17 พ.ย. 2566 – นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชน โดยได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) กำกับดูแลหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เฝ้าระวังและป้องปรามไม่ให้มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลประชาชนจากหน่วยงานต่าง ๆ” นอกจากนี้ รัฐมนตรีได้สนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของ สคส. ในการส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงผลักดันการพัฒนาด้านสร้างเครือข่าย DPO ที่เข้มแข็ง เพื่อทำให้เกิดกลไกที่จะช่วยให้กลุ่มของผู้ควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล สามารถดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดหรือรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของแต่ละหน่วยงาน
ทั้งนี้ ด้วยนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นการบูรณาการการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์จากกรณีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ประกอบกับรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายในเครื่องยนต์ที่ 2 ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล (Safety and Security) โดยเน้นการป้องกันเชิงรุก จึงทำให้การสร้างเครือข่าย DPO เป็นกลไลสำคัญในการช่วยให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น DPO จึงเปรียบเสมือนเป็น ‘Super Hero’ ผู้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน’ ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพและอันตรายต่าง ๆ
โดยสามารถป้องกันการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วยมาตรการดังนี้
1. ตรวจสอบและดูแลให้หน่วยงานมีการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัด
2. ตรวจสอบเฝ้าระวังไม่ให้มีข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนรั่วไหลบนเว็บไซต์และช่องทางอื่น ๆ
3. ตรวจสอบไม่ให้มีการเก็บรวบรวมหรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากเกินความจำเป็น
4. จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ การพิสูจน์ยืนยันตัวตน กำหนดสิทธิในการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลฯ
5. จัดให้มีมาตรการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานไม่ให้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไปขาย หรือเปิดเผยโดยมิชอบ
6. จัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้และความตระหนักรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่เจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน
นอกจากนี้ PDPC หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) โดย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ตอบรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ ด้วยการดำเนินมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเชิงรุกอย่างเข้มข้นและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยในช่วง 30 วัน นับจากนี้จะเร่งตรวจสอบเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังและป้องปรามการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานภาครัฐ
PDPC จัดให้มีกลไกส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของ DPO รวมไปถึง ซึ่งประกอบไปด้วย กลไกการป้องกัน โดยจัดทำแบบตรวจแนะนำการกำกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Regulator Checklist) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้ DPO สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมาย กลไกการป้องปราม โดยการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยระบบ AI หรือ ศูนย์ PDPC Eagle Eye ทำหน้าที่สำรวจความเสี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลบนอินเทอร์เน็ต พร้อมดำเนินการติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นสถิติเพื่อใช้ในการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อที่จะนำข้อมูลไปประสานกับเครือข่ายเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และขยายผลบังคับใช้กฎหมายในกรณีตรวจพบการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และกลไกการผนึกกำลัง โดยการประสานงานสร้างเครือข่าย DPO ทั่วประเทศ (DPO Network) เพื่อให้การทำงานของ DPO เกิดประสิทธิภาพที่เข้มแข็งและมั่นคงได้ในวงกว้าง และจะมีการจัดกิจกรรมมอบรางวัลเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดีเด่นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและจากการจัดตั้งศูนย์ PDPC Eagle Eye การเฝ้าระวังตรวจพบเหตุละเมิดมากถึง 192 เรื่อง (สถิติวันที่ 1 เม.ย. – 8 พ.ย. 66)
โดยมีสาเหตุการละเมิดมากที่สุดจากมาจากการเผยแพร่ข้อมูลประชาชนโดยไม่มีกระบวนการปกปิดข้อมูลที่สำคัญ (No Masking) 176 เรื่อง และประเภทหน่วยงานที่ตรวจพบมากที่สุดคือ หน่วยงานของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ 154 เรื่อง รองลงมาเป็นธุรกิจการศึกษา 21 เรื่อง
ส่วนในฝั่งของการรับแจ้งเหตุละเมิด สคส. ได้รับแจ้งรวม 382 เรื่อง แบ่งเป็น ปี 2565 จำนวน 158 เรื่อง (1 มิ.ย. – 31 ธ.ค. 65) และปี 2566 จำนวน 224 เรื่อง (1 ม.ค. – 8 พ.ย. 66) โดยสาเหตุการละเมิด 5 อันดับแรกมาจากข้อมูลรั่วไหล 130 เรื่อง, ความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน 82 เรื่อง, ไม่ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล 57 เรื่อง, เว็บไซต์ขายข้อมูล 43 เรื่อง และ มัลแวร์ 24 เรื่อง โดยประเภทธุรกิจที่รับแจ้งมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การเงินการธนาคาร 118 เรื่อง, หน่วยงานของรัฐ-รัฐวิสาหกิจ 92 เรื่อง, ค้าปลีกและค้าส่ง 37 เรื่อง, การศึกษา 26 เรื่อง และเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 17 เรื่อง
อย่างไรก็ดี ช่องทางการติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) สามารถติดต่อ เพื่อสอบถาม ขอคำปรึกษา หรือปรึกษาการยื่นเรื่องร้องเรียน ได้ในวัน และ เวลาราชการ โดยขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 021148504 และ 021416993 สอบถามการยื่นคำร้องเรียน : 021421033 ส่งหนังสือราชการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนี้ e-mail : saraban@pdpc.or.th และเว็บไซต์ : www.pdpc.or.th
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : Thai Post / วันที่เผยแพร่ 17 พ.ย.66
Link : https://www.thaipost.net/economy-news/486079/