชีเช่นเดิม
สมชาย สมหญิง และสมหมาย ทำธุรกิจมีการยืม จ่ายเงินกันไปมา ทุกครั้งที่โอนพวกเขาก็จะจดลงไปในสมุดบันทึกกลาง โอนเมื่อไหร่ ให้ใคร และจำนวนเท่าไหร่ เมื่อขึ้นเล่มใหม่ ก็จะเขียนเลขที่ลงบนสมุดบันทึก และเลขที่ของสมุดบันทึกเล่มก่อนหน้านี้ระบุเอาไว้ด้วย จากตัวอย่างนี้ สมุดบันทึกก็จะเปรียบเสมือน Block เลขที่ของสมุดบันทึกก็จะเปรียบเสมือน Hash ของบล็อกนั้น และเลขที่ของสมุดบันทึกเล่มก่อนหน้านี้ก็จะเปรียบเสมือน Hash ของบล็อกก่อนหน้านี้
สมมุติว่าสมชายเป็นหนี้ทั้งสองคน แล้วต้องการโกง ไม่ใช้หนี้ โดยการแก้ไขตัวเลขในบัญชี สมชายก็ต้องแก้ตัวเลขในสมุดบัญชีก่อนหน้านี้ ให้มีตัวเลยสัมพันธ์กันด้วย ซึ่งยิ่งบันทึกไปนาน การแก้ก็ยิ่งทำยากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วบล็อกมาจากไหน
บล็อกเกิดขึ้นได้จากหลายวิธี ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างแค่บางวิธีเท่านั้น
1. Proof of work (Pow)
เกิดจาก Miner หรือนักขุด Miner คือคนทั่วไป ใครก็ได้ แต่ไม่ต้องถือจอบ – แบกเสียมนะ แต่พวกเขาใช้คอมพิวเตอร์สร้างบล็อกเพื่อเก็บข้อมูล และเขาก็จะได้รางวัลเป็นเหรียญนั้น ๆ เป็นค่าตอบแทน ซึ่งมันก็คือเหรียญดิจิตอล เหรียญที่ใช้ระบบนี้คือ Bitcoin (BTC)
2. Proof of Stake (PoS)
ต่างจาก Proof of work ที่ต้องมีนักขุด และคอมพิวเตอร์ แต่ Proof of Stake เป็นระบบที่ใช้อัลกอริธึมทำงาน เป็นการวางสินทรัพย์ค้ำประกันหรือ Stake เหรียญไว้ในระบบเพื่อแลกกับสิทธิ์ในการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม ซึ่งผู้ที่ทำการ Stake เหรียญก็จะได้รับรางวัลเป็นเหรียญนั้น ๆ เช่นกัน เหรียญที่ใช้ระบบนี้คือ Ethereum (ETH)
ซึ่งยังมีระบบอื่น ๆ อีก แต่ไม่ว่าระบบไหน ก็จะต้องมีรางวัลสำหรับผู้ที่บันทึกข้อมูล ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครบันทึก แล้วระบบนั้นก็จะตาย
ระบบ Blockchain กับธนาคาร ต่างกันอย่างไร?
ที่ผ่านมาเราเก็บเงินกับธนาคาร เวลาโอนเงิน ธนาคารก็จะเป็นคนตรวจสอบว่าเรามีเงินมากพอมั้ย โอนไปยังบัญชีถูกต้องมั้ย เมื่อดำเนินการเสร็จ ธนาคารก็จะทำหน้าที่จดบันทึกยอดเงินของทั้งสองฝ่าย จะเห็นว่า ธนาคารเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกรรมทั้งหมด หรือที่เรียกว่า Centralized หรือรวมศูนย์
แล้วแบบนี้ถ้าธนาคารก็โกงแก้ข้อมูลให้เงินเราหายไปล่ะ ทำได้จริงไหม?
คำตอบก็คือธนาคารทำได้ เพราะธนาคารคือคนถือข้อมูลทั้งหมดคนเดียว และเราก็มอบความเชื่อใจให้ธนาคารเป็นคนดูแลตรงจุดนี้
แต่ Blockchain เป็นการเก็บข้อมูลแยกกันเป็นบล็อก ๆ ทำให้สามารถแยกกันเก็บได้ เป็นระบบ Decentralized ที่กระจายศูนย์กลาง และด้วยลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ Blockchain แก้ไขข้อมูลยากมาก ๆ จนทำให้มันมีความน่าเชื่อถือ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องแลกมาก็คือความเป็นส่วนตัว
ความเป็นส่วนตัว
ในกรณีของธนาคาร ธนาคารคือผู้ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมด ทำให้ข้อมูลเงินในบัญชีของเราเป็นความลับ ธุรกรรมต่าง ๆ ก็ไม่มีใครรู้ ตัวอย่างเช่น สมชายโอนเงินให้สมหญิง ธนาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบและบันทึกตัวเลขทั้งหมด ซึ่งเป็นความลับ สมหมายจะไม่รู้ข้อมูลนี้
แต่ระบบ Blockchain เป็นระบบที่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกันตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลของเราจะเป็นสาธารณะ ทั้งสมชาย สมหญิง และสมหมาย จะรู้เงินในบัญชีของทุกคน และธุรกรรมที่เกิดขึ้น แต่สำหรับในโลกของเงินดิจิทัลมีสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนด้วย นั่นก็เรียกว่า Private key ทำให้เราสามารถซ่อนตัวตนไม่ให้มีใครรู้ได้
แล้ว Blockchain มีแบบ Centralized ไหม
Blockchain ที่เป็นระบบ Centralized ก็คือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเอง ซึ่งประเทศไทยก็มีบาทดิจิทัลที่กำลังอยู่ในช่วงทดลอง Blockchain ในลักษณะที่จะมีตัวกลางคนเดียวเป็นผู้เก็บข้อมูลทั้งหมด และค่าใช้จ่ายเรื่องของรางวัลสำหรับผู้ที่บันทึกข้อมูล ตัวกลางนั้นก็คือผู้ที่รับผิดชอบ หรืออาจกล่าวได้ว่า ระบบนี้เป็นแค่การเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลจากสมัยก่อนเท่านั้น ซึ่งตัวกลางก็ยังคนเป็นผู้ที่รับผิดชอบทุกอย่างเหมือนเดิมอยู่ดี
สิ่งที่ Blockchain ต่างจากแอปเป๋าตัง และ Mobile Banking อย่างไร
สิ่งที่ Blockchain ต่างจากแอปเป๋าตังสามารถแยกออกเป็นสองส่วน คือในส่วนของผู้ใช้ และส่วนของระบบหลังบ้าน
ส่วนของคนใช้
ถ้าเราเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมด้วยเงิน Cryptocurrency ในขณะนี้ ลักษณะการทำธุรกรรมแต่ละครั้งก็จะไม่มีความแตกต่างกับการสแกน QR Code จ่ายเงินด้วยแอปเป๋าตัง หรือโอนผ่านแอปธนาคาร ดังนั้นเรื่องของการปรับตัวในการใช้งานจึงไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น นั้นคือระยะเวลาของการทำธุรกรรม เพราะบล็อกที่ใช้เก็บจะถูกสร้างขึ้นตามเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ใช้อาจจะต้องรอเพื่อทำธุรกรรมนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น Bitcoin การทำธุรกรรมหนึ่งครั้งอาจต้องรอเป็น 10 นาที ซึ่งถ้าในเวลานั้นมีธุรกรรมเยอะ ก็จะต้องใช้เวลารอนานขึ้นไปอีก จริงอยู่ว่ามีเหรียญที่ใช้เวลารอน้อยกว่านี้ แต่นั้นหมายความว่าจะต้องมีระบบหลังบ้านที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
ส่วนของหลังบ้าน
แน่นอนว่าเมื่อสร้างระบบใหม่ขึ้นมาก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งระบบ Centralized และ Decentralized ก็จะมีความแตกต่างกันอีก ในกรณีของระบบ Centralized รัฐต้องลงทุนเรื่องฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นระบบ Decentralized ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถสร้างบล็อกเพื่อเก็บข้อมูลได้ รัฐจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่กับตรงนี้ แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับรางวัลของผู้ที่สร้างบล็อคนั้น ๆ และที่สำคัญคือเรื่องของความเป็นส่วนตัวที่ข้อมูลของทุกคนจะเป็นสาธารณะ
แล้วถ้าใช้ระบบ Private Key แบบ Cryptocurrency เพื่อซ่อนไม่ให้รู้ตัวตนของเจ้าของบัญชี ปัญหาที่ตามมา ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า จะไม่มีกรณี 1 คน ถือหลายบัญชี
สรุปข้อแตกต่างของระบบ Blockchain กับแอปเป๋าตัง
พัฒนาระบบ Blockchain แล้วยังไงต่อ?
สมมุติว่ารัฐพัฒนาระบบ Blockchain สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 แล้วระบบนี้สามารถเอาไปใช้กับอะไรได้บ้าง? นอกจากระบบทางการเงินแล้ว ระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดสำหรับการบันทึกข้อมูลได้อีกหลายอย่าง เช่น สภาพอากาศในแต่ละวัน ข้อมูลการรักษาโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ค่าปรับจราจร และอีกหลายอย่างที่ต้องใช้การบันทึกข้อมูลปริมาณมาก และต้องการความน่าเชื่อถือ
————————————————————————————————————————-
ที่มา : it24hrs / วันที่เผยแพร่ 26 ต.ค. 2566
Link : https://www.it24hrs.com/2023/digital-money-10000-bath-why-blockchain/